หน้าแรก รายงาน

ครั้งแรกในชายแดนใต้! อิหม่ามเกือบสามพันคนร่วมงานนานาชาติฮาลาล เสวนาหาทางออกของปัญหาจชต.

อิหม่ามจากทุกมัสยิดใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ร่วมงานประชุมสัมมนา ”ทางออกของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” และการประชุมวิชาการนานาชาติด้านฮาลาล (Southern Border Halal International Fair 2015 -SHIF 2015) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา พร้อมฟังปาฐกถาโดนใจจากผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ว่า ฮาลาลเป็นเรื่องของทุกคน เน้นต้องสร้างนักวิทยาศาสตร์มุสลิมที่เก่งทั้งหลักชารีอะฮฺและวิทยาศาสตร์เพื่อรับผิดชอบความถูกต้องในเรื่องฮาลาล

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ดร.พงศ์ศักดิ์ เสมสันต์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงานการประชุมสัมมนา”ทางออกของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” และการประชุมวิชาการนานาชาติด้านฮาลาล (Southern Border Halal International Fair 2015 – SHIF 2015) โดยความร่วมมือของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 10 กันยายน 2558 โดยมี นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ร่วมกล่าวดุอาร์เปิดงาน พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นายอุดร น้อยทับทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ประธานคณะกรรมการอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้นำศาสนา อิหม่าม ส่วนราชการในพื้นที่ เข้าร่วมงานกว่า 3,000 คน

งานครั้งนี้ประกอบไปด้วย การประชุมคณะกรรมการอิสลามกลางแห่งประเทศไทยสัญจร การประชุมอิหม่ามจาก 2,800 มัสยิด ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเสวนาศักยภาพฮาลาลไทย การเสวนาทางออกของปัญหาชายแดนภาคใต้ การเสวนาศักยภาพนักธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมและงานคุ้มครองผู้บริโภค การจัดนิทรรศการ Sultan of Science นิทรรศการ Demo Lab นิทรรศการคัมภีร์กุรอานและกีตาบโบราณ การจัดแสดงสินค้าจากผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศมาเลเซีย นิทรรศการหน่วยงานราชการและองค์กรเอกชนจำนวน 200 บูธ

พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า งาน SHIF 2015 ครั้งนี้จัดขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรกด้วยความร่วมมือของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เพื่อสร้างมิติใหม่ของฮาลาลไทยระดับอาเซียนและนานาชาติ

“ปัญหาชายแดนใต้ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือไม่ปฏิบัติตามกฎ ยังไม่สามารถแก้ไขได้ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านแก้ปัญหาหมดแล้ว มาเลเซียมีปัญหาใหญ่กว่าเราคือปัญหาเชื้อชาติ แต่แก้ได้หมดแล้ว ปัญหาเกาะมินดาเนาในฟิลิปปินส์ ปัญหาอาเจะห์ในอินโด เรื่องเขมรสี่ฝ่าย ทั้งหมดแก้ไขได้หมด ขณะเดียวกับในบ้านเรา ไม่รู้ไปถึงไหนแล้วและต้องช่วยกันแก้ปัญหาต่อไปครั้งนี้เป็นการจัดงานที่เป็นประวัติศาสตร์ เป็นครั้งแรกที่มาจัดในสามจังหวัดชายแดนใต้ ในอดีตไม่มีการจัดงานเช่นนี้ พิเศษคือการประชุมอิหม่าม รวมทั้งสัมมนาศักยภาพฮาลาลไทย ศักยภาพนักธุรกิจฮาลาลและการแสดงสินค้าฮาลาล”

ดร.พงศ์ศักดิ์ เสมสันต์ ที่ปรึกษารมต.วัฒนธรรม กล่าวเปิดงานว่าด้วยความชื่นชมยินดีกับทุกภาคส่วนที่ช่วยผลักดัน พัฒนา ยกระดับผลิตภัณฑ์ของมุสลิม ด้วยความพิเศษของด้านศาสนาและวิทยาศาสตร์ แสดงถึงศักยภาพด้านอาหารฮาลาลที่ตั้งใจให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ให้วิทยาศาสตร์รองรับ ศาสนารับรอง ยกระดับชีวิตที่พี่น้องในชายแดนใต้ให้ก้าวขึ้นสู่ผู้นำการค้าและการท่องเที่ยวฮาลาลในระดับอาเซียนและนานาชาติ

