รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดศูนย์พัฒนาครูแกนนำด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ระดับภูมิภาค (Boot Camp) ที่จังหวัดภูเก็ต เผยผลการประเมินของศูนย์ที่เปิดดำเนินการก่อนหน้านี้พบครู 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ มั่นใจว่าตัวเองสอนเก่งขึ้น
วันนี้ (26 มิ.ย.) นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์พัฒนาครูแกนนำด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ระดับภูมิภาค พร้อมพบปะกับผู้เข้ารับการอบรมโครงการอบรมพัฒนาครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค ภาคใต้ รุ่นที่ 8 มี นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ตลอดจนหน่วยงาน สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ คณะครู นักเรียน และแขกผู้มีเกียรติร่วมให้การต้อนรับ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ศูนย์อบรมพัฒนาครูแกนนำด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค (Regional English Training Centre) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดจัดการอบรมพัฒนาครูผู้สอนภาษาอังกฤษระดับภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อขยายผลการอบรมต่อจากปี 2559 ซึ่งเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูแกนนำด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (Boot Camp) โดยในการอบรมครั้งนี้ได้เน้นให้ครูผู้สอนได้รับการพัฒนาทักษะการออกแบบกิจกรรมการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เรียนรู้ และได้ฝึกกับเจ้าของภาษาจาก British Council ผ่านกระบวนการกลุ่มที่เรียกว่า Micro Teaching โดยใช้เวลาอบรม 3 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.-14 ก.ค.2560 ณ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
“สำหรับศูนย์ฯดังกล่าว จะเป็นศูนย์อบรมภาษาอังกฤษระดับภูมิภาคที่สำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปภาษาอังกฤษครั้งใหญ่ในประเทศไทย ครูทุกคนในประเทศ จะต้องได้รับการฝึกอบรมวิธีการสอนภาษาอังกฤษโดยสิ้นเชิง เป็นการอบรมที่เข้มข้นขึ้น อยู่กับครูชาวต่างชาติ 3 สัปดาห์ หลังจากนั้น จะมีการติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด โดยครูชาวต่างชาติ ซึ่งจะอยู่ติดตามประเมินผลตลอดทั้งปี ซึ่งในส่วนของศูนย์ที่เปิดดำเนินการมาก่อนหน้านี้ จากการประเมินพบว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ของครูมั่นใจว่า ตัวเองสอนเก่งขึ้น วิธีการสอนของตัวเองเปลี่ยนไป แล้วก็รู้สึกว่าเป็นโครงการที่เพิ่มศักยภาพเขาจริงๆ แต่การประเมินที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น จะไปถึงในระดับของเด็กนักเรียนหรือไม่นั้นต้องใช้เวลาในระยะยาว ในอีก 5-10 ปี เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่เกิดขึ้นในตัวเด็ก และเพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เราได้เตรียมเสนอ ครม.พิจารณา เพราะว่าเราจะต้องขยายผลในระยะยาว ต้องมีการติดตาม ต้องมีการเทรนด์ไปเรื่อยๆ ขณะนี้ฝึกมาได้ประมาณ 3,000-4,000 คนแล้ว กว่าจะอบรมครบ 40,000 กว่าคนที่เป็นครูของเรา ก็ประมาณ 5 ปี ตนคิดว่าอย่างน้อยให้ต่อเนื่อง 5 ปี”
ด้าน นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำหรับการจัดโครงการอบรมพัฒนาครูแกนนำด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เป็นการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลด้านการศึกษาของประเทศไทย ในการเพิ่มความสามารถของนักเรียนไทยในการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย และยังสอดคล้องต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ใน 2 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขัน และด้านการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้เราสามารถสู้ได้ในเวทีโลกในอนาคตอันใกล้
การอบรมครั้งนี้มีผู้เข้ารับการอบรมเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ จำนวน 75 คน ซึ่งมีระดับความรู้ภาษาอังกฤษ CEFR* ระดับ B ขึ้นไป จาก 10 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จากโรงเรียนในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา การอบรมจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดำเนินการการอบรมโดยชาวต่างชาติจากบริติช เคานซิล และมี Thai Master Trainers (TMT) ให้การช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ในการอบรมตลอดทั้ง 3 สัปดาห์ กิจกรรมในการอบรมจะเป็นประโยชน์สำหรับการเรียนภาษาอังกฤษ ผู้เข้ารับการอบรมจะมีโอกาสในการฝึกฝนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำ Micro Teaching
ที่มา: http://www.manager.co.th/