หน้าแรก ข่าวในประเทศ

‘กำปงดาไม’สันติภาพไม่มีเส้น ‘บ้านนอก’ชายแดนใต้ไม่โรแมนติก

ภาพโรแมนติกของ ‘บ้านนอก’ สำหรับคนกรุงเทพมหานครอาจจินตนาการถึงคู่ตรงข้ามของเมือง เห็นชาวบ้านและความเป็นชนบทเรียบง่าย ผู้คนมีน้ำใจไมตรีไม่มีเล่ห์เหลี่ยมมีความเป็นกันเอง เป็นดินแดนชายขอบห่างไกลปืนเที่ยงจากความเจริญและบริการของรัฐ

ทว่า ‘บ้านนอก’ ณ ปาตานี/ชายแดนใต้ กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะความขัดแย้งทางชาติพันธุ์อิงศาสนาคุกรุ่นมากว่า 230 ปี และทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้งเมื่อ 2547 และดำเนินความขัดแย้งมาตลอด 13 ปีอย่างไม่มีที่ท่าว่าจะเกิดความสงบ

ตำบลบ้านนอก อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี มีประชากรมลายูมุสลิม 70 เปอร์เซ็นต์ ไทยพุทธ 30 เปอร์เซ็นต์ ใน 6 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 2 บ้านเกาะ หมู่ที่ 3 บ้านนอก หมู่ที่ 4 บ้านหัวคลอง หมู่ที่ 5 บ้านปุลามาวอ และหมู่ที่ 6 บ้านปูตะ ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง มีคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำของกรมชลประทานที่เชื่อมต่อมาจากตำบลดอน เป็นพื้นที่สำหรับทำการเกษตร กว่า 2 พันไร่ ผู้คนส่วนใหญ่ของที่นี่จึงทำนา และปลูกต้นตาลตามคันนามีอยู่ทั่วไปจึงนำไปทำน้ำตาลโตนด นอกฤดูกาลทำนามีการปลูกถั่วลิสง ถั่วเขียว ข้าวโพด และพืชผักในที่นา

ทว่าผลผลิตค่อนข้างต่ำทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจจึงอยู่ในเกณฑ์ต่ำด้วย หลังฤดูเก็บเกี่ยวผู้คนจึงออกไปรับจ้างทำงานนอกพื้นที่ เช่น ต่างอำเภอในตัวจังหวัด หรือต่างประเทศ คือ มาเลเซีย บรูไน และจะกลับมายังพื้นที่อีกครั้งหนึ่งเมื่อถึงฤดูทำนา ส่วนผู้คนอีกส่วนหนึ่งรับราชการ ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป

ใน13 ปีของปัญหาไฟใต้รอบใหม่ตั้งแต่ 2547 มีเหตุการณ์บ่อยครั้งในอำเภอปานาเระซึ่งบางเหตุการณ์คาบเกี่ยวกับพื้นที่ตำบลบ้านนอกซึ่งเป็นทั้งหมู่บ้านผสมชาวบ้านไทยพุทธและมลายูมุสลิมอาศัยร่วมกัน และหมู่บ้านแยกต่างหากระหว่างไทยพุทธและมลายูมุสลิม เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองระดับสูง ระบุว่า เป้าหมายของแกนนำแนวร่วมเหล่านี้คือต้องการขับไล่คนไทยพุทธออกจากพื้นที่

เหตุการณ์ที่ตำบลบ้านนอกเกิดขึ้นประมาณ 4 ครั้ง เหตุการณ์ที่เกิดในตำบลใกล้เคียงโดยคนจากตำบลบ้านนอกเป็นผู้สูญเสีย 10 ครั้ง เมื่อรวมเหตุที่เกิดทั้งในและนอกพ้นที่ตำบลบ้านนอกพบว่า 15 คนถึงแก่ชีวิตