ครอบครัวผู้สูญหายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกันจัดและรับฟังการสัมมนาทางวิชาการและแลกเปลี่ยนความรู้สึกของญาติผู้สูญหาย อันเนื่องวันบังคับให้สูญหายสากล ครอบครัวผู้สูญหายยังคงเรียกร้องความเป็นธรรม
วันนี้ (30 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่บ้านของ นายสุหลง โต๊ะมีนา หรือ หะยีสุหลง ต.อาเนาะรู อ.เมือง จ.ปัตตานี ได้มีตัวแทนจากครอบครัวผู้สูญหายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมกันจัดและรับฟังการสัมมนาทางวิชาการและแลกเปลี่ยนความรู้สึกของญาติผู้บังคับให้สูญหาย เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหากันเองร่วมกัน หลังจากที่หมดความหวังที่จะพึ่งพารัฐ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับครอบครัวของตัวเอง จากการบังคับให้เป็นผู้สูญหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นส่วนใหญ่
ประกอบกับประเทศไทยยังไม่ได้มีข้อกฎหมายที่จะมากำกับดูแล ดำเนินเอาผิดจากผู้ที่กระทำให้สูญหาย แม้จะมีการพยายามผลักดันให้มีการตรากฎหมายเพิ่มเติม 3 ฉบับ ประกอบด้วยกฎหมายการบังคับให้สูญหาย 2.การวิสามัญฆาตกรรม 3.การซ้อมทรมาน ทั้งนี้เพื่อสามารถดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเอาผิดจากผู้ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีตามกฎหมายบ้านเมือง และสามารถคือความเป็นธรรมให้กับครอบผู้เสียหายได้ เนื่องจากเหตุการณ์กรณีเช่นนี้มักเกิดขึ้น ล้วนแต่ส่วนใหญ่มาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
โดยมีนักสิทธิมนุษยชน สภาบันสุขภาพจิต กลุ่มด้วยใจที่เคยทำวิจัยการซ้อมทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และตัวแทนจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายและการใช้สิทธิตามกฎหมายที่ประชาชนพึงได้รับการปกป้องเมื่อเกิดเหตุกรณีดังกล่าว นอกจากนั้นภายในงานยังมีการแขวนป้ายชื่อและเดือนปี พ.ศ. ผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 35 ราย ที่ได้ลงทะเบียนและแจ้งความไว้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้มีทั้งเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ และสตรี
ด้านนายอับดุลเลาะ นะดารานิง เป็นชาวบ้านกายูบอเกาะ อ.รามัน จ.ยะลา พ่อของ พลทหารอิสมาแอล นะดารอนิง เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกกระทำให้สูญหาย กล่าวว่า ลูกชายได้ร่ำเรียนท่องจำพระคัมภีร์อัล-กุรอ่าน จำได้ประมาณ 15 เล่ม เมื่ออายุครบเกณฑ์ทหารจึงเข้าไปสมัครเป็นทหารเกณฑ์ จึงได้รับการคัดเลือกเมื่อปี พ.ศ.2552 สังกัดค่ายทหารกรมหลวงชุมพรศรีราชนครินทร์ จ.สงขลา จนเข้าปีที่2
โดยพ่อของพลทหารอิสมาแอล ได้เล่านาทีก่อนที่ลูกชายจะสูญหายว่า ช่างเวลาเย็นของวันอาทิตย์ลูกชายได้โทรศัพท์จากค่ายฯ ว่าลูกจะกลับบ้านวันจันทร์นี้ เพื่อพักฟื้นขาที่ได้รับบาดเจ็บจากแผลเดิมก่อนเข้ามาเกณฑ์ทหาร แต่ลูกกลับมาไม่ถึงบ้าน และไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย ครอบครัวจึงเป็นหวง จึงนั่งรถพากันไปหาที่ค่ายทหารฯ เมื่อมาถึงบริเวณประตูค่ายฯ ได้รับการยืนยันจากทหารยามบริเวณประตูเข้าออกว่าลูกชายได้กลับบ้านไปแล้ว จากนั้นจึงพาครอบครัวกลับมารอที่บ้านอีกครั้งแต่กลับไม่พบหน้าลูก
หลังจากนั้นวันศุกร์ในอาทิตย์เดียวกันก็พาครอบครัวไปสอบถามที่ค่ายทหารฯ อีกครั้ง เพื่อให้รู้แน่ชัดว่าลูกชายไปไหนกันแน่ ครั้งนี้ได้พบกับนายทหารยศจ่า ซึ่งเป็นหัวหน้ากองร้อยที่ลูกชายสังกัด ครอบครัวจึงได้เล่าเรื่องและสอบถามลูกชายไปอยู่ไหน ได้รับคำตอบและยืนยันจากจ่าท่านนี้ว่าจะช่วยจัดการให้ จากนั้นนายทหารท่านนี้ก็ขอหมายเลขโทรศัพท์จะโทรติดต่อ จากนั้นจึงพาครอบครัวกลับมารอลูกที่บ้านอีกครั้ง แต่ก็ไม่เจอหน้าลูกและไม่ได้รับการติดต่อจากนายทหารดังกล่าว
จากวันนั้นจนเลยไป 1 เดือน ได้มีเพื่อนทหารลูกชายโทรศัพท์สอบถามว่าทำไม พลทหารอิสมาแอลถึงไม่กลับมาที่ค่ายฯ จึงทำให้เกิดความกังวลในความปลอดภัยของลูกชายตัวเองมากขึ้น จากนั้นจึงพาครอบครัวไปสอบถามที่ค่ายทหารฯ และได้พบกับนายทหารยศจ่า ซึ่งเป็นหัวชุดกองร้อยที่ลูกชายสังกัดเช่นกันแต่ไม่ใช่คนเดิม จากนั้นจ่าทหารดังกล่าวก็รับที่จะดำเนินการตรวจสอบให้ แล้วขอเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกลับไป แต่เหมือนเดิมทุกอย่างไม่ได้ติดต่อกลับมาจนถึงทุกวันนี้
ด้วยเหตุนี้จึงหันไปหาทนายที่ศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดยะลา เพื่อช่วยหาทางช่วยเหลือลูกชายอีกทางหนึ่ง หลังจากที่สิ้นหวังกับการตามหาลูกชายที่ค่ายทหารที่ลูกชายเข้าสังกัด จากนั้นทางทนายศูนย์ทนายความฯ จึงได้จัดทำหนังสือชี้แจงกรณีลูกชายเป็นลายลักษณ์อักษรจากกองทัพค่ายทหารกรมหลวงชุมพรฯ จากนั้นทางกองทัพได้จัดส่งหนังสือชี้แจงผ่านทนายความ โดยในเนื้อหานั้นไม่เป็นที่พอใจและไม่สบายใจให้กับครอบครัวอย่างยิ่ง จึงมีการดำเนินการฟ้องศาลเพื่อให้มีการไต่สวนกรณีลูกชาย จนในที่สุดศาลได้พิพากษา “ลูกชายเป็นบุคคลสาบสูญ” จนทุกวันนี้ครอบครัวยังไม่รู้จะไปพึ่งพาใครที่จะยอมให้ความเป็นธรรมให้กับลูกชายและครอบครัว จนถึงวันนี้ไม่เคยได้รับการดูแล การเยียวยา แม้จากน้ำใจจากผู้บังคับบัญชาที่ลูกตั้งใจสมัครเป็นทหารรับใช้ชาติ
ที่มา: http://www.manager.co.th/S