หน้าแรก รายงาน

ม.ราชภัฎยะลา สร้างแลนมาร์คใหม่กลางเมืองยะลา

ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา

มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา(มรย.) ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการเป็น มหาวิทยาลัยแห่งคลังปัญญาชายแดนใต้ เป็นฐานทัพใหญ่ที่จะเป็นที่พึ่งของพี่น้องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกมิติ ที่จะได้รับการพัฒนาและนำไปบูรณาการในส่วนที่นำไปปฏิบัติจริง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์และแผนพัฒนาที่จะนำพามรย.ไปสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งคลังปัญญาชายแดนใต้” (The WISDOM Bank University) ว่า

“มรย.มีปรัชญาที่ชัดเจนคือ การเปิดโอกาสทางการศึกษา หากไม่ได้มองมิติทางการศึกษาอย่างเดียว แต่มีมิติทางสังคม มิติทางความมั่นคง พร้อมที่จะใช้ปรัชญาหรือความคิดที่แตกต่างกันคือ จะต้องรับใช้สังคม พัฒนาให้อยู่ในระบบอยู่ในความถูกต้อง กระบวนการหรือใช้ความรู้สามารถไปต่อยอดในวิชาชีพอื่นๆ ได้ เป็นสิ่งที่มรย.เน้นย้ำมาตลอดว่าคนดีจะตอบโจทย์ให้สังคมพื้นที่ได้ จึงมุ่งหวังพัฒนาให้เด็กเป็นคนดีให้ได้ เน้นครบทุกมิติ ตอบโจทย์สังคมที่นำไปสู่ความสันติสุข ความสงบและสันติภาพ”

“ขณะนี้มรย.เป็นฐานทัพทางปัญญาที่ยิ่งใหญ่ เรามีบุคลากรร่วม 600 ชีวิต ทั้งคณาจารย์และบุคลากรฝ่ายสนับสนุนต่างๆ ถือเป็นคลังปัญญาที่มาก มีนักศึกษาร่วมหมื่นคน ซึ่งคนเหล่านี้ถือเป็นคลังปัญญาทั้งสิ้น สามารถเข้าไปหนุนเสริมและสนับสนุนเชิงวิชาการแก่พี่น้องประชาชนได้ เป็นพลังหลักเมื่อนักศึกษาจบเข้าไปและไปทำงานในหมู่บ้านและตำบลในอนาคต มีห้องแล็บ อาคารสถานที่ สื่อ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ยิ่งใหญ่มาก มีห้องประชุมขนาดใหญ่ ซึ่งมั่นใจว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นี่ดีที่สุด จุคนได้ 400-500 คน มีหอประชุมจุคนได้ 1,800 คน หรือ 1 พันคนถึง 2 หอประชุมด้วยกัน มีโรงหนังที่พัฒนาภาษาศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ศูนย์หนังสือที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีที่นี่ที่เดียวในพื้นที่สามจังหวัด มีธนาคารมหาวิทยาลัยซึ่งดำเนินการโดยนักศึกษาเป็นแห่งแรกของประเทศไทย”

“นอกจากนี้ทางมรย.ยังมีศูนย์ฝึกอบรม แล็บคอมพิวเตอร์ และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือห้องแล็บทางวิทยาศาสตร์ฮาลาล กำลังต่อสู้เรื่องงบประมาณที่จะจัดซื้อเครื่องมือแล็บ และรวบไปถึงกำลังจะรื้อฟื้นโรงแรมในมหาวิทยาลัย และโครงการอื่นๆ มากกว่า 59 โครงการ ล่าสุดได้มีการมาคุยเรื่องโซล่ารูฟ ซึ่งเป็นทีมงานของมูลนิธิร่มเกล้าพัฒนาเยาวชน และมูลนิธิภูมิพลังแผ่นดิน กำลังจับมือกันทำการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นโครงการใหญ่มาก ในเบื้องต้นภายใน 1 ปีต้องแล้วเสร็จ โดยอาจารย์และนักศึกษาร่วมกันทำวิจัย ใช้ฐานของมหาวิทยาลัยเป็นตัวตั้งที่จะมาร่วมกันพัฒนากับมูลนิธินี้และร่วมกับอีก 1 บริษัทเพื่อจะผลิตพลังงานไฟฟ้า โซล่ารูฟ ตรงนี้น่าจะเป็นมิติใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่มีการทำเรื่องนี้”