ดร.วินัย ดะห์ลัน
ดร.วินัย ดะห์ลัน

จากนั้นเป็นปาฐกถาพิเศษ “ชายแดนใต้กับการเข้าสู่อาเซียน” โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ซึ่งได้กล่าวถึงบทบาทของดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่มีความสำคัญยิ่งในเวทีโลกในสถานการณ์ไม่ปกติของบ้านเมือง

“สถานการณ์เช่นนี้ทำให้รัฐบาลมองเห็นว่าต้องมีบุคคลที่น่าเชื่อถือในเวทีโลกไปพูดจาแทนรัฐบาลไทย อะมานะห์ (ความรับผิดชอบ) นั้นถูกส่งมายังมุสลิมไทยคือ ดร.สุรินทร์ ท่านไปปฏิสัมพันธ์กับผู้นำ หลายฝ่ายยอมรับว่ากลุ่มคน กลุ่มประเทศที่ให้การสนับสนุนและเคียงข้างเราคือประเทศมุสลิม ท่านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์บอกว่าอียูไม่เอาเราไม่เป็นไรเรายังมีเพื่อนมุสลิมอีกเป็นพันล้านคนบนโลกนี้ เพื่อนที่เราต้องการคือเพื่อนที่แท้จริงในวันที่เศรษฐกิจย่ำอยู่ทั่วโลก จีน ญี่ปุ่น มีปัญหา ถูกตัดออกจากเขตเศรษฐกิจของโลก วันที่เศรษฐกิจโลกตกลงไป 25 เปอร์เซ็นต์ ธุรกิจมุสลิมตกไปแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มประเทศOIC ที่มีสมาชิก 57 ประเทศ มีประชากร 1,300 ล้านคน ล้วนบริโภคอาหารฮาลาลยังมีเพื่อนอีกมากมายบนโลกใบนี้

เรื่องปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกัน คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้มานั่งคุยกันว่า การมาช่วยต้องช่วยในอีกมิติหนึ่ง มิติของศาสนา วัฒนธรรม การกินดีอยู่ดีของพี่น้อง ให้รัฐบาลคุยเรื่องการปกครอง การทหาร จึงคิดว่ากลุ่มที่สามารถคุยกันได้ดีคือ กลุ่มอิหม่าม ตามพรบ.พ.ศ.2540 กฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่มิใช่ประเทศมุสลิมมีเพียงไทยประเทศเดียว มุสลิมไทยเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ของประชากรชาวไทย ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกผู้นำของตนเอง อิหม่ามดูแลในชุมชน เลือกคณะกรรการอิสลามประจำจังหวัด และเลือกตัวแทนไปเป็นคณะกรรมการกลางฯ ผู้แทนเหล่านี้มีประมาณ 60,000 คน มีมัสยิดทั่วไทย 2,700 แห่ง โครงสร้างนี้คือตัวแทนมุสลิมทั้งหมดในไทย ใช้โอกาสนี้มาพูดคุยกับผู้นำ อิหม่ามทุกชุมชน และงบประมาณที่จัดงานครั้งนี้ไม่ได้มาจากภาครัฐ มาจากคณะกรรมการกลางฯ ทั้งหมด”

วงเสวนา
วงเสวนา

รศ.ดร.วินัย กล่าวว่า วัฒนธรรมฮาลาลเป็นตัวเชื่อมต่อกันของทุกคน ฮาลาลมิใช่เฉพาะมุสลิม แต่เพื่อทุกคน อย่าก้าวตามการป้อนข้อมูลที่สับสนเมื่อมีสิ่งใดปนเปื้อน มีความซับซ้อนทางวิทยาศาสตร์ต้องใช้นักวิทยาศาสตร์ จำเป็นต้องสร้างนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเข้าใจของหลักชารีอะฮฺและวิทยาศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน และต้องเป็นมุสลิม

