“เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้” ร่อนแถลงการณ์จี้รัฐบาลทอปบู๊ตหยุดแทรกแซง คืนเสรีภาพทางวิชาการและจิตวิญญาณมหาวิทยาลัย พร้อมจี้ฉีกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 37/2560 เรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (10 ส.ค.) เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “หยุดแทรกแซง คืนเสรีภาพทางวิชาการและจิตวิญญาณมหาวิทยาลัย” โดยเนื้อหาในแถลงการณ์มีดังนี้ ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๓๗/๒๕๖๐ เรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา โดยใช้อำนาจตามความในมาตรา ๒๖๕ ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว พ.ศ.๒๕๕๗) โดยอ้างว่า
“การบริหารงานของสถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา มักปรากฏปัญหาการได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้บริหาร ทำให้การบริหารงานของสถานศึกษาต้องหยุดชะงัก ไม่สามารถขับเคลื่อนสถานศึกษาได้อย่างเป็นระบบ ขาดความต่อเนื่อง และเกิดความล่าช้าในการบริหารงานที่สำคัญหลายกรณี ส่งผลให้การดำเนินการเพื่อปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในการปฏิรูปประเทศตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ไม่อาจบรรลุผลสำเร็จลงได้”
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคใต้ มีความเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการอ้างปรากฏการณ์เพียงบางส่วนของมหาวิทยาลัยมาใช้แบบ “เหมารวม” เพื่อควบคุม กำกับและแทรกแซงอำนาจทางการบริหาร ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยสูญเสียความเป็นอิสระ ขาดเสรีภาพทางวิชาการ และการเป็นสถาบันที่เป็นฐานที่มั่นสำคัญในการสร้างปัญญาของสังคม
รวมถึงการทำให้มหาวิทยาลัยตกเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจทางการเมือง อันจะทำให้เกิดการสูญเสียศักดิ์ สิทธิ์ และเป็น “พิษร้ายทำลายจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัย” ในอนาคต
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคม และองค์กรชุมชนภาคใต้ จึงขอเรียกร้องให้ “ยกเลิก” คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๓๗/๒๕๖๐ เรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา รวมถึง “หยุดการแทรกแซงมหาวิทยาลัยในทุกรูปแบบ” โดยทันที
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ตระหนักดีว่า มหาวิทยาลัยต้องเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับ มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่พึ่งของสังคมได้อย่างแท้จริง มหาวิทยาลัยจึงควรจะเร่งปฏิรูปตนเอง ด้วยพลังการมีส่วนร่วม การตรวจสอบ และการถ่วงดุลภายในทุกระดับ รวมถึงการเปิดพื้นที่เพื่อสร้างพันธกรณีให้มหาวิทยาลัยยึดโยง และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคม ชุมชน ท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ที่มา: www.manager.co.th
ภาพจาก: Postoday