หน้าแรก ข่าวในประเทศ ข่าวชายแดนใต้

“ไกรศร” ระบุ ศอ.บต.นำร่อง 40 หมู่บ้านต้นแบบ ดึง 488 องค์กรภาคประชาสังคมร่วมแก้ปัญหา จชต.

“ไกรศร วิศิษฎ์วงศ์” รองเลขาธิการ ศอ.บต. ระบุ ศอ.บต.นำร่อง 40 หมู่บ้านต้นแบบ พร้อมดึง 488 องค์กรภาคประชาสังคมร่วมแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เผยการได้สนองความต้องการของพี่น้องประชาชนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

วันนี้ (23 ส.ค.) นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า ตามที่มติคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบกลางปี 2560 ให้แก่ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลนั้น ได้มีการเสนอโครงการไปทั้งหมด 6 โครงการ แต่เนื่องจากไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ในปี 2560 ทางผู้แทนพิเศษของรัฐบาล จึงได้มีข้อแนะนำ ข้อเสนอแนะไปยังส่วนราชการ ซึ่งส่วนราชการได้ตั้งงบประมาณเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีทั้งหมด 6 โครงการ

โดยในส่วน 6 โครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. มีเพียง 2 โครงการ คือ

1.โครงการพัฒนาหมู่บ้านชุมชนเข้มแข็งมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาในส่วนของคณะกรรมการหมู่บ้านให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเน้นทั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำต่างๆ ที่มีส่วนในการพัฒนา ซึ่งจะเดินไปสู่การจัดตั้งแผนพัฒนาชุมชนให้เป็นต้นแบบนำร่องใน จำนวน 40 หมู่บ้าน และให้คณะกรรมการหมู่บ้านได้จัดทำต้นแบบเพื่อนำร่องในการพัฒนาหมู่บ้านเพื่อตนเอง ซึ่งตรงนี้มีงบประมาณให้หมู่บ้านละ 4 แสนบาท งบประมาณทั้งหมด 23 ล้านบาทเศษ เพื่อไปดำเนินการใน 20 หมู่บ้าน โดยผู้ที่ทำหน้าที่คัดเลือกหมู่บ้าน คือ คณะทำงานร่วม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และหน่วยเฉพาะกิจจังหวัด รวมถึงที่ทำการปกครองจังหวัดมาร่วมกันพิจารณา จะเห็นว่าใน 33 อำเภอ ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง จ.ยะลา นราธิวาส และ จ.ปัตตานี มีจำนวน 33 อำเภอ แต่ละอำเภออย่างน้อยมี 1 โครงการ 1 หมู่บ้าน และในบางอำเภอ 2 หมู่บ้าน ประมาณ 7 อำเภอ

“โครงการพัฒนาหมู่บ้านชุมชนเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เราขับเคลื่อนในทุกอำเภอ ทุกจังหวัดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”

นายไกรศร กล่าวต่ออีกว่า ขั้นตอนที่จะดำเนินการนั้นมี 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก เป็นการจัดอบรมวิทยากรครู ก. คือ คนที่จะเข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพ หรือศักยภาพของคณะกรรมการหมู่บ้าน หรือผู้นำประมาณ 5 ทีม ขั้นตอนที่ 2 ทั้ง 5 ทีม จะต้องลงไปประชุมขับเคลื่อนกับคณะกรรมการหมู่บ้าน หรือผู้นำในหมู่บ้านให้มีความเข้าใจในเรื่องของการจัดทำแผน เมื่อเข้าใจในเรื่องนโยบายต่างๆ แล้วนั้นก็จะระดมสมองเพื่อจัดทำแผนพัฒนาชุมชนฉบับนำร่องที่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันให้มากที่สุด ทั้งนี้ ในบางหมู่บ้านก็จะมีแผนอยู่แล้ว ซึ่งก็จะมีการปรับปรุงแผนชุมชนให้สอดรับต่อแผนของท้องถิ่น สอดรับต่อแผนยุทธศาสตร์จังหวัด และสอดรับต่อแผนการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ สอดรับต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ทั้งนี้ เมื่อจัดทำแผนเสร็จในขั้นตอนที่ 4 ก็จะให้เลือกโครงการในวงเงินที่มีงบประมาณ 4 แสนบาท ให้ทดลองทำ ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ จะต้องได้คณะกรรมการหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็ง ต้องได้แผนพัฒนาชุมชน และจะต้องได้ตัวอย่างของการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาในหมู่บ้านนั้นๆ ด้วย ซึ่งก็คือ “โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเข้มแข็ง” ที่ ศอ.บต.รับผิดชอบ

