หน้าแรก ข่าวในประเทศ ข่าวชายแดนใต้

Hand of Life อาสาช่วยคืนชีพกว่า 200 คนในเมืองปัตตานี

เปิดตัวโครงการ Hand of Life การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน เครือข่ายประชาชนเขตเมือง จังหวัดปัตตานี อบรมอาสาสมัครมากว่า 200 คน พร้อมย้ำจะให้ทุกคนในเขตเมืองปัตตานีรู้จักการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานเพื่อช่วยเหลือผู้คนในสังคม
นายแพทย์ชารีฟ หะยีบือซา แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน หัวหน้าโครงการฯโรงพยาบาลปัตตานี กล่าวว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อาจจะเกิดขึ้นกับใครเมื่อใดก็ได้ จากการศึกษาพบว่าจะเกิดกับผู้ใหญ่มากกว่าวัยเด็ก และเกิดนอกโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ การช่วยฟื้นคืนชีพเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในและนอกโรงพยาบาล ซึ่งประชาชนทั่วไปมีโอกาสที่จะเจอเหตุการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวได้ตลอดเวลา ทั้งที่เกิดจากโรคหัวใจ ไฟฟ้าดูด จมน้ำ เป็นต้น
“จากการอยู่ในห้องฉุกเฉิน เก็บข้อมูลคนไข้โรคหัวใจ พบตามเหตุข้างต้นจำนวนมาก 5 ปีที่ผ่านมาในเขตอำเภอเมืองมีสถิติเพิ่มขึ้นทุกปี เรามองว่าทีมงานมีความพร้อม มีพยาบาลจำนวน 8 คน เจ้าหน้าที่ฝ่ายโสต 1 คน ผู้อำนวยการหนุนเชิงรุกให้สอนประชาชนร่วมกับชมรมจิตอาสา เพื่อให้ประชาชนมีความรู้เรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน(Cardio Pulmonary Resuscitation :CPR )มากที่สุด โดยเริ่มโครงการมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ช่วงนั้นบริษัทโซลล์ที่ผลิตเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ(Automated External Defibrillator :AED)เข้ามาพอดี เขาบริจาคเครื่องเทรนนิ่งมา 4 ตัว และจัอบรมมาอย่างต่อเนื่อง”
ความหมายของโครงการ Hand of Life คือ มือสองข้างของทุกคนสามารถชีวิตคนอื่นได้ ในหลักสูตรการเรียนที่มีประสิทธิภาพคือหุ่น 1 ตัวต่อ 1 คน มีเจ้าหน้าที่ดูแลใกล้ชิด รับฝึกรุ่นละ 20 คนเพราะมีหุ่น 20 ตัว ฝึกมาแล้ว 11 รุ่น ประมาณ 200 กว่าคนฃในเขตอำเภอเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้การฟื้นคืนชีพ และการใช้เครื่องช๊อกหัวใจอัตโนมัติ ซึ่งการฝึกอบรมจะมีทั้งการเสวนา การบรรยาย การสาธิต และการฝึกปฏิบัติ มีการประเมินความรู้ภายหลังการอบรมด้วย ซึ่งผู้ผ่านการอบรมจะมีความรู้เพิ่มขึ้น มีคุณสมบัติและสามารถปฏิบัติการได้เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน
“เมื่อมีผู้ป่วยเกิดขึ้น มีการโทรแจ้ง 1669 ถ้ามีการ CPR ทันกับผู้ป่วยที่หยุดหายใจเฉียบพลันไม่เกิน 4 นาที จะสามารถมีอัตรารอดชีวิตมาก หากเกิน 4 นาทีจะเกิดการตายของสมองอย่างถาวร ดังนั้นการช่วยฟื้นคืนชีพที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพก็จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรอดชีวิตและปลอดจากความพิการได้
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์สิทธิโชค อนันตเสรี จากภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศา สตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้คิดค้นหุ่นยางพารา “ตังกวน” สำหรับจำลองการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานว่า
“จากความสำคัญของการพัฒนาความรู้ด้านการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงประชาชน นักศึกษา และนักเรียน มีความจำเป็นต้องใช้หุ่นฝึกช่วยชีวิตที่มีคุณภาพเป็นจำนวนมาก คณะผู้วิจัยจึงมีความต้องการประดิษฐ์ต้นแบบของหุ่นฝึกช่วยชีวิตจากยางพารา ซึ่งจะช่วยให้มีหุ่นฝึกช่วยชีวิตเพื่อใช้ในโครงการพัฒนาความรู้การช่วยชีวิตพื้นฐานให้แก่คนไทยอย่างเพียงพอและราคาถูก”
