หน้าแรก รายงาน

งานเย็บฝีมือคุณภาพจาก แฮนด์ อิน แฮนด์ อ.รามัน จ.ยะลา

จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย ภาคธุรกิจชะลอตัวลงเป็นจำนวนมาก พี่น้องมากชีวิตประสบกับปัญหาว่างงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นความสำคัญในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนขยายฐานการผลิตในพื้นที่ เกิดเป็นโครงการอุตสาหกรรมเพื่อการสร้างงานที่ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ“โครงการแฮนด์ อิน แฮนด์”(Hand in Hand) เพื่อบรรเทาปัญหาการว่างงานของประชาชน และสร้างงานฝีมือเพิ่มขึ้น

IMG_5214โครงการแฮนด์อินแฮนด์ เป็นโครงการที่มีแนวคิดในการเชื่อมโยงระหว่างความต้องการแรงงานของภาคอุตสาหกรรม กับปัญหาการว่างงานในพื้นที่ จากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐจะเป็นหน่วยงานหลักในการเตรียมความพร้อมด้านปัจจัยพื้นฐานในการสนับสนุนการผลิต ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาฝีมือแรงงานแก่ประชาชนที่ต้องการเข้ามาเป็นพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนภาคเอกชนสนับสนุนด้านการตลาด ด้านต้นทุนการผลิต และการบริหารจัดการในโรงงานโดยเน้นอุตสาหกรรม 3 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องเรือน และอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม โดยเมื่อปี 2552 ในระยะเริ่มแรกของโครงการได้จัดตั้งโรงงานนำร่องเป็นโรงงานแห่งแรกของพื้นที่ซึ่งใช้ชื่อว่า โรงงาน Hand in Hand ขนาดกว่า 1,500 ตรม. ซึ่งมีการวางผังระบบเครื่องจักรที่ทันสมัยเพื่อผลิตเครื่องนุ่งห่ม อาทิ เสื้อยืดแขนสั้น/แขนยาว เสื้อกล้ามชาย และเสื้อกีฬา เป็นต้น ตลอดจนอบรมพัฒนาทักษะในด้านการตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส โดยสถานที่ตั้งมีความเหมาะสมทั้งในด้านการคมนาคมที่สะดวกสบายทั้งสถานีรถไฟรือเสาะและสนามบินจังหวัดนราธิวาส จึงทำให้โรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูป Hand in Hand มีออร์เดอร์อย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น เนื่องด้วยระบบการผลิตที่ทันสมัย และบรรยากาศการทำงานที่ผสมผสานระหว่าง 2 วัฒนธรรม เข้าด้วยกันทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม

จากความสำเร็จดังกล่าวจึงได้มีการขยายโครงการและเปิดโรงงานเพิ่มขึ้นใน อ.รามัน จ.ยะลา และ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ทำให้มีโรงงาน Hand in Hand จำนวน 3 โรงงาน สามารถช่วยสร้างงานให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้กว่า 500 คนเกิดการกระจายรายได้แก่ภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 120 ล้านบาทรวมทั้งมีเงินหมุนเวียนในพื้นที่กว่า 50 ล้านบาท

“ช่วงแรกเราล้มลุกคลุกคลานในการวิ่งหาออเดอร์ แต่ตอนนี้มีออเดอร์มาหาถึงโรงงาน เป็นริสกีที่ประทับใจมาก” สิริจิต มหัศนียนนท์ หนึ่งในสี่หุ้นส่วนสำคัญของโรงงานแฮนด์ อิน แฮนด์ อ.รามัน จ.ยะลา บอกเล่าถึงความรู้สึกในการบริหารโรงงานแห่งนี้

สิริจิต มหัศนียนนท์
สิริจิต มหัศนียนนท์

โรงงานแฮนด์ อิน แฮนด์ อ.รามัน จ.ยะลา เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งก่อนหน้าที่สิริจิตจะเข้ามาร่วมทุนในกิจการแห่งนี้ อับดุลเราะห์มาน เจ๊ะดีรอกี อิมรอน เส็นหลีหมีน ยุสรี กอดีรีย์ คือสามหนุ่มที่รวมตัวกันบริหารมาก่อนและชักชวนสิริจิตเข้ามาร่วมทุนเป็นหุ้นที่สี่เพราะเธอมีประสบการณ์ชำนาญด้านการทำเสื้อผ้าจากโรงงานที่กรุงเทพฯ
“อยากให้ชาวบ้านมีรายได้ คนที่มาทำงานคือคนในพื้นที่ได้ไปมาสะดวก เดิมโรงงานนี้เป็นโรงงานที่เคยผลิตกางเกงในเจเพรส มีเครื่องจักรบางตัวที่ยังใช้ได้ มาผลิตชุดกีฬา เราลงทุนค่าแรง ค่าผ้า ค่าน้ำ ค่าไฟ เครื่องจักรบางตัวที่จำเป็นต้องซื้อใหม่ ส่วนอย่างอื่นไม่ต้องลงทุนอะไร ในการจ้างงานมีทั้งรายวัน รายเดือน รายเหมา ซึ่งรายเหมาคือจ่ายตัวต่อตัว โดยทีมงานเย็บจะจ้างเป็นรายเหมา ถ้าขยัน เย็บได้เยอะ รายได้ก็จะเยอะตาม บางคนที่เรียนรู้ช้าก็จะออกไปเองเพราะทีมงานจะบีบเขา มีการเตือนกัน ว่างานไม่ออก เมื่อทำงานเร็ว เงินได้เยอะ ก็เป็นผลดีกับทุกฝ่าย ใครที่เก่งพิเศษและชำนาญในการ เจาะคอ เจาะกระเป๋า เจาะโปโล ก็เอางานไปทำที่บ้านได้ เป็นรายได้พิเศษอีกทาง หรือคนที่ทำงานที่โรงงานไม่ได้ก็รับงานไปทำที่บ้านได้ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน”

“ตอนนี้เรามี 2 ไลน์ ไลน์ละ 5-6 คน มีหัวหน้าไลน์ละ 1 คน ดูแลทุกขั้นตอน มีจักรเข็มเดี่ยว จักรโพ้ง จักรลา บริการได้ทุกรูปแบบการตัดเย็บ หากที่ถนัดสุดคือ เสื้อกีฬา และกำลังพัฒนาขยายในการตัดเย็บรูปแบบต่าง”

ในด้านราคาของการผลิตนั้น สิริจิตบอกว่า ราคาการผลิตใกล้เคียงกับโรงงานจากกรุงเทพฯและหาดใหญ่ คุณภาพงาน 80 เปอร์เซ็นต์ ถ้างานมีแบรนด์ ประกันคุณภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ ยอดสั่งแต่ละครั้ง 100 ตัวขึ้นไป เสื้อโปโลพร้อมปักและสกรีน ราคาตัวละไม่เกิน 250 บาท ถ้าปักเยอะก็ไม่เกิน 270 บาท เสื้อกีฬาสีพร้อมสกรีน ราคาตัวละไม่เกิน 120 บาท

“จุดเด่นของ โรงงานเราคือ ตามงานได้เร็ว ติดต่องานได้สะดวก เสื้อไม่ครบเพียงตัวเดียวก็สามารถตามให้ได้ แจ้งงานล่วงหน้า เริ่มเมื่อไหร่ เสร็จตอนไหน จะต้องตามเวลาที่ตกลงกัน ไม่ใช่ว่าสั่งแล้วต้องเสร็จภายในหนึ่งอาทิตย์ ต้องรันไปตามคิวของลูกค้าตามลำดับ”