ด้วยอัตลักษณ์และประสิทธิภาพของนักศึกษามรย.ที่ต้องมี และทางสถาบันการันตีจาก เก่งไอที มีจิตอาสา สู้งาน สื่อสารภาษามลายูกลางได้ เป็นสิ่งที่อธิการบดีมรย.กล่าวว่านักศึกษาทุกคนต้องตระหนักและทำให้ได้

“ในส่วนของอัตลักษณ์ถือว่าไปไกลมากแล้วเรื่องของเก่งไอทีกับภาษามาลายู มีการอบรมในช่วงปิดเทอมซึ่งนักศึกษาจะถูกทดสอบก่อนเข้าเรียนและก่อนออก ต้องผ่านเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ถ้าไม่ผ่านต้องมาเรียนซ้ำ ไม่มียกเว้น ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมและพุทธ เพราะทุกอย่างเป็นอัตลักษณ์ เรื่องการสู้งานในปีนี้นักศึกษาทุกคนต้องเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับอาชีพ 2 อาชีพ ซึ่งได้ประสานกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งสามจังหวัดซึ่งตอนนี้เราได้ข้อมูลมาเกือบทั้งหมดแล้ว เด็กราชภัฏทุกคนต้องเรียนเกี่ยวกับอาชีพ เพราะปัญหาของอุดมศึกษาในหลักสูตรต่างๆ ที่เรียนวิชาการแต่ปฏิบัติไม่ได้ ประกอบอาชีพไม่ได้ จึงต้องเสริมเรื่องอาชีพให้เด็กโดยให้เลือกอาชีพที่ชอบแล้วไปเรียน 2 อาชีพ เป็นหลักสูตร 50 ชั่วโมงเป็นต้นไป ซึ่งเด็กทุกคนต้องมีใบรับรองหลักสูตรนี้มา ไม่มีก็ไม่จบ จะเป็นหลักสูตรที่ทางมหาวิทยาลัยได้เลือกไว้และให้นักศึกษาเลือกเรียน 2 หลักสูตร เพื่อที่จะให้รู้ว่าการทำงานยากและเหนื่อยขนาดไหน ฝึกการวางแผนไปในตัว

ในเรื่องของการให้ทุน ต้องนำงานหรือทำงานมาแลกกับทุน พยายามให้เด็กรู้จักการอดทนในการทำงาน ซื่อสัตย์และขยัน ทุกทุนที่มหาวิทยาลัยได้มาจะให้นโยบายว่าต้องให้แบบนี้เอาการทำงานมาแลกทุนถือว่าเป็นการฝึกเด็ก อย่าให้เด็กอายในเรื่องของการทำความดี ทำอาชีพที่สุจริต ให้คิดว่าเป็นเรื่องที่ทำแล้วได้เงิน และยังถือว่าเป็นการสู้งาน ไม่อยากให้เลือกงาน และมีทรานสคริปต์ให้ นอกจากเรียนในหลักสูตรวิชาการแล้วยังจะมีทรานสคริปต์เกี่ยวเรื่องการทำงานและการทำความดีอีกด้วย ซึ่งตอนนี้มีโครงการธนาคารความดี บวกกับเด็กทุกคนมีมือถือ จะให้ออนไลน์ผ่านเข้ามาในโปรไฟล์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งแต่ละคนจะมีช่องของตัวเองหรือช่องทางของตัวเอง มีแบบฟอร์มให้นักศึกษาส่งผ่านมือถือมาได้เลย พอเข้าไปก็จะบันทึกความดีไปเลย ซึ่งความดีนั้นทำได้ทุกที่ ถ่ายรูปแล้วนำขึ้นได้เลย เมื่อจบจะมีทรานสคริปต์ให้อีกด้วย ซึ่งมั่นใจว่า 3 ทรานสคริปต์คือ ทรานสคริปต์วิชาการ ทรานสครปต์ความดี และทรานสคริปต์อาชีพนั้นมีที่เดียวในโลกไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย กล้าการันตีในการมีอาชีพ มีวิชาการและมีความดี เพราะสิ่งเหล่านี้คือการพัฒนาเด็กตามพระราชดำริของในหลวงไม่ได้เป็นเรื่องที่ไกลตัว เมื่อไปสมัครงานที่ไหนก็จะได้เปรียบคนอื่น เพราะว่าการวิจัยการสำรวจเจ้าของผู้ประกอบการต่างๆ ว่าต้องการบัณฑิตลักษณะไหนระหว่างเก่งกับดี คำตอบ 90 เปอร์เซ็นต์ต้องการเด็กดี เพราะคนเก่งสามารถฝึกได้ ต่อให้รับเด็กไม่เก่งมาก็สามารถฝึก 3-6 เดือนก็เป็นคนเก่งแล้ว แต่ถ้ารับคนไม่ดีมา ไม่มีเครื่องมือไหนที่สามารถทำให้เด็กคนนั้นเป็นคนดีได้ ฉะนั้นสู้เอาเด็กดีมาพัฒนาดีกว่า เพราะสามารถเก่งได้ ตอนนี้ยังไม่มีเครื่องมือไหนที่ทำให้คนไม่ดีมาเป็นคนดีได้ ซึ่งอาจจะมีแต่ก็ยากเพราะต้องใช้เวลา ฉะนั้นเอาเด็กดีมาพัฒนาดีกว่าเอาเด็กเก่งมาแล้วพัฒนาความดี ซึ่งถือว่ายากมาก

