เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2558 ที่ ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้มีการจัดเวทีสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 26
ผู้ร่วมสานเสวนาประกอบด้วย นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคดำรงไทย พรรคชาติไทยพัฒนา อดีต ส.ว. นักการเมืองท้องถิ่น บุคลากรสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และเจ้าหน้าที่จากศูนย์สันติวิธี จชต. มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป้าหมายการสานเสวนาเพื่อ เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ประชุมได้สานเสวนาเรื่องการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข ที่ดูเหมือนว่าจะดำเนินต่อไป แต่ก็มีเสียงที่ไม่สอดรับกันในบางเรื่อง เช่น มีเอกสารของฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ บี อาร์ เอน ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2558 ซึ่งแม้ไม่ปฏิเสธการพูดคุยสันติภาพ แต่ก็เน้นหลักการกำหนดใจตนเองตามมติขององค์การสหประชาชาติ อีกทั้งมีบทความของนายแอนโทนี เดวิส ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2558 และเผยแพร่ผ่าน Nikkei Asian Review ซึ่งเสนอว่าบี อาร์ เอน ไม่รับว่าองค์กรมารา ปาตานี เป็นตัวแทนของขบวนการต่าง ๆ ในการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข พร้อมทั้งย้ำข้อเสนอ 5 ข้อของบี อาร์ เอน โดยเฉพาะการมีผู้แทนจากรัฐอื่นหรือองค์กรประชาสังคมเข้าร่วมอำนวยความสะดวกหรือเป็นที่ปรึกษาในการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข
ที่ประชุมมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังนี้
1. ระยะนี้มีการวางระเบิดหลายแห่ง ซึ่งสันนิษฐานว่าจะตรงกับวันครบรอบการก่อตั้งกองทัพปลดปล่อยของ บี อาร์ เอน และอาจแสดงถึงความไม่เชื่อมั่นในการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข
2. มีการเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งในทางการทหารและตำรวจในพื้นที่บ่อยครั้ง ซึ่งทำให้ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายด้านความมั่นคง
3. มีข้อเสนอ 5 ข้อจากบี อาร์ เอน 3 ข้อจากมารา ปาตานี และ 3 ข้อจากคณะผู้แทนฝ่ายรัฐบาล แต่จนถึงปัจจุบัน ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนใด ๆ ต่อข้อเสนอเหล่านี้
4. อันที่จริง ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายบี อาร์ เอน และมารา ปาตานี ควรจะวางกรอบคิดว่าจะสร้างสังคมแห่งนี้อย่างไร สันติภาพที่จะมีจะเป็นแบบไหน จุดหมายปลายทางจะอยู่ตรงไหน ฯลฯ และแถลงให้ประชาชนในและนอกพื้นที่ทราบ เพื่อให้เกิดพลังและความหวังที่จะเดินไปสู่อนาคตที่จะอยู่ร่วมกันต่อไป
5. มีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการมานานหลายปีแล้วทั้งในและต่างประเทศ และคนในพื้นที่ก็ทราบข่าวไม่มากก็น้อย แต่กรอบคิดดังกล่าวก็ยังไม่ชัดเจน จึงทำให้เห็นว่าไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร และดูเหมือนว่ามีการสงวนท่าทีอยู่ตลอดมา
6. การพูดคุยไม่ควรจำกัดวงแต่เฉพาะในทางสายเอก (track one) หากแต่รัฐบาลควรเปิดกว้างขึ้นโดยให้การสนับสนุนทางสายโท (track two) อย่างจริงจัง เช่น ให้มีการคัดสรรบุคคลที่เข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับจังหวัดละ 10 คน และจาก 4 อำเภอของสงขลา อีก 5 คน ซึ่งมีหน้าที่เดินทางไปพูดคุยกับตัวแทนของขบวนการต่าง ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวในพื้นที่ โดยได้รับความสะดวกพอสมควรจากเจ้าหน้าที่ในสถานที่มีการพูดคุยนั้น ข้อเสนอที่ได้จากการพูดคุยเช่นนี้จะได้นำเสนอทั้งต่อรัฐบาลและต่อประชาชน ทั้งนี้ ให้คนในพื้นที่ทำการคัดสรรตัวแทนของตน (เช่นผ่านการเลือกตั้งโดยอ้อม) และให้เป็นผู้สะท้อนความต้องการของคนในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ ส่วนตัวแทนของขบวนการต่าง ๆ ก็ให้ขบวนการนั้น ๆ เป็นผู้คัดสรรและให้การยอมรับ
7. การพูดคุย (เพื่อสร้างความไว้วางใจ) ซึ่งเป็นขั้นแรกของแผนที่เดินทาง (road map) ของฝ่ายความมั่นคงนั้น ควรเปลี่ยนไปสู่การเจรจาสันติภาพ/สันติสุขซึ่งเป็นขั้นตอนต่อไปให้เร็วขึ้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และความหวังว่าจะเกิดผลลัพธ์ตามลำดับอย่างเป็นรูปธรรม
8. ประชาชนฝากความหวังไว้กับการพูดคุยและการเจรจาสันติภาพ/สันติสุขว่าจะนำพาสังคมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกจากความรุนแรงและวิกฤตปัจจุบัน ซึ่งก่อความทุกข์ร้อนอย่างแสนสาหัสนี้ได้ในเร็ววัน
9. สังคมโดยรวมควรให้ความสนใจปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้และเห็นใจผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ร้อนนี้ เมื่อสังคมโดยรวมเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และคิดหาทางออกร่วมกัน ก็จะช่วยให้สันติภาพเป็นจริงได้เร็วขึ้น
10. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศควรทำการศึกษาและเสนอแนะการปฏิรูปที่จะช่วยแก้ปัญหาทางการเมืองของจังหวัดชายแดนภาคใต้
11. คนในพื้นที่ควรมีส่วนร่วมที่สำคัญในกระบวนการสันติภาพ ทั้งในการเริ่มคิด และการร่วมคิดอย่างสำคัญ อีกทั้งมีส่วนร่วมตัดสินใจ เช่น ตัดสินใจในเบื้องต้น และเสนอให้ผู้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาตัดสินใจในขั้นต่อไป
อนึ่ง ในการประชุมสานเสวนานักการเมืองครั้งต่อ ๆ ไป ควรขอความร่วมมือในการจัดประชุมกับองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ศอ.บต. และ ศชต.