หน้าแรก การศึกษาและเทคโนโลยี การศึกษา

สพฐ. ยันหลักสูตรผ่าน สสวท.-ความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิในและต่างประเทศ

นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ชี้แจงประเด็นการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรณี ผศ.ดร.ดารุณี จำปาทอง จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสาระภูมิศาสตร์ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง อำนาจในการประกาศใช้ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผลกระทบต่อผู้ปกครองว่า การปรับปรุงหลักสูตรบางกลุ่มสาระ สืบเนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งการกำหนดโครงสร้างประเทศเป็นประเทศไทย 4.0

ได้กำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาประเทศที่ชัดเจน ให้เป็นประเทศที่สร้างนวัตกรรมบนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำเป็นที่การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องวางพื้นฐานเด็กและยาวชนไทยให้สอดรับกับเป้าหมายดังกล่าว แต่การปรับหลักสูตรทั้งฉบับ ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร จึงพิจารณาปรับเฉพาะส่วนที่สอดคล้องอย่างชัดเจนก่อน

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงหลักสูตรว่า สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้วิจัยและพัฒนาหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี มาตั้งแต่ปี 2555 ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาทั้งในและต่างประเทศ มีการทดลองใช้ และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สำหรับสาระภูมิศาสตร์ก็เช่นกัน ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านภูมิศาสตร์ก่อนที่จะนำไปสู่การปรับปรุง คณะทำงานประกอบด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษานิเทศก์และครู หลังจากนั้นได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้หลักสูตรอีกครั้งก่อนทำการประกาศใช้ ดังนั้น จะเห็นว่าการปรับปรุงหลักสูตรครั้งนี้มีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเฉพาะสาขา

ในส่วนอำนาจการลงนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ มาตรา 27 กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำหลักสูตรแกนกลาง เสนอให้ กพฐ. พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่การปรับปรุงครั้งนี้เป็นการปรับในรายละเอียดตามโครงสร้างเดิมของหลักสูตรแกนกลางฯ จึงไม่ผ่านการพิจารณาของ กพฐ.และในปี 2560 เป็นช่วงที่หนังสือเรียนหมดอายุการใช้ สำนักพิมพ์จะต้องส่งต้นฉบับใหม่ให้ สพฐ. ตรวจพิจารณารับรองอยู่แล้ว ซึ่ง สพฐ.ได้ทำความเข้าใจในหลักสูตรที่ปรับใหม่ให้สำนักพิมพ์ทราบ เพื่อเตรียมผลิตให้ทันใช้ในปีการศึกษา 2561 แล้ว

ที่มา: https://www.matichon.co.th/