พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ เรื่อง “การศึกษาอิสลาม พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” โดยมีผู้นำประเทศ ผู้นำศาสนาและนักวิชาการด้านอิสลามศึกษาจาก 37 ประเทศ ประมาณ 500 คน เข้าร่วมสัมมนา ณ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) เมื่อวันที่ 24 กรกฏาคม2560 ที่ผ่านมา
พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวในการเปิดการประชุมว่า นับเป็นโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกคนที่จะได้ร่วมกันแสดงพลังในการเผชิญกับอุปสรรคที่ท้าทายยิ่งของการจัดการศึกษาอิสลามในยุคปัจจุบัน ด้วยพลังของปราชญ์นักวิชาการจะทำให้สามารถพัฒนาและจัดการศึกษาอิสลามที่สอดคล้องกับหลักการสายกลาง ที่มีดุลยภาพ มีเป้าหมายเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
“การสัมมนาในครั้งนี้เป็นการเปิดเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดอิสลามศึกษาที่หลากหลาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เป็นการเปิดพื้นที่ในการกลั่นกรองประสบการณ์จากสังคมมุสลิมและสังคมไม่ใช่มุสลิม เพื่อให้ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาและสนับสนุนความสันติภาพให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นสนามของการสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มุมมอง ที่เกี่ยวกับการศึกษาอิสลามและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างสังคมที่แตกต่าง บนฐานอิสลามสายกลาง ความสมดุล อยู่บนบริบทที่เป็นจริง และการบูรณาการระหว่างการสอนและการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิธีการแสวงหาความรู้ร่วมสมัย”
พลเอกสุรยุทธ์ กล่าวด้วยความหวังว่า สถาบันการศึกษาและนักวิชาการ จะสามารถเผยแพร่ค่านิยมสูงสุดที่กล่าวถึงข้างต้น วัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันและสันติสุขที่ยั่งยืน
“อุปสรรคของสันติสุขของโลกใบนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากอิสลาม แต่เป็นความพยายามของขบวนการที่มีแนวคิดที่สุดโต่ง ใฝ่หาความรุนแรง การขาดความอดทนอดกลั้น และพันธมิตรความสุดโต่งเหล่านั้น ความพยายามในการแพร่ขยายแนวคิดดังกล่าวนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับอิสลาม และไม่สอดคล้องกับความคิดที่แท้จริงของมุสลิมอีกหลายพันล้านคนในโลกนี้แต่ประการใด” พลเอกสุรยุทธ์ กล่าว
พลเอกสุรยุทธ์ ย้ำว่าในการสร้างสันติสุข ความสามัคคีปรองดอง ต้องละทิ้งความคิดที่ว่าศาสนาอื่น ไม่ได้มีความต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพแต่อย่างใด ในความเป็นจริง ขอเรียกร้องให้ผู้นำศาสนาของทุกศาสนายืนอยู่บนหนทางแห่งความสันติสุขร่วมกันกับเพื่อมนุษย์ทุกคน ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องร่วมมือกันเพื่อเป็นหลักประกันว่าศาสนาเป็นแหล่งของการเยียวยา ความดีงามและเป็นสิริมงคลมากกว่าความขัดแย้งและการทำลาย
ในการประชุมวิชาการครั้งนี้มีการนำเสนอบทความจากผู้นำประเทศมุสลิมและนักวิชาการอิสลามศึกษาที่มีชื่อเสียงอาทิ เชคอุมัรอุบัยดฺ ฮาซานะฮฺ อธิบดีกรมการวิจัยและอิสลามศึกษา กระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม ประเทศกาตาร์ เชคอับดุลการีม ฆอศอวะนะฮฺ ประธานศาลฎีกาสูงสุด ประเทศจอร์แดน ดร.มุหัมมัด อะฮฺมัด มุซัลลัมอัล-คอลัยละฮฺ ผู้นำสูงสุดในศาสนาอิสลาม ประเทศจอร์แดน ดร.อะหมัด บิน หะมัด ญีลาน ที่ปรึกษา เลขาธิการองค์กรสันนิบาตมุสลิมโลก ประเทศซาอุดิอารเบีย ดร.อับดุลอาซีซ อุสมาน อัล-ตูวัยญีรีย์ อธิบดีองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอิสลาม ราชอาณาจักรโมร็อกโก ศ.ดร.กุฏุบ มุสฏอฟา ซาโน รัฐมนตรีประจำสำนักนายก สาธารณรัฐกินี ดร.ซอและฮฺ สุลัยมาน อัล-วูฮัยบีย์ เลขาธิการสภายุวมุสลิมโลก ประเทศซาอุดิอารเบีย ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษาผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี เป็นต้น