ภาพความทรงจำของชาวมุสลิมที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่สร้างความประทับใจยิ่ง และไม่อาจลืมเลือนได้
๑. ทรงส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนาอิสลาม
ภาพที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประทับเป็นองค์ประธานในพิธีเมาลิดกลาง และในระหว่างที่อ่านประวัติพระศาสดา สดุดีพระศาสดามูฮัมหมัดนั้นประทับยืนเพื่อเป็นเกียรติแด่พระศาสดา ชาวไทยมุสลิมต่างประทับใจยิ่ง และไม่อาจลืมเลือนได้กล่าวได้ว่าทรงเป็นตัวอย่างแก่ชนต่างศาสนาและเป็นสิ่งที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา
๒. โปรดฯ ให้แปลอัลกุรอ่าน ฉบับภาษาไทย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้จุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสน์ แปลความหมายของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน จากพระมหาคัมภีร์ฉบับภาษาอาหรับโดยตรง นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่เยาวชนมุสลิมและชาวมุสลิมที่ไม่รู้ภาษาอาหรับ ได้เข้าถึงคำสั่งสอนของท่านศาสดามุฮำหมัดอย่างลึกซึ้ง จึงนับเป็นอีกหนึ่งพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพสกนิกรชาวมุสลิม ในฐานะที่ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกแห่งผืนแผ่นดินไทย
๓. “แกล้งดิน” คืนคุณค่าให้ผืนดินแดนใต้
“แกล้งดิน” พระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานไว้ให้พสกนิกรในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นแนวทางการคืนความสมบูรณ์ในผืนดิน ช่วยให้คนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาดินพรุ หรือพื้นที่ดินพรุที่มีการระบายน้ำออกจะแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด กลับมาสร้างเงิน สร้างอาชีพจากผืนดินของตน เพื่อเปลี่ยนพื้นที่พรุที่ไร้ค่าให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและด้านอื่นๆ ได้
๔. ยุทธศาสตร์ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
ยุทธศาสตร์ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเป็นยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2547 เสมือนเป็นการตกผลึกแนวพระราชดำริทั้งหมดผ่านคำสั้นๆ แค่ 3 คำ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีปัญหายืดเยื้อยาวนานมากว่า 12 ปี และเป็น 3 คำที่มีคุณอย่างอเนกอนันต์กับมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้
มีมัสยิดอย่างน้อยสองแห่ง ที่มีความเกี่ยวพันกับองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หนึ่งเลยคือ มัสยิดบูเก็ตตันหยง หรือที่ชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงพร้อมใจกันเรียกมัสยิดแห่งนี้ว่า มัสยิดรายอ อีกแห่งก็คือ มัสยิด นูรุ้ลเอียะห์ซาน จ.เพชรบุรีที่นอกจากพระองค์จะพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นปฐมแล้ว ยังทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยเรื่องการศึกษาของชาวไทยมุสลิมเป็นอันมาก จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้กระทรวงศึกษาธิการ หาทางส่งเสริมและปรับปรุงการเรียนการสอนให้เป็นระบบขึ้น ด้วยการส่งครูเข้าไปสอนในภาคสามัญ ทั้งยังจัดศึกษาดูงานด้านศึกษาในกรุงเทพฯ และจังหวัด ใกล้เคียง ทําให้เกิดความเท่าเทียมทางการศึกษา สัมฤทธิ์ผลตามพระราชประสงค์ จึงนับว่าเป็นพระราชกรณียกิจที่มีความสําคัญยิ่งต่อลูกหลานชาวไทยมุสลิม
นอกจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักถึงวิถีความเป็นอยู่ของคนในจังหวัดชายแดนใต้แล้ว ในเรื่องภาษาและวัฒนธรรม ก็เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญมาตลอด ทรงโปรดให้มีล่ามมลายูประจำพระองค์ เพื่อที่จะได้ทรงรับรู้ปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่ ดูแลความเป็นอยู่ ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบพสกนิกรในจังหวัดชายแดนใต้ด้วยพระองค์เอง
๘. พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ บ้านของพ่อ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง เลือกจังหวัดนราธิวาสเป็นที่ตั้งพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เพราะเป็นจังหวัดที่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก และมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคง และได้พระราชทานทรัพย์เพื่อสร้างมัสยิดให้อยู่ในบริเวณใกล้กับเขตพระราชฐาน เป็นที่ประทับแห่งเดียวในประเทศ (และอาจจะในโลก) ที่มีกุโบร์หรือที่ฝังศพอยู่ภายในบริเวณ พร้อมกันนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต เอาไว้ให้ราษฎรมุสลิมเข้าออกเขตพระราชฐาน เพื่อประกอบศาสนกิจอุทิศส่วนกุศลให้ผู้วายชนม์ตามความต้องการ
นอกจากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงส่งเสริมอาชีพให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ ของคนทุกพื้นที่ ทรงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในด้านการหาเลี้ยงชีพ จากการที่พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริต่างๆ มากมาย โครงการ เกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการส่งเสริมอาชีพ ทรงหาวิธีช่วยแก้ปัญหา ทรงแนะนําและสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ จนเป็นที่ประจักษ์แก่ใจมุสลิมทั่วประเทศ
ที่มา: http://beritamuslimmag.com