“หากไม่เข้าใจต้องถามผู้รู้คือนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องมาให้คำตอบ หากเกิดปัญหา ตัดสินไม่ถูกต้อง ต้องสร้างนักวิทยาศาสตร์ฮาลาลมุสลิมเพื่อเป็นพยานของอุลามะฮฺในวันกิยามัต ในกุรอ่านมีสิ่งแนะนำในการสร้างบุคลากรขึ้นใหม่ สร้างผู้รู้ขึ้นมา ฮาลาลเป็นความศรัทธา ไม่ใช่ธุรกิจ แต่ธุรกิจนั้นคืออัลลอฮฺตอแทน การสร้างนักวิทยาศาสตร์ฮาลาลไม่ง่าย ต้องมีคน มีทรัพยากร เด็กที่เรียนในคณะวิทยาศาสตร์ที่นี่เป็นมุสลิมทั้งนั้น ต้องหาทาง หาตลาด หาอาชีพให้พวกเขา เป็นโอกาสในการใช้วัฒนธรรมฮาลาลมาใช้ในการขับเคลื่อน เพราะฮาลาลเป็นทุกเรื่องของชีวิตทั้งอาหาร การขนส่ง เสื้อผ้า และอีกมากมาย

มีรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมาปรึกษาว่าไปขายผ้าเบรกรถยนต์ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ได้ทุกปี แต่ปีที่แล้วขายไม่ได้ เขาบอกว่าซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านเราเพราะมีตราฮาลาล ทุกวันนี้เรื่องนี้พิสูจน์ได้ เขาให้ดูเรื่องทุนรอบด้าน อย่างปลาประป๋องจากประเทศไทยเขาบอกว่ามีการใช้แรงงานทาสจากประเทศเพื่อนบ้าน เอาโรฮิงญาไปขาย มีปัญหาเรื่องอุยกูร์ มีเรื่องของศักดิ์ศรีมนุษย์ เกี่ยวข้องกันไปหมด หรือเรื่องบริษัทฮอนด้ามีสวัสดิการให้พนักงานพักให้นมลูกส่งผลให้รถขายดีขึ้น ที่ประเทศเยอรมันหากโรงงานไหนทำให้ปลาตาย วันรุ่งขึ้นแทบปิดโรงงานเพราะคนไม่ซื้อ เพราะเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เติบโตมาจากทุนรอบด้านคือเรื่องศาสนา ผลิตภัณฑ์นี้ช่วยปกป้องศาสนา เป็นความหมายเชิงสัญญะ เป็นเรื่องของจิตวิญญาณที่คำนวณเป็นราคาไม่ได้ แต่แพงที่สุด”

“อยากให้พวกเราส่งลูกหลานมาช่วยกันทำงานด้านวิทยาศาสตร์ ตอนนี้เรากำลังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ทั่วโลก มีงานวิจัยที่น่าสนใจว่า มุสลิมขาดในเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีคนเกิดมา 107,000 ล้านคนบนโลกตั้งแต่สมัยนบีอาดัม คนที่เกิดมาแล้วสร้างประโยชน์แก่โลกมากที่สุดคือ มุฮัมมัด บินมุตอเล็บ มีวิชาเรขาคณิต การคำนวณที่ไปสู่การวางรากฐานทางวิทยาศาสตร์ จนนบีมุฮัมมัดได้สร้างอารยธรรมอิสลาม ให้โลกเอาเรื่องของการคำนวณมาใช้ อิสลามเป็นจุดเริ่มต้นของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ หรือท่านนบีนำเรื่องความสะอาดมาให้คนอาหรับใช้ บอกวิธีการในการบริหารจัดการน้ำ รู้จักการขุดท่อ ระบบประปา นำน้ำจากทะเลทรายเข้ามาในเมือง สร้างระบบเกษตรกรรม วางรากฐานของวิทยาศาสตร์ในยุคนั้น
ตัวอย่างในอินเตอร์เน็ตมีการประมูลกระดาษเล็กๆ สองแผ่น จ่ายไปสองแสนแปดหมื่นเหรียญ เป็นกระดาษคำนวณ ที่นักบินอพอลโลจะกลับมายังโลกไม่ได้เกิดจากเหตุไฟดับ ต้องคำนวณให้แม่น ทำให้ได้ค่าในการปรับยานอวกาศลงมายังโลกได้ เขาได้ใช้สูตรของอิสลามในการคำนวณ เป็นคุณูปการที่มีประโยชน์ รู้จักดวงดาวของอิสลาม อยากให้นำอารยธรรม วัฒนธรรมอิสลามไปใช้ให้เป็นประโยชน์”