ยอดออเดอร์ในปัจจุบันเธอบอกว่า มีโรงานเรียนสอนศาสนาอิสลามหลายแห่งต้องการให้ทางโรงงานรับยอดการผลิตเครื่องแบบ ชุดประจำถิ่น ชุดกีฬาทั้งระบบเพื่อสะดวกในการตามงาน ซึ่งต้องเปลี่ยนไปตามแต่ละรูปแบบของแต่ละที่ จากการขึ้นตัวอย่างจริงทำให้รู้ว่า กางเกงเป็นส่วนที่เย็บได้เร็ว ส่วนเสื้อมีรูปแบบเยอะตามความยากง่าย จึงต้องเพิ่มบุคลากรในการรองรับการผลิตตรงนี้

“ณ ตอนนี้พอใจมากกับผลประกอบการที่เป็นอยู่ พอใจกับฝีมือของกำลังการผลิต เมื่อมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นก็จะเพิ่มไลน์การผลิตและเครื่องจักรตัวใหม่ ซึ่งต้องฝึกให้คนมาใหม่มีความชำนาญก่อนจึงจะป้อนงานให้”

รอสุนี มะยีนิ หัวหน้าไลน์ชาวอ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เธอขับรถไป-กลับรือเสาะ-รามัน ทุกวันในการมาทำงานที่โรงงาน รอสุนีมีประสบการณ์การทำงานจากโรงงานแฮนด์ อิน แฮนด์ อ.รือเสาะ มาแล้ว เมื่อมาเป็นหัวหน้าไลน์ที่นี่เธอต้องรับผิดชอบในทุกขั้นตอนของการตัดเย็บและเทคนิคต่างๆ

“ทำงานที่โรงงานรือเสาะมา 8 เดือน แล้วมาทำงานที่โรงงานนี้ตั้งแต่ยังผลิตกางเกงในเจเพรส จากนั้นทำต่อของแฮนด์ อิน แฮนด์ ต้องดูแลและรู้เรื่องในทุกขั้นตอนของการผลิต ตั้งเป้าต่อวัน ตรวจสอบคุณภาพก่อนถึงมือคิวซี และสอนเทคนิคในการตัดเย็บแก่ลูกทีมในไลน์ 12 คน อย่างเช่นเสื้อโปโลของม.ราชภัฎยะลา ตั้งเป้าว่า 1 คนต่อ 8 ตัว ต่อวัน”

กว่าจะมาเป็นเสื้อโปโลหนึ่งตัวที่สวมใส่กัน รอสุนีบอกว่า มีหลายขั้นตอน ตั้งแต่ ผ้าชิ้นหน้า ต่ออะไหล่ เจาะคอ ติดกระเป๋า ต่อไหล่ หน้า-หลัง ใส่ปก ใส่แขน โพ้งข้าง สาบโปโล ผ่าข้าง ย้ำปลายแขนเก็บด้าย เย็บปิดสาบ ต่อชิ้นหลัง ลงชายหน้าหลังด้วยจักรเฉพาะ ใครถนัดเย็บชิ้นส่วนไหนก็จะส่งไปตามความถนัด เพื่อความละเอียด ปราณีตและความรวดเร็วในการผลิต

อัสนี ดาหามิ พนักงานตัดเย็บซึ่งเป็นคนในพื้นที่บอกว่า ทำงานได้สามเดือนกว่า มีรายได้เป็นที่พอใจ สมดุลกับรายจ่ายที่ต้องเลี้ยงดูลูกอีกคน และได้ทำงานใกล้บ้าน ไม่ต้องไปทำงานหรืออยู่ที่ไกลจากบ้าน

จากเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจกลับมาลงทุนในพื้นที่ และคาดหวังให้พื้นที่แห่งนี้เป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งเน้นและผลักดันให้เกิดธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจชุมชน เพิ่มโอกาสในการจ้างงาน และการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับประชาชน

แฮนด์ อิน แฮนด์ ทุกที่คือความหวัง คือพลังที่จุดประกายแก่หลายชีวิตให้มีหวัง และมีชีวิตอยู่ได้ไปด้วยความจริง พร้อมศักยภาพและคุณภาพที่เป็นที่ยอมรับของสังคม