หน้าแรก รายงาน

โนรี แสงรายา… พีอาร์มืออาชีพแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา

โนรี แสงรายา

“คนทำงานประชาสัมพันธ์ต้องศรัทธาในองค์กร คิดว่าองค์กรมรย. อาจารย์และนักศึกษามีดี หากไม่ศรัทธาแล้วจะไปสื่อสารโดยไม่ได้ออกจากใจก็จะสะท้อนเรื่องราวออกไปได้ไม่เต็มที่”

โนรี แสงรายา นักประชาสัมพันธ์แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา (มรย.) ที่ทำหน้าที่นี้มาเกือบสิบปีบอกกล่าวถึงคุณสมบัติเบื้องต้นของการเป็นประชาสัมพันธ์ที่ดีในความเห็นของเธอ

ด้วยความรวดเร็วของข่าวสารยุคปัจจุบันทำให้ทุกคนคิดว่าสามารถทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ได้ เพราะยังไม่เข้าใจความสำคัญงานประชาสัมพันธ์หรืองานพีอาร์ การสื่อสารที่เผยแพร่ไปรวดเร็วทำให้พฤติกรรมของคนก้าวร้าวมากขึ้น แต่ถ้าใช้ช่องทางเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ก็จะดีมาก แต่งานพีอาร์ยังมีความสำคัญอยู่เสมอ โนรีบอกว่า

“ทุ่มเทในงานที่ทำไป 100 เปอร์เซ็นต์ แต่พอใจ 80 เปอร์เซ็นต์ ที่ผ่านมาจากการเช็คข้อมูลทำให้ได้รู้ว่าเรื่องการประชาสัมพันธ์ของมรย.ติดอันดับต้นๆ ของมรย.ทั่วประเทศ เกือบทุกมหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) มีการอัพหน้าเว็บไซต์เกือบทุกสถาบัน เนื่องมาจากการที่มรย.อัพข่าวทุกวันๆ ละ3-4 ข่าว ทำให้สถาบันอื่นตื่นตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก งานพีอาร์ที่ทำมีคนทำงานสองคนคือตัวเองและเพื่อนร่วมงานอีกคนที่ทำกันทุกงาน ทั้งงานประจำ งานอีเวนท์ งานข่าววันละ 3-4 ข่าว ทำกันทั้งสื่ออิเลกทรอนิกส์ จอแอลซีดีทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย เฟซบุ๊ค เพจ เว็บไซต์ สื่อมวลชน ป้ายพีอาร์ต่างๆ สารจันทน์กะพ้อ งานธุรการ เขียนโครงการ ไม่ใช่แค่ทำข่าวแล้วจบ ความจริงคือรายละเอียดงานเยอะมาก”

โนรี แสงรายา
โนรี แสงรายา

“เราเป็นคนสนุกกับงาน คนที่มาทำงานประชาสัมพันธ์ต้องมีความเข้าใจสูงมาก เพราะงานมีลักษณะเฉพาะ อย่างเชิญสื่อมาทำข่าว ถ้าหน่วยงานปกติก็จะส่งจดหมายไปกับคนขับรถ แต่ประชาสัมพันธ์ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อ ต้องไปหาสื่อในพื้นที่เอง หรือต้องโทรศัพท์ไปหาบอกว่า อย่าลืมมางานนะคะ ปฏิสัมพันธ์กับสื่อมวลชนเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งบางคนไม่เข้าใจเนื้องานของประชาสัมพันธ์ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้ความเข้าใจและปฏิสัมพันธ์ส่วนตัว เราต้องมีความจริงใจแล้วเขาก็จะมาทำข่าวให้”

ประโยคที่มักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่า งานประชาสัมพันธ์ทำดีก็เสมอตัว พลาดก็ถูกเหยียบ เป็นความจริงที่โนรีบอกว่าต้องยอมรับว่าไม่มีใครทำอะไรได้ถูกใจคนอื่นได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

“ประชาสัมพันธ์ที่นี่ทำงานทุกอย่างเหมือนเป็นออแกนไนเซอร์ มีการประเมินงาน 6 เดือน/ครั้ง ทำสารจันทน์กะพ้อทุกเดือนส่งโรงเรียนมัธยมทั้งชายแดนภาคใต้ เครือข่ายสื่อ หน่วยงานราชการ ตั้งที่เคานท์เตอร์ รวมทั้งเป็น E-Book ในเว็บไซต์ และงานอื่นๆ ที่กล่าวมาทั้งหมด อยากเพิ่มอัตราสัก 4-5 อัตราเพื่อความพอดีกับงาน โดยเฉพาะฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์ ถ่ายทำและบันทึกวีดีโอ ตอนนี้แก้ปัญหาโดยมีคณะกรรมการสื่อสารองค์กรประจำคณะที่ช่วยส่งข่าวของคณะต่างๆ ให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ซึ่งต้องมานั่งเช็คข่าวและตรวจทานอีกที”

เมื่อองค์กรต้องการพีอาร์ข่าวสารที่ให้สังคมรับรู้โดยทั่วไป ย่อมต้องมีการลงทุนบ้างและเข้าใจงานพีอาร์ที่แท้จริง

“ต้องยอมรับงานพีอาร์ให้ได้ว่าคืออะไร หากอยากได้เนื้อข่าวในสื่อสิ่งพิมพ์ระดับประเทศ ต้องซื้อพื้นที่โฆษณา หรือเนื้อข่าวโดนจริงๆ ทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายเกือบทั้งหมด ซึ่งข่าวที่ทำกันประมาณ 70-80 ข่าวต่อเดือนถือว่าสูง เมื่อมีปัญหาเรื่องใดพีอาร์ต้องอุดรอยรั่วขององค์กร สื่อสารให้ผู้บริหารรู้และแก้ไข หากมัวแต่ปิดก็มีแต่พัง พีอาร์ต้องช่วยแก้ปัญหาให้องค์กรได้”

ในความเป็นไปได้ของชีวิต โนรีบอกว่า ชอบทำงานอีเวนท์ที่มีศิลปะและสัมผัสได้
“ประทับใจกับการจัดงานแถลงข่าวครบรอบ 80 ปีของมรย.ที่ผ่านมา เพราะทุกกระบวนการมาจากการทำงานของพีอาร์ และตั้งใจว่าจะทำให้เต็มที่กับทุกงานที่รับผิดชอบด้วยความเต็มใจ”

โนรียังตั้งใจ เต็มใจ กับงานพีอาร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในวันนี้อย่างเต็มที่