หน้าแรก ข่าวต่างประเทศ

เสียงร้องจาก “มาลาลา” ถึง “ออง ซาน ซูจี”ปกป้องโรฮีนจา!

มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กหญิงชาวปากีสถาน ที่กลายมาเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิและเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2014 ออกมาเรียกร้องให้นางออง ซาน ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 1991 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าคือผู้นำรัฐบาลพม่า ให้ออกมาปกป้องชาวโรฮีนจา ชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า โดยมาลาลาชี้ว่า “เราไม่สามารถนิ่งเงียบได้ในตอนนี้ ที่ผู้คนนับหลายแสนคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น”

มาลาลา ที่ขณะนี้มีอายุ 20 ปี กำลังจะก้าวไปเป็นน้องใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด สถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีถึงชะตากรรมอันเลวร้ายของชาวโรฮีนจาในพม่าที่กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยกล่าวว่า ตนไม่อาจจินตนาการได้แม้แต่วินาทีเดียวว่า”จะเป็นอย่างไรหากสิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิที่จะอาศัยอยู่ในประเทศ ถูกปฏิเสธไปโดยสิ้นเชิง นี่ควรเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลควรจะต้องดำเนินการ ”

มาลาลากล่าวอีกว่า เด็กๆกำลังถูกริดลอนการศึกษา พวกเขาไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน และการต้องใช้ชีวิตอยู่ในสถานการณ์ก่อการร้ายที่มีแต่ความรุนแรงอยู่รายรอบตัว เป็นเรื่องยากยิ่ง

“เราจะต้องตื่นขึ้นมาและรับมือกับมัน และฉันหวังว่า ออง ซาน ซูจี จะตอบสนองต่อเรื่องนี้ด้วย” มาลาลากล่าว

มาลาลายังบอกกับบีบีซีถึงการที่ตัวเธอกำลังจะกลายมาเป็นนักศึกษาในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ในภาควิชาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ ขณะที่เธอยังมีเครดิตเป็นถึงเจ้าของรางวัลอันทรงเกียรติระดับโลกอย่างโนเบลสาขาสันติภาพว่า เธอพยายามที่จะเป็นนักศึกษาธรรมดาๆทั่วไปคนหนึ่ง “ฉันต้องการสร้างมิตรภาพกับเพื่อนในฐานะเป็นเด็กหญิงมาลาลา ไม่ใช่เจ้าของรางวัลโนเบล”

“ฉันรู้สึกประหม่าเล็กน้อยเหมือนกัน เพราะเริ่มแรกเราไม่รู้จักใคร และไม่รู้ว่าจะมีเพื่อนยังไง นั่นเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่ก็น่าจะโอเค”

มาลาลายังบอกอีกว่าเธอยังยินดีที่จะเดินตามรอยผู้นำหญิงแข็งแกร่งอีกคนจากปากีสถานนั่นคือ นางเบนาซีร์ บุตโต อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน ที่ก็เป็นศิษย์เก่าของอ๊อกซ์ฟอร์ดเช่นกัน

มาลาลายังกำลังทำงานรณรงค์ด้านสิทธิทางการศึกษาของเด็กผู้หญิง โดยเธอกำลังจัดตั้งเครือข่าย “Gulmakai Network” เพื่อรณรงค์สิทธิด้านการศึกษาในหลายประเทศ อาทิ อัฟกานิสถาน ไนจีเรีย และเพื่อผู้อพยพชาวซีเรีย

ทั้งนี้ มาลาลา กลายมาเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หลังจากเธอถูกกลุ่มติดอาวุธทาลิบันในปากีสถาน ดักยิงทำร้าย จนทำให้เธอได้รับบาดเจ็บอาการสาหัสปางตายขณะมีอายุเพียง 16 ปี เหตุจากการที่เธอออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิทางการศึกษาของเด็กผู้หญิงในปากีสถาน แต่มาลาลาก็รอดชีวิตมาได้และมารักษาตัวในประเทศอังกฤษ หลังจากหายดีแล้ว มาลาลาเดินหน้าการทำงานต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษาต่อไป

ที่มา: https://www.matichon.co.th/