อธิการบดีกล่าวถึงแนวคิดในการพัฒนาบุคลากรด้านครุศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยมานานว่า

“ทุกวันนี้เห็นคุณภาพทางการศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตกต่ำกว่าที่อื่นในประเทศไทยหมาย ในฐานะที่เราเป็นหน่วยฝึกหัดครู กระบวนการที่จะทำให้มีคุณภาพหรือไม่ คือ เด็ก ครู หลักสูตร และผู้ปกครอง แต่ปัจจัยที่คิดว่าสำคัญค่อนข้างมากและมากที่สุดด้วยซ้ำคือ ครู ถ้าเกิดปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างนี้คือคุณภาพในการศึกษาต่ำและเราเป็นหน่วยผลิตนั้นเราปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ จะไปโทษผู้ปกครองและเด็ก หรืออนุบาลสอนไม่ดีประถมก็โทษไป พอมามัธยมก็ไปโทษประถม พออุดมศึกษาก็โทษมัธยม ไล่กันเป็นงูกินหางยังไงก็ไม่มีวันจบ สุดท้ายก็มาโทษราชภัฏ เพราะราชภัฏเป็นหน่วยผลิต ผลิตยังไงทำให้เด็กไม่มีคุณภาพ

กระบวนการที่ยิ่งใหญ่และสำคัญนั้นคือครู ต้องยอมรับว่าวันนี้เรายังผลิตครูได้ไม่ตรงกับบริบทของท้องถิ่น ถ้าเราไม่เปิดใจและเรายังไม่ใช่คนผิดมันก็ยังจะไล่ไปเรื่อย เมื่อเรายอมรับว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหานี้คือเกิดจากเราส่วนหนึ่งที่สำคัญเพราะเราเป็นวิทยาลัยครู ตอนนี้จึงมีแนวคิดในการผลิตครูใหม่โดยใช้หอพัก คือเด็กที่เรียนคุรุศาสตร์ทั้งหมดต้องอยู่หอพักตั้งแต่ปี 1- 4 ตอนนี้เริ่มโครงการนี้แล้ว โดยให้นักศึกษาพักอยู่หอในมหาวิทยาลัย เรียกว่า extra time หรือ เวลาพิเศษ เด็กอยู่หอ 4 ปี คำนวณคร่าวๆ นอกจากเวลาเรียน 8:30 น. – 16:30 น. ซึ่งหลังเลิกเรียน รวมเวลาตั้งแต่เช้า เลิกเรียน เสาร์-อาทิตย์ นั้นจะได้ 4,500 ชั่วโมง จะใส่ระเบียบ ใส่จริยธรรม ใส่คุณธรรม ครูมืออาชีพ ใส่เรื่องจิตวิญญาณ ซึ่งตุลาคมนี้จะเริ่มมีการก่อสร้างหอพักความจุประมาณ 2,000 คน โดยใช้ระยะเวลา 3 ปี ตอนนี้ได้ทดลอง extra time กับหนึ่งห้องเรียน 30 คน ให้อยู่หอพักภายในไปก่อน ให้ลักษณะของหอมาเป็นตัวพัฒนาครู ถ้าโครงการนี้สามารถพัฒนาได้ก็สามารถที่จะผลิตครูได้ดีไม่แพ้ที่อื่นแน่นอน เพราะ 4,500 ชั่วโมงนั้นถือว่าเยอะมาก ได้เรื่องวินัย การปฏิบัติศาสนกิจ อ่อนวิชาอะไรก็นำอาจารย์มาสอนเพิ่มเติม สอนเทคนิคการสอน สอนการรอบรู้ในพื้นที่หรืออะไรต่างๆ ที่เขาต้องการ เสริมระเบียบวินัย จริยธรรมคุณธรรมมาพร้อม เพราะครูเป็นโจทย์ใหญ่ที่เราต้องพัฒนา”

สำหรับโครงการใหญ่ที่มรย.กำลังดำเนินการคือ YRU PLAZA เพื่อเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของเมืองยะลานั้น อธิการบดีมรย.กล่าวว่า

“ช่วงเย็นทางด้านหลังราชภัฏจะมีรถเข็นมาขายของ ไม่มีความเป็นระเบียบ ฝนตกก็ไม่ได้ขาย เมื่อไปถามว่าจึงได้ทราบว่าเขาอยากมีร้านที่มั่นคงขายได้ทั้งฝนตกและแดดออก ขายได้ตั้งแต่เช้าจนค่ำและสามารถเก็บของได้ จึงเกิดแนวคิดทำพลาซ่า เกิด YRU PLAZA และเมื่อแนวทางการปฏิบัติออกมาแล้วนั้น เราก็จะมีการทำตลาดนัดนักศึกษาด้วย เดือนละ 2 ครั้ง เพื่อให้นักศึกษาขายของ คือปิดถนนแล้วให้นักศึกษาขายของกัน นอกจากจะมีรายได้ตรงนี้ที่จะเข้ามาพัฒนามหาลัย สิ่งที่จะได้อีกอย่างหนึ่งคือการที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้การฝึกการขาย และรวมไปถึงบุคลากรที่จะไปขายได้ด้วย ซึ่งจะมีสองส่วน ที่กำลังจะเสร็จแล้วและคิดว่าช่วงเดือนสิงหาคมนี้น่าจะเสร็จ 26 หลังที่เป็นพลาซ่า ซึ่งเราจะให้ขายของแห้ง คือ เสื้อผ้า เครื่องสำอางหรืออะไรก็แล้วแต่ และตอนนี้กำลังให้ช่างต่อเติมอีก 14-15 หลัง ก็จะขายเกี่ยวเรื่องของอาหารที่ปรุงอะไรต่างๆก็จะแยกกันทำกัน โดยจะแบ่งโซนกันให้ชัดเจนว่าโซนไหนทำอะไร ซึ่ง yru พลาซ่านั้นจะอยู่ในมหาวิทยาลัยเลย โดยเอารั้วออก และเอาพลาซ่าเป็นรั้วแทน แต่เข้าไม่สามารถเข้ามาในราชภัฏได้ คือเราจะทำให้สวยเลย จะทำให้มีน้ำตก มีที่นั่งพบปะ นัดเจอ ซึ่งจะให้เป็นแหล่งนัดพบของคนรุ่นใหม่ ซึ่งรวมคร่าวๆจะได้ 150 ล็อคสำหรับ yru พลาซ่า 150-200 ร้านค้า จะเป็นแลนด์มาร์คใหญ่ครบวงจรในจังหวัดยะลา มี 200 ร้านค้า เป็นแหล่งที่เยาวชน คนหนุ่มคนสาวมาจับจ่ายใช้สอยกัน จะเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่กระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะหอพักที่จะสร้างจะมีเด็กอยู่ร่วม 2 พันคน รวมนักศึกษาในราชภัฏรวมกันอีก 1 หมื่นคน
ซึ่งสินค้าที่จะนำมาลงขายในพลาซ่าอยากให้เป็นของที่นำมาจากท้องถิ่น อยากจะกระตุ้นแล้วให้คนในพื้นที่เป็นคนดูแล วันนี้เราเปิดมหาวิทยาลัยในเชิงของกายภาพ เปิดรับพี่น้องประชาชนเข้ามาในบ้านตัวเอง มาร่วมกันพัฒนา มาร่วมกันเป็นเจ้าของ ตอนนี้กำลังของบประมาณในการเขียนแบบที่จะทำโรงแรมคล้ายๆ พลาซ่า จะอยู่อีกฝั่งของราชภัฏ ซึ่งจะเป็นโรงแรมสไตล์โมเดิร์น ให้เด็กสาขาการโรงแรมของคณะวิทยาการจัดการมาดูแล ตอนนี้กำลังเขียนแบบอยู่และกำลังรีโนเวทกับโรงแรมเก่าอยู่เพื่อที่จะให้ติดต่อกับโรงแรมใหม่ที่กำลังจะสร้างขึ้น มั่นใจว่าโรงแรมที่นี่ไม่เหมือนกับโรงแรมที่อื่น เป็นโรงแรมฮาลาล มีที่ละหมาดซึ่งข้างล่างจุ 200 คน ข้างบนจุ 200 คน แยกชายหญิงอย่างชัดเจน ใช้ความเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่คือใช้ชื่อของอำเภอต่างๆ ในพื้นที่สามจังหวัด และไม่ทิ้งความเป็นรากเหง้าของราชภัฏ การผลิตครู ได้อนุรักษ์ตึกไว้ 1 ตึก คือตึกหลังแรก อาจจะสร้างให้เป็นพิพิธภัณฑ์ในอนาคต”