“ผมเชื่อมั่นว่า ฮาลาลคือคำตอบ การศึกษาจะเป็นตัวแก้ปัญหาได้ดีที่สุด ดึงออกจากยาเสพติด พ้นจากปัญหาทางการเมือง การปกครอง ให้ก้าวไปสู่แถวหน้า สนับสนุนลูกหลานไปยังการศึกษา ให้ผลักดันในด้านวิทยาศาสตร์ที่ควบคู่กับชารีอะฮ์ เมื่อมองไปทั้งประเทศในการแก้ปัญหาเรื่องการเมือง การปกครอง รัฐบาลชอบมองไปที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ส่วนหนึ่งที่ลืมมองคือ อิหม่าม ซึ่งเป็นทางออกของคนในชุมชน อิสลามเป็นศาสนาของทุกคน ฮาลาลเป็นสะพานเชื่อมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง คนในสามจังหวัดเพิ่มประชากรมากกว่าคนในพื้นที่อื่นถึง 4 เท่า วันนี้ต้องเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และไปยังอาเซียน เป็นศูนย์กลางให้ได้ ขอให้คิดว่าเป็นเรื่องของการดะวะอฺ และฮาลาลเป็นของทุกคน”

รศ.ดร.วินัย กล่าวว่า ฮาลาลนั้นมีความชัดเจนที่อัลกุรอ่านบอกไว้ มีอีกมากมายที่ไม่รู้เรื่อง ซับซ้อน เช่นเรื่องของผงชูรสชนิดหนึ่งผลิตจากมันสำปะหลัง ในกระบวนการผลิตใช้มันสำปะหลังหมักกับแบคทีเรีย ก่อนมาหมักไปเลี้ยงแบคทีเรียที่ทำจากพืชที่ฮาลาล ปัญหามีที่อินโดนีเซียเจอว่า ในการเลี้ยงเชื้อที่จะไปย่อยถั่วเหลืองใช้เอนไซม์บางชนิดจากกระเพาะหมู แต่ตรวจไม่เจอ แต่มุสลิมไม่ยอมรับ อุลามะฮฺที่ตรวจสอบก็สับสน มีหลายขั้นตอน ทั้งที่สามารถใช้กระเพาะจากสัตว์อื่นแทนได้ ที่ถูกกว่านั้นคือใช้แบคทีเรีย เป็นความจำเป็นที่ต้องมีผู้รู้ที่มีความเข้าใจทั้งชารีอะฮฺและวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อไม่มีคนของเราไปนั่งหรือแสดงความคิดเห็น ทำให้คนอื่นไม่เข้าใจ

“ทั้งที่ศูนย์กลางฮาลาลที่ดีที่สุดของมาเลเซียอยู่รัฐยะโฮร์มีเจ้าหน้าที่เขามาหาและปรึกษาว่า มีสองปัญหาคือ1.มาเลเซียมีปัญหาจะทำให้โรงงานและนักวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยทำงานร่วมกันได้อย่างไร2.จะทำอย่างไรให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการศาสนามาทำงานร่วมกัน อยากขอคำแนะนำ ได้ตอบเขาไปว่า ไม่ทราบ หากจากประสบการณ์คือ การเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการอิสลามทำให้มองเห็นการแก้ปัญหานี้ได้

วิธีการที่ดีที่สุดในการช่วยแก้ปัญหาคือส่งลูกหลานมาเรียนทางวิทยาศาสตร์ ช่วยกันดูแลและทำงาน วิทยาศาสตร์โลกก้าวหน้ามาทุกวันมาจากโลกอิสลาม ต้องทวงคืนวิทยาศาสตร์กลับมา อิหม่ามบุคอรีเป็นต้นกำเนิดของนิติวิทยาศาสตร์ เรียนรู้ฮะดีษได้ 600,00 ฮะดีษ ตัดเหลือ 2,600 ฮะดีษ เมื่อหนึ่งพันปีมาแล้วในโลกอิสลาม ในการเรียนตาดีกา เขาเรียนดาราศาสตร์ โดยการก้มลงบนโต๊ะและเงยหน้ามองฟ้าไปด้วยกัน ยืนยันซึ่งกันและกัน อยากเห็นโรงเรียนตาดีกานำสิ่งเหล่านี้มาสอน จะทำให้อิสลามกลับมาสู่ความเป็นใหญ่ได้อีกครั้ง” รศ.ดร.วินัย กล่าว