หน้าแรก ข่าวในประเทศ ข่าวชายแดนใต้

สุรินทร์ พิศสุวรรณ เรื่องสามจังหวัดภาคใต้: ความจริงจะปลดปล่อยเรา

บีบีซีไทยรายงานว่า อดีตเลขาธิการอาเซียนชี้จุดอ่อนที่ต้องแก้ไขคือทำความเข้าใจเรื่องในอดีต สิ่งสำคัญคือต้องเปิดใจกว้าง แสวงหาข้อเท็จจริง ยอมรับซึ่งกันและกันและพร้อมเดินไปข้างหน้า พร้อมยกตัวอย่างการแก้ไชปัญหาความขัดแย้งและการเริ่มต้นการปรองดองในหลายประเทศว่า ทำได้ด้วยการเริ่มแสวงหาความจริงในอดีตอีกด้านพูดถึงสามจังหวัดภาคใต้ว่ามีศักยภาพในอันที่จะเป็นสะพานเชื่อมไทยสู่ อาเซียนเพราะผู้คนมีอัตลักษณ์ ภาษาและวิถีชีวิตเหมือนกับประชากรครึ่งหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวเรื่องนี้ในการปาฐกถาในหัวข้อ “ชายแดนใต้กับพรมแดนความรู้ใหม่และอนาคตที่ท้าทาย” ในงานเสวนาทางวิชาการเรื่องเดียวกันจัดขึ้นวันนี้ 30 ต.ค.ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี โดยพูดถึงคุณค่าของงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ตอนหนึ่งเขาได้กล่าวถึงคุณค่าของการทำงานวิชาการที่นักวิชาการจากนอกพื้นที่ สามารถนำเข้าสู่พื้นที่สามจังหวัดภาคใต้เพื่อให้เป็นค่านิยมต่อไปได้ ก็คือความถ่อมตนทางปัญญา ที่จะนำไปสู่การแสวงหาข้อเท็จจริงหลายอย่างได้ โดยเฉพาะในเรื่องประวัติศาสตร์ โดยบอกว่า ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ช่วยให้เห็นหนทางในอนาคต แต่นักประวัติศาสตร์ไม่ควรยืนยันในสิ่งที่ตนรู้ว่าถูกต้องที่สุดเพราะความ รู้เป็นเรื่องที่ต้องเปิดกว้าง

ที่ผ่านมา เรื่องราวของประวัติศาสตร์ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้เป็นภาพสะท้อนความขัด แย้ง ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ในสายตาของหลายคนเป็นตัวอย่างของการถูกกดทับเอา เปรียบและหลายคนพูดกันถึงการถูกยึดครองโดยสยาม ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ที่ทำงานเรื่องสามจังหวัดภาคใต้ก็มีทั้งที่อธิบาย ความจากมุมมองของคนในพื้นที่ กับที่อธิบายมุมมองจากฝ่ายไทยหรือสยาม การกล่าวถึงความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของดร.สุรินทร์จึงเป็นการกล่าวถึง ประเด็นหนึ่งที่มีการช่วงชิงกันอย่างมากในความขัดแย้งเกี่ยวกับสามจังหวัด ภาคใต้

อดีตเลขาธิการอาเซียนกล่าวด้วยว่า การเข้าใจในประวัติศาสตร์ของพื้นที่ตนเองเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้สังค มนั้นๆเข้าใจตัวเอง ตลอดจนการได้เห็นสถานภาพและบริบทที่ตัวเองดำรงอยู่ การวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์เป็นการเปิดมิติให้มีการประเมินใหม่ๆ เมื่อรู้ว่าความจริงอยู่ที่ไหนก็จะสามารถนำไปกำหนดทิศทางและนโยบายการแก้ ปัญหาที่มีประสิทธิภาพและตรงประเด็นมากขึ้น “สัจจธรรมเป็นปัจจัยที่จะทำให้เราเข้าใจตัวเอง เหมือนที่เขาบอกว่า The truth shall set us free”

