แสงและเงาในแต่ละภาพถ่ายที่ซอเร่ ถ่ายทอดเรื่องราวและความหมายหลากหลายอารมณ์ ภาพทุกภาพคือความจริงของชีวิตในพื้นที่ คือสิ่งที่เห็นและสัมผัสได้จากนิทรรศการภาพถ่ายเดี่ยว “Nayu Nayu นายู น่าอยู่ “ ของ มูฮำหมัดซอเร่ เด็ง นักบันทึกภาพอิสระชายแดนใต้/ปาตานี ที่จัดแสดง ณ มลายูลิฟวิ่ง ถนนปัตตานีภิรมย์ ย่านเมืองเก่าของปัตตานี
ก่อนหน้านี้ซอเร่ไม่ได้สนใจเรื่องภาพถ่ายเนื่องจากเห็นแต่การสื่อสารที่ใช้ภาพความรุนแรงในพื้นที่นำเสนอออกไปให้สังคมรับรู้ จนมาถึงจุดเปลี่ยนในปี 2551 เมื่อเกิดพายุดีเปรสชั่นรอบอ่าวปัตตานีที่สร้างความเสียหายแก่พี่น้องที่อยู่อาศัยริมชายฝั่งเป็นอย่างมาก ครูที่สอนเรื่องวัฒนธรรมแก่เขาในชุมชนชายฝั่งถูกต้นไม้ล้มทับเสียชีวิต ครอบครัวยากจน เขาจึงคิดหาทางช่วยเหลือ
“คิดว่าจะช่วยเหลือครอบครัวครู มีกล้องถ่ายรูปอยู่ ถ่ายรูปความเสียหายที่เกิดขึ้นและความเดือดร้อนของครอบครัวครูโพสต์ในโซเชี่ยลมีเดีย ผ่านไปหนึ่งอาทิตย์มีคนบริจาคเงินเข้ามาพอสมควร และนำไปมอบให้กับครอบครัวของครู ทำให้ได้เห็นพลังของภาพถ่ายในการสื่อสาร เริ่มมาสนใจการถ่ายภาพอย่างจริงจังจนมาถึงทุกวันนี้”
“เรียนรู้การถ่ายภาพด้วยตัวเอง นำเสนอเรื่องราวในพื้นที่ วิถีชีวิต สารคดีเป็นหลัก ไปในงานนี้ได้เร็วเพราะสอดคล้องกับการทำงานก่อนหน้านี้ที่ทำกับชุมชนและวัฒนธรรมเป็นหลัก เริ่มสนใจจริงจังเรื่องภาพถ่ายเมื่อคุณปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์ ได้จัดกิจกรรมรวมตัวของช่างภาพในพื้นที่ Deep South Photojournalism Network(DSP) ทำได้เห็นความสำคัญว่า มีภาพที่สามารถอธิบายเรื่องราวในพื้นที่คือ ภาพปกติสุขของคนในพื้นที่นั่นเอง เป็นตัวถ่วงดุลกับสื่อหลักที่นำเสนอแต่ข่าวสารด้านอื่นๆ โดยเริ่มถ่ายจากคนรอบข้างใกล้ตัว ในชุมชน เพราะได้เปรียบเรื่องเวลาและรายละเอียด”
งานชุดนี้เป็นการรวบรวมภาพถ่ายเกือบ 10 ปีที่ซอเร่ทำมา กลั่นออกมาเป็นภาพต่างๆ ในพื้นที่ เขาบอกว่าคนมลายูยังรู้สึกว่าอยากมองแต่เรื่องราวดีๆ ของชาติพันธุ์ตัวเอง จึงให้มีหลากเรื่องราวหลากความหมายที่มีอยู่ได้ทำหน้าที่
“พื้นที่เรายังมีความสุขแต่ไม่มีการกล่าวขาน เป็นการบอกเล่าความสุขของเรา เราไม่อาจพูดได้ แต่พลังของภาพถ่ายบอกเล่าไปได้ทั่วโลกว่า จริงๆ พื้นที่เราไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น มีความปกติของผู้คน ทุกภาพที่ถ่ายมีอยู่จริง เรื่องราวในภาพถ่ายเป็นการจำลองสิ่งที่มีอยู่ ชอบทุกภาพที่ถ่ายมา เพราะถ่ายด้วยความสุขและความชอบ อยู่ที่ภาพไหนจะใช้ในช่วงเวลาไหน ใช้ให้ถูกที่ถูกเวลามากกว่า”
ชาญชัย ศิริสวัสดิ์ สถาปนิกจากอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่ได้มาชมภาพถ่ายของซอเร่บอกว่า ทำให้ได้เห็นภาพชีวิตของพี่น้องมลายูที่หลากหลาย ภาพด้านหนึ่งคือสามารถอยู่ร่วมกับพี่น้องศาสนิกอื่นได้อย่างมีความสุข ปัตตานีเป็นเมืองที่น่าสนใจ และไม่ได้มีอันตรายอย่างที่เป็นข่าวในทุกพื้นที่
ภาพเพียงหนึ่งภาพ บอกเล่าเรื่องราวแทนคำพูดล้านคำ คือเรื่องจริงที่ซอเร่ตั้งใจเดินต่อไปในเส้นทางสายนี้…เพื่อบอกเล่าเรื่องราวมากมายในพื้นที่ชายแดนใต้สู่สาธารณะ