หน้าแรก รายงาน

การจัดการน้ำที่บ้านโคกป่าคา จ.นราธิวาส : ความเจริญทำลายระบบน้ำ ชาวบ้านเริ่มลำบากจากน้ำเน่าเสีย

ภิญโญ บุญแก้ว

“ความเจริญทำลายระบบน้ำ ชาวบ้านเริ่มลำบากจากน้ำเน่าเสีย” ลุงภิญโญ บุญแก้ว วัย 67 ปี ประธานโครงการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผลิตน้ำดื่มเพื่อชุมชนบ้านโคกป่าคา บอกถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน้ำของชุมชนโคกป่าคา ม.9 ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส ชุมชนที่ลุงและเพื่อนบ้านอยู่อาศัยกันมานาน จนเมื่อความเจริญทางวัตถุต่างๆ เข้ามา ก่อสร้างขวางระบบน้ำธรรมชาติ น้ำเน่าเสียจากการทิ้งขยะมูลฝอยและน้ำขัง

ในอดีตต้นน้ำเดิมไหลมาจากเขาพิพิธมีความสมบูรณ์มาก เป็นที่กักน้ำฝนที่ซึมผ่านสันทรายละเอียด กรองน้ำได้ใสสะอาด จนมีการตัดถนน สร้างการเคหะ ปิดทางต้นน้ำเดิม ผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น ต้นน้ำถูกปิด น้ำไม่ไหล จนเกิดน้ำเน่าเสีย

ปัญหาแท้จริงของชุมชนโคกป่าคาคือ สภาพน้ำเสีย ขยะที่ทิ้งมาจากการเคหะ เมื่อขุดบ่อบาดาลกลายเป็นดินเปรี้ยว น้ำเป็นสีสนิม ชาวบ้านต้องซื้อน้ำใช้จากข้างนอก ชุมชนจึงเห็นว่าควรมีโรงน้ำดื่มเป็นของตัวเอง ขณะนั้นได้งบประมาณโครงการ SML มา 3 แสนบาทซึ่งก่อสร้างได้เพียงอาคารก็หมดงบประมาณ

IMG_5947“ช่วงปีที่แล้ว ทางโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาชายแดนภาคใต้ (ช.ช.ต.) เข้ามาแนะนำโครงการและทำประชามติ จนเมื่อได้งบประมาณจากช.ช.ต.มาต่อยอดซื้ออุปกรณ์ทำโรงน้ำดื่ม ปัจจุบันสามารถผลิตน้ำดื่มเพื่อบริโภคในชุมชนได้ตรงตามความต้องการ ทำให้ประหยัดต้นทุนและค่าขนส่ง ได้บริโภคน้ำในราคาที่ถูกกว่ามาก ขายได้กำไรก็หมุนเวียนในชุมชน ตอนนี้กำลังขอขึ้นทะเบียน อย.เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีความมั่นใจว่าได้ดื่มน้ำสะอาดและได้มาตรฐาน”

ลุงภิญโญกล่าวถึงการทำงานของโครงการช.ช.ต.ในชุมชนโคกป่าคาว่า ตรงกับความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ ได้เรียนรู้แนวทางการทำงานอย่างเป็นระบบ และการศึกษาดูงานเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตน้ำดื่ม

อาลีฟ เบ็ญยานุสรณ์
อาลีฟ เบ็ญยานุสรณ์

อาลีฟ เบ็ญยานุสรณ์ ผู้ประสานงานโครงการ ช.ช.ต. บ้านโคกป่าคา บอกว่า ได้สร้างความเข้าใจกับชุมชน จัดทำข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จนได้ประเด็นการปรับปรุงจัดการน้ำในพื้นที่ เพื่อการอุปโภคบริโภค จึงเป็นที่มาของโรงน้ำดื่มแห่งนี้

IMG_5959“ช่วงที่ ช.ช.ต.เข้ามาทราบปัญหาของชุมชนคือ ไม่มีงบประมาณ ขาดบุคลากรที่มีความรู้ในการจัดการน้ำ จึงอยากให้มีการต่อยอดทำโรงน้ำดื่มให้เป็นระบบ ซึ่งทางโครงการไม่ได้กีดกันโครงการเดิม หากชุมชนเห็นตรงกันถึงความต้องการ โรงน้ำดื่มแห่งนี้จึงสามารถผลิตน้ำดื่มให้คนในชุมชนได้บริโภคน้ำสะอาดและราคาถูก

นายสมจิตร ขวัญนาคม ผู้ใหญ่บ้านบ้านโคกป่าคากล่าวว่า เมื่อชาวบ้านเข้าใจในโครงการ ช.ช.ต.ทำให้ได้รับความร่วมมืออย่างดี ช.ช.ต.ทำให้ชาวบ้านเรียนรู้การบริหารจัดการ ดูแลทุกขั้นตอนตั้งแต่วิจัยจนสิ้นสุดโครงการอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ประเมินและช่วยแก้ปัญหาในทุกอย่าง เป็นการเติมเต็มให้กับชุมชนจริงๆ

น้ำดื่มถังใหญ่ของที่นี่ถังละ 4 บาทเท่านั้น คือ สมาชิกสามารถเอาถังมารับน้ำเองที่โรงน้ำ หากไปส่งคิดราคาถังละ 8 บาท ซึ่งราคาปกติน้ำถังใหญ่ที่ซื้อจากชุมชนอื่นราคาถังละ 15-20 บาท นับได้ว่า เป็นการประหยัดเพื่อชุมชนได้เป็นอย่างดี

ก้าวเล็กๆ ที่ค่อยก้าวย่างไปอย่างมั่นคงของชาวชุมชนโคกป่าคากับโรงน้ำดื่มเพื่อชุมชนแห่งนี้
ค่อยๆ ก้าวไปด้วยพลังและความร่วมมือของทุกคนในชุมชน…