ดร.สุรินทร์หยิบยกกรณีอาฟริกาใต้ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง โดยบอกว่าอดีตผู้นำของอาฟริกาใต้นายเนลสัน แมนเดลากล่าวไว้ว่าตนไม่ยอมหมกมุ่นกับความเจ็บปวดจากอดีต แต่เลือกที่จะเดินไปข้างหน้าด้วยวิธีการให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบ ข้อเท็จจริงปัญหาในอดีต เพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่เป็นปัญหาและเป็นการหาทางออกก่อนที่จะก้าวไป ข้างหน้า ตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งคือเรื่องความขัดแย้งกรณีไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งการทำข้อตกลงสันติภาพไอร์แลนด์เหนือนั้นเน้นเรื่องให้สิทธิทางการเมือง และทางวัฒนธรรม และให้ความสำคัญกับระบบกระบวนการยุติธรรม

อดีตเลขาธิการกล่าวอีกถึงโอกาสที่พื้นที่สามจังหวัดภาคใต้จะสามารถแสดงบทบาท เป็นส่วนสำคัญของประเทศได้นั่นคือในช่วงข้างหน้าที่อาเซียนจะรวมตัวเป็น ประชาคมเศรษฐกิจในต้นปีนี้ ดร.สุรินทร์ชี้ว่าการรวมตัวหนนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับคนในอาเซียน ขณะที่ความสนใจของโลกต่อภูมิภาคนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่องนี้ประชาชนควรจะต้อง ปรับตัวและเตรียมตัวรับโอกาสที่จะเกิดขึ้น และระบุว่าการที่อาเซียนมีประชากรร่วมครึ่งหนึ่งของจำนวน 600 ล้านคนเป็นกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ ภาษา ความเชื่อและวิถีการใช้ชีวิตที่คล้ายกับคนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ จะเป็นจุดที่ทำให้ไทยได้เปรียบ โดยคนในสามจังหวัดภาคใต้สามารถจะเป็นสะพานเชื่อมให้ไทยเปิดประตูเข้าสู่ อาเซียนได้ เช่นคนหนุ่มสาวในสามจังหวัดภาคใต้อาจจะเป็นตัวแทนในการบุกตลาดอาเซียนได้

แต่เขาระบุว่า การจะทำให้เรื่องนี้เกิดได้ ต้องมีการสนับสนุนคนในพื้นที่ ขณะที่องค์กรส่วนท้องถิ่นจะต้องผลักดัน “มันจะไม่เกิดถ้าเราไม่พลิกวิธีมอง ว่าคนในพื้นที่นี้มีโอกาสที่จะเป็นส่วนที่สร้างประโยชน์ให้ประเทศไทยได้ใน สภาพเงื่อนไขแวดล้อมที่กำลังเกิดใหม่นี้” เขาเห็นว่า รัฐควรมองว่าพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้สามารถจะเป็นอำนาจต่อรองที่จะช่วยให้ ประเทศไปเอาผลประโยชน์เข้ามาได้ เป็นได้ทั้งตัวเชื่อมหรือเป็นหัวหอกที่จะไปทำความเข้าใจกับต่างชาติ

“เพราะฉะนั้นต้องรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง เคารพในกันและกัน ให้พื้นที่กันเพื่อให้อยู่ได้ องค์กรท้องถิ่นต้องมุ่งมั่นและเชื่อมั่นมากพอ ขณะที่ทางการเองก็ต้องไว้ใจว่าสิ่งที่องค์กรเหล่านั้นกำลังทำเป็นส่วนหนึ่ง ของการชำระความไม่ถูกต้อง”

“และท้ายสุดสัจจธรรมจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราภูมิใจในตัวเอง ในศักดิ์ศรีและอัตลักษณ์ของตัวเอง ประวัติศาสตร์จึงเป็นเครื่องมือที่มีพลัง ไม่ใช่เรื่องราวของอดีตที่ไกลโพ้นและตายแล้วแต่ทว่าเป็นสิ่งที่มีพลวัต”

หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวได้สอบถามดร.สุรินทร์ถึงบทบาทของอาเซียนในการ คลี่คลายความขัดแย้งในพื้นที่ โดยบอกว่าในขณะนี้มีผู้เสนอให้อาเซียนจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชน อดีตเลขาธิการอาเซียนชี้ว่าเรื่องนี้น่าจะยังไม่ถึงเวลาที่จะทำได้ พร้อมกับบอกว่าที่ผ่านมาอาเซียนก็มีบทบาทเช่นในเรื่องของการสร้างสันติภาพอา เจะห์ แต่เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากกว่า สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือปัญหาหมอกควันว่าอาเซียนจะทำอย่างไร

 

ที่มาข่าว/ภาพ เพจบีบีซีไทย