เด็กๆ และเยาวชนนับพันคนร่วมงานมอ.วิชาการ 58 สนุกสนานพร้อมเรียนรู้วิชาการกับหลากหลายกิจกรรมสร้างสรรค์ นักศึกษาและบุคลากรต่างทุ่มกำลังเพื่อความสุขของทุกคน
ระหว่างวันที่ 18-19 สิงหาคม 2558 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) กิจกรรมดีๆ ถูกคัดสรรมานำเสนอ สาธิต และให้ร่วมทำกิจกรรมกันมากมายกับ ม.อ.วิชาการและวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2558 บรรดาครูอาจารย์จากโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ต่างนำลูกศิษย์น้อยใหญ่มาร่วมชม เรียนรู้ และร่วมกิจกรรมกันอย่างถ้วนหน้านับพันคน
บูทของ Pattani retweet+ เป็นอีกกิจกรรมที่น่าสนใจ ณ อาคารเรียนรวมหลังใหม่(อาคาร 58) ด้วยการนำเสนอภาพถ่ายและถ้อยคำผ่านการเรียงร้อยเป็นหนังสือเล่มเก๋ สะดุดตาและหยักสมองด้วยปกเป็นภาพเด็กผู้หญิงที่ต้องการสื่อสารและส่งเสียงจากพื้นที่ออกไปสู่สังคม
แม้เสียงอื่น
จะดังกลบเสียงแห่งความงาม
ในบ้านของเรา
…
แต่โปรดรับรู้ไว้เถิดว่า
เสียงที่คูณยังไม่เคยได้ยิน
ภาพที่คุณยังไม่เคยเห็น
ใช่ว่ามัน จะไม่มีอยู่จริง
จากความคิดเล็กๆ ที่อยากสะท้อนภาพและเรื่องราวอันงดงามในพื้นที่แห่งนี้ อาจารย์และศิษย์เก่ากลุ่มหนึ่งของม.อ.ปัตตานี รับสมัครนักศึกษาที่ชอบการถ่ายภาพและเขียนคำทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษามลายูมาเรียนรู้ร่วมกัน รวมทั้งลงพื้นที่ถ่ายภาพ จนก่อเกิดเป็นหนังสือเล่มเล็กนี้คือ Pattani retweet และ Pattani retweet+
อัจนา วะจิดี บรรณาธิการภาษาไทยและอังกฤษ บอกกล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่า เป็นเรื่องราวที่ไม่ได้ “tweet” ขึ้นใหม่ แต่เป็นการ “retweet”เรื่องราวที่มีอยู่แล้ว และเป็นเรื่องราวที่มีอยู่จริงให้สังคมได้รับรู้
“จากการจัดนิทรรศการมาครั้งหนึ่งในงานมอ.วิชาการปี 2557 เพื่อการปรับความเข้าใจและสร้างทัศนคติด้านบวกของคนนอกพื้นที่ที่มีต่อชายแดนใต้ จึงเกิดนิทรรศการ Pattani retweet และการสานสุขเสวนา “ความงามในความหลากหลาย” ขึ้น
Pattani retweet+ ครั้งนี้เป็นเล่มบาง จับง่ายขึ้น ได้รับการตอบรับที่ดี จากการไปจัดสานสุขเสวนาที่เชียงใหม่ ขอนแก่นและกรุงเทพมหานคร มีคนมาร่วมงานและได้รับการตอบรับที่น่าดีใจ เช่นที่มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ ได้รับความสนใจมากทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ มีชาวต่างชาติสนใจ เขาบอกว่าได้รับรู้อีกมุมหนึ่งของบ้านเราที่ต้องมาสัมผัสเองถึงจะรู้ มีชาวมินดาเนาจากฟิลิปปินส์บอกว่า ประสบปัญหาเดียวกัน ทำให้เข้าใจชายแดนใต้ เห็นคุณค่าในงานที่ทำ หรือที่เชียงใหม่ได้มุมมองหลากหลายมาเสวนาแลกเปลี่ยนกัน”
ฮากิม บินบูละ หนึ่งในนักศึกษาทีมภาพ บอกถึงความประทับใจในการออกไปสานสุขเสวนากับเพื่อนในต่างถิ่นว่า
“เขาบอกว่าเมื่อพูดถึงปัตตานี นึกถึงแต่ระเบิด เสียงปืน เผาโรงเรียน เมื่อมาเข้าร่วมในการเสวนาจึงได้เห็นในอีกมุมมองของพื้นที่บ้านเรา เห็นวิถีชีวิตปกติ อาหารการกิน ความเรียบง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยได้รับรู้หรือเห็นมาก่อนจากสื่อที่นำเสนอแต่ข่าวความสูญเสีย เลือดและระเบิด ชาวต่างชาติบอกว่า ถ้ามีโอกาสอยากลงมาในพื้นที่เพื่อสัมผัสความจริง”
“เราถ่ายทอดมุมมอง ความรู้สึกที่แม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ แต่เชื่อว่าสามารถทำให้คนข้างนอกได้เข้สาใจและมีความรู้สึกดีกับความสวยงามที่อยู่ในบ้านของเรา การที่เราสื่อสารผ่านหนังสือแล้วมีผลตอบกลับ เป็น retweet กลับมาว่ารู้สึกอย่างไร คือผลสำเร็จของงานนี้ ซึ่งตอนนี้ได้วางจำหน่ายตามร้านหนังสืออิสระ”