“เราคิดว่าโครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเข้มแข็ง ที่ ศอ.บต.รับผิดชอบ เมื่อเราได้นำร่องใน 40 หมู่บ้านแล้ว ในปีต่อไปเราก็จะใช้รูปแบบนี้ขับเคลื่อนในปีอีก 60 หมู่บ้านของปี 2561 ด้วย”
2.โครงการภาคประชาสังคม ให้เข้ามามีส่วนรวมในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายประชารัฐในการพัฒนา เพราะฉะนั้นในการขับเคลื่อนประชารัฐ จะต้องมีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ มีภาคประชาสังคม มีภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งวันนี้โดยคำแนะนำของ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ได้เสนอแนะให้ ศอ.บต.เขียนโครงการนี้ขึ้นมา เราเลยจัดทำเสนอโครงการขึ้นไป จึงได้รับงบประมาณ จำนวน 63 ล้านบาทเศษ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ยอด โดยงบประมาณทั้งหมด 63,145,250 บาท แบ่งเป็น 2 ยอด ยอดแรก คือ 13,145,250 บาท เป็นงบบริหารจัดการสำหรับการขับเคลื่อนและการดำเนินการ ส่วนอีก 50 ล้านบาท เป็นเงินอุดหนุนให้แก่ภาคประชาสังคม โดยมีเป้าหมายให้อุดหนุนภาคปะชาสังคมไม่น้อยกว่า 50 องค์กร เข้ามาขับเคลื่อนงานในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ร่วมกับรัฐบาล

ตรงนี้เราจะมีโครงสร้างที่เป็นคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ปัญหาภาคใต้ ก็จะมีคณะทำงาน 15 คน ประกอบด้วย กอ.รมน.ภาค 4, ศอ.บต., คปต.ส่วนหน้า และ ศชต.เดิม รวมทั้งภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมอีก 5 คน รวมเป็น 15 คน โดยทั้ง 15 คนดังกล่าวมีหน้าที่กลั่นกรองโครงการต่างๆ และกำหนดประเด็นที่จะให้เสนอโครงการเข้ามารับผิดชอบ โดยขั้นตอนต่อไปเราจะเปิดให้ภาคประชาสังคมไม่น้อยกว่า 100 องค์กร เสนอโครงการเข้ามา เมื่อได้รับการคัดเลือกแล้ว โครงการไหนได้รับการคัดเลือก ภาคประชาสังคมจะต้องเข้ามาฝึกอบรม เตรียมการต่อคณะทำงานของเรา เมื่อฝึกอบรมเสร็จ เราก็จะได้มอบเงินส่วนหนึ่งให้เป็นเงินอุดหนุน งวดแรกให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เมื่อขับเคลื่อนไประยะหนึ่งก็จะมีให้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเมื่ออนุมัติแล้วต้องเร่งดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมภายในเดือนกันยายนนี้ และผลลัพธ์ให้ได้ภายในเดือนธันวาคม

“เราคาดหวังว่าจะมีภาคประชาสังคม เสนอโครงการในประเด็นต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นการขับเคลื่อนงานทั้ง 1.การรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน 2.การอำนวยความยุติธรรม และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 3.การสร้างความเข้าใจทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน 4.การศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม 5.การพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ และคุณภาพชีวิตประชาชน 6.การเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐ และการขับเคลื่อนนโยบาย และ 7.การแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี”