การผลิตหุ่นตังกวนเริ่มต้นจากการศึกษา รวบรวมข้อมูล การช่วยชีวิตพื้นฐาน ขนาด และรูปร่างที่เหมาะสมกับคนไทย ได้แก่ แรงที่ใช้กดเพื่อบีบปั๊มหัวใจ และการเป่าลมเข้าสู่ปอด หลังจากนั้นจึงทดลองผลิตวัตถุดิบจากยางพาราและออกแบบให้หุ่นมีคุณลักษณะทรวงอกมีความยืดหยุ่นในการกดใกล้เคียงร่างกายของมนุษย์ และออกแบบให้มีกลไกตอบสนองต่อการกดปั๊มหัวใจได้ถูกต้องและลึกเพียงพอ และมีการคืนรูปสู่ปกติเมื่อสิ้นสุดแรงกด ที่ช่องปากออกแบบให้มีท่อจำลองทางเดินหายใจที่ใช้สำหรับฝึกการผายปอด โดยการเป่าปาก ต้องมีความต้านแรงการเป่าลมที่คล้ายการทำในมนุษย์ โดยจะมีการแสดงผลออกมาเป็นเสียง ซึ่งสร้างจำลองโดยมีช่องลมผ่านนกหวีดที่อยู่ภายใน และทำการทดสอบคุณลักษณะของยางพาราที่ประดิษฐ์จนได้ตามเป้าประสงค์
“หุ่นของเรา ดี ทน และถูก สามารถจำลองการฝึกนวดหัวใจและการผายปอดได้อย่างกสมบูรณ์ ราคาเพียงตัวละ 4000 บาท ขณะที่หุ่นนำเข้าราคาตัวละประมาณ 20000 บาท บริจาคหุ่นให้โครงการ 2 ตัว”
ด้านนายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปัตตานี กล่าวว่า ต้องให้ทีเคปาร์ค ปัตตานีเป็นแหล่งเรียนรู้ในเรื่องนี้
“ในตัวเมืองปัตตานีที่มีพื้นที่เพียง 4.8 ตารางกิโลเมตร มีประชากรถึง 50000 กว่าคน แออัดมาก เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นเช่น มีคนล้มฟุบที่สนามออกกำลังกาย ถ้าคนรอบข้างได้เรียนรู้การ CPR ก็สามารถช่วยชีวิตได้ หรือเมื่อมีเครื่อง AED ต้องรู้จักใช้ คนในเขตเมืองต้องอยู่อย่างปลอดภัย ต้องมีหุ่นตังกวนให้อปพร. จิตอาสา อสม.ได้ฝึกใช้ รวมทั้งซ่อมกล้อง cctvในเขตเทศบาลให้ใช้ได้ปกติ เมื่อใครเดินในตลาดแล้วล้มลงอาจไม่รู้ว่าเกิดจากภาวะหัวใจหยุดเต้น และต้องระวังเรื่องอาหารที่มีไขมันและกะทิที่ ให้หลอดเลือดหัวใจตีบตันและผิดปกติ คาดว่าต้องมีเครื่อง AED วางไว้ที่ทีเคปาร์คเป็นจุดแรก เพราะอยู่ใจกลางเมือง”
ตัวแทนจากบริษัท Zoll medical Thailand ผู้จัดจำหน่ายเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ(AED) กล่าวว่า ได้บริจาคเครื่อง AED เทรนนิ่งแก่โครงการฯ จำนวน 4 เครื่อง และจะบริจาคเครื่องจริงอีกสองเครื่อง
“เราส่งเสริมการอบรมและเรียนรูในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ถ้า CPR เป็น โอกาสในการรอดชีวิตมีมากขึ้น การ CPR จึงสำคัญมาก ต้องทำไม่หยุด เราจัดตั้งเพื่อการเรียนรู้ ไม่เน้นขายอบรม สนับสนุนวิทยากรในการอบรม CPR ในปีนังติดอันดับโลกในการอบรมเรื่องนี้ เคยอบรมถึงวันละ 5000 คน ในมาเลเซียมีการติดตั้งไว้ถึง 5000 เครื่อง สำหรับในเมืองปัตตานีทางบริษัทจะให้เครื่องจริงอีกสองตัวไว้ที่ทีเคปาร์คและสนามกีฬากลาง หรือจุดที่เหมาะสมเมื่อเกิดเหตุสามารถนำมาใช้ได้ทันท่วงที”
ภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน คือ การได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยกะทันหัน เป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตหรือการทำงานของอวัยวะสำคัญ จำเป็นต้องได้รับการประเมิน การจัดการและรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันการเสียชีวิต โรคที่มักเกิดขึ้นปุบปับเช่นโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด ต้องได้รับการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน
สุดท้าย นายแพทย์ชารีฟย้ำอย่างตั้งใจว่า
“เราขอปักธง ขอสู้ให้คนปัตตานี CPR เป็นทุกคน ทีม Hand of Life และทีมจิตอาสาขอรับหน้าที่นี้”