“รศ.ดร.โคทม อารียา” ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล หนุน คปต.งบ 50 ล้านบาทภาคประชาสังคม เชื่อมั่นเกื้อหนุนนกระบวนการสันติภาพในเชิงบวก
วันนี้ (28 ส.ค.) ที่ห้องประชุมโรงแรมอิมพิเรียล อ.เมือง จ.นราธิวาส สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์ประสานเครือข่าย องค์กรประชาสังคมนราธิวาส จัดโครงการองค์กรประชาสังคมกับกระบวนการสร้างสันติภาพ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยากรประกอบด้วย นายนัจมุดดีน อูมา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.นราธิวาส และนักเคลื่อนไหวสันติวิธีและสันติภาพ คือนายอายุบ ปาทาน นายอัศมันต์ บินยูโซะ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีเปิดการเสวนา อัปเดตสถานการณ์เครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การรับฟังข้อคิดเห็น และข้อขัดข้องในกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้โดยสันติสันติวิธี ทั้งนี้ มีกลุ่มตัวแทน องค์กรสตรี กลุ่มชาวไทยพุทธ นักศาสนา ชมรมสื่อมวลชนเพื่อสันติจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุสถานการณ์ไฟใต้ ในพื้นที่ จ.ยะลา ปัตตานี และ จ.นราธิวาส รวมกว่า 150 คน เข้าร่วมโครงการการฯ
รศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวต่อกรณีโครงการขับเคลื่อนสำคัญ ว่า โครงการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คปต.50 ล้านบาทนั้น เป็นโครงการริเริ่มในรัฐบาล คชส. โดย คปต.ซึ่งรับผิดชอบภารกิจที่ 7 เป็นงานแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี ในการทุ่มงบให้แก่ส่วนภาคประชาสังคม เสมือนเป็นการให้ยาแก่คนป่วย ยาจะถูกหรือไม่ จะใช้ถูกต้องได้ตรงกับโรคในพื้นที่หรือไม่ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่การส่งเสริมภาคประชาสังคม เป็นเครือข่ายขับเคลื่อนมีส่วนในการแก้ปัญหา นับเป็นเรื่องที่ดีต่อการเกื้อหนุนกระบวนการสร้างสันติภาพในเชิงบวก โดยภาคประชาสังคม โดยตัวแทนประชาชนคนในพื้นที่ซึ่งรู้ปัญหา และเข้าใจ รวมถึงสัมผัสปัญหาในพื้นที่โดยตรง เชื่อมั่นจะมีผลบวกในทางที่ดีในอนาคตอย่างแน่นอน
แต่อย่างก็ไรก็ตาม ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ เช่น ศอ.บต. กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็ไม่ควรจะเข้ามากำกับการทำงาน แต่ควรให้องค์ภาคประชาสังคมทำงานอย่างเป็นอิสระ และหลังจากนี้ควรจะมีหน่วยงานกลางที่ประกอบด้วย องค์กรภาควิชาการ มาสำรวจ และทำการประเมินองค์กรภาคประชาสังคมที่รัฐอุดหนุนงบประมาณในโครงการ
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ในอนาคต หรืองบประมาณครั้งต่อไปควรมีสัดส่วนกรรมการภาครัฐและประชาชนที่มีสัดส่วนเท่าเทียมกัน และควรดึงสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรม ทั้งนี้ เพื่อหลากหลาย และป้องกันเสียงครหาในอนาคต
สำหรับเวทีเสวนาในครั้งนี้ โดยเครือข่ายภาคประชาสังคม หรือ CSO ต่างเห็นพ้องเป็นในลักษณะแนวเดียวกัน ที่ทุกฝ่ายต้องมีความรับผิดชอบ เพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ให้ภาคประชาสังคมเป็นอีกหนึ่งทาง เพื่อเพิ่มศักยภาพการศึกษา เพื่ออำนาจการนำเสนอ และเป็นการต่อรองกับเจ้าหน้าที่ และฝ่ายผู้เห็นต่าง เพื่อให้นำมาแก้ปัญหาความไม่สงบ และความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจังต่อไป
ที่มา: http://www.manager.co.th/