นายไกรศร กล่าวด้วยว่า ทั้ง 7 กลุ่มภารกิจ คือ 7 ประเด็นที่ภาคประชาสังคมพร้อมที่จะเสนอ นอกจากนี้ จะมีประเด็นที่ 8 เรื่องการพูดคุยสันติสุขที่จะเป็นประเด็นสำคัญ และประเด็นที่ 9 เรื่องโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และประเด็นที่ 10 คือ การให้ภาคประชาสังคมเข้ามาพัฒนาศักยภาพของภาคประชาสังคม ซึ่งหากมีตัวแทนภาคประชาสังคมต้องการเข้ามาพัฒนาขับเคลื่อนภาคประชาสังคม ภาคประชาชน หรือภาคเอกชน มีความเข้าใจ มีประสิทธิภาพ มีศักยภาพในการทำงานในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งนี่ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งของการขับเคลื่อนในครั้งนี้

โดย 50 ล้านบาท เราจะอุดหนุนใน 3 ลักษณะให้แก่โครงการขนาดเล็ก ประมาณ 500,000-600,000 บาท โครงการขนาดกลาง 800,000 บาท และโครงการขนาดใหญ่ไม่เกิน 1,200,000 บาท เราคาดหวังไม่น้อยกว่า 80 องค์กรภาคประชาสังคมที่จะเข้ามาร่วมทำงานตรงนี้ โดยโครงการดังกล่าวทำให้เราเห็นถึงการมีส่วนรวมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เคยมีประเด็นมองกันคนละมุมที่รัฐบอกว่าพัฒนา แต่ชาวบ้านบอกว่ายังไม่พัฒนา ที่รัฐบอกว่าเข้าใจ แต่ชาวบ้านมองว่ายังไม่เข้าใจ

“เราคาดหวังการขับเคลื่อนโครงการตรงนี้ว่าจะสร้างความเข้าใจให้ทั่วถึง และสร้างความรู้สึกเป็นธรรม เข้าถึงความเสมอภาค และเข้าถึงงบประมาณของภาครัฐ ที่สำคัญคือ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ด้วย”

นายไกรศร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า งานขับเคลื่อนภาคประชาสังคมยังถือเป็นงานด้านสร้างความเข้าใจ 1 ใน 3 โรดแมปคือ ด้านความมั่นคง และด้านการพัฒนางานของผู้แทนพิเศษของรัฐบาลด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวจะต้องบรรลุผลสำเร็จ และเกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น

โดยตนยังเชื่อมั่นว่า เราสามารถสร้างความเข้าใจให้แก่คนในพื้นที่ให้เข้าใจนโยบายของรัฐมากขึ้น และเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น โดยงานสำคัญที่เราต้องการ นอกจากชาวบ้านเข้าใจ และมีส่วนร่วมแล้วนั้น หัวใจสำคัญคือ สนองตอบความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วย

อย่างไรก็ดี การเปิดรับการรับลงทะเบียนโครงการจากององค์กรภาคประชาสังคมเพื่อของบประมาณ กิจกรรมของโครงการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ งบประมาณรวม 50 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 นั้น เป็นไปด้วยความคึกคัก และมีองค์กรภาคประชาสังคมเข้ายื่นกว่า 488 องค์กร ทั้งหมด 492 โครงการ

โดยโครงการที่ลงทะเบียนทั้งหมดในครั้งนี้ จะนำสู่การตรวจเอกสารเพื่อความถูกต้อง และนำไปสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้น เพื่ออนุมัติดำเนินการในขั้นตอนต่อไป และไปสู่การจ่ายงบประมาณให้แต่ละองค์กรที่ได้รับเลือก เพื่อให้องค์กรเหล่านั้นได้ลงพื้นที่ ทำกิจกรรมตามวัตถุประสงค์เป้าหมายให้เป็นรูปธรรม ตามที่รัฐบาลคาดหวังให้เกิดการขับเคลื่อนโดยภาคประชาสังคม เพื่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ในหลากมิติ และการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยภาคประชาสังคม เพื่อความมั่งคง มั่นคั่ง และยั่งยืนด้วย

“การได้สนองความต้องการของพี่น้องประชาชนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด” นายไกรศร กล่าวในที่สุด

ที่มา: http://www.manager.co.th