นอกจากนี้ยังมีการขยับขยายมรย.ออกไปยังบริเวณถนนสาย 418 ซึ่งไม่ไกลจากมรย.ปัจจุบันมากนัก

“ขณะนี้ได้ดำเนินการขอพื้นที่บริเวณริมถนนเส้น 418 อยู่ จำนวน 300 ไร่ ตรงนั้นอาจจะเป็นหน่วยบริการของราชภัฏ บริการในส่วนของสถาบันพัฒนาครูชายแดนใต้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลในรูปแบบการผลิตโรงงานฮาลาล หลักสูตรบริบาลผู้สูงอายุและหลักสูตรใหม่ๆ ในเชิงพฤตินัยไม่มีปัญหาอะไร ในส่วนวิทยาเขตแม่ลาน ตอนนี้ได้มีการปรับปรุงอยู่ วางระบบไฟฟ้าและเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตให้ใหม่หมดหลังจากที่ทิ้งไว้ร่วม 10 ปี ตอนนี้เริ่มให้เด็กเข้าไปเรียนโดยจัดรถรับส่งเด็กอยู่ บางส่วนที่ไปทำโปรเจคก็มีที่นอนให้ กำลังคุยกับทหารพัฒนาหรือทหารช่างที่อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลาเพื่อที่จะให้เขาเข้ามาดูแลในเรื่องของระบบต่างๆ ในวิทยาเขตแม่ลาน”

ล่าสุดมีการจัดอันดับ จาก Webometrics Ranking of World Universities และประกาศผลทางเว็บไซต์http://www.webometrics.info/en/Asia/Thailand ซึ่งการจัดอันดับทำโดย Csbermetrics Lab หรือ Internet Lab ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยของสภาวิจัยแห่งชาติ ประเทศสเปน เป็น 1 ใน 8 เว็บไซต์ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)รับรองคุณภาพ จัดลำดับให้มรย.เป็นลำดับที่ 3 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่งของไทย ลำดับที่ 32 ของประเทศไทย ลำดับที่ 940 ของเอเชีย และลำดับที่ 2,714 ของโลก ซึ่งมหาวิทยาลัยทั่วโลกมีเป็นหมื่นแต่มรย.นั้นอยู่ไกลมากยังติดอันดับค่อนข้างสูง ซึ่งเว็บไซต์เหล่านี้จัดอันดับจากงานวิจัย งานบริการวิชาการต่างๆ หลายด้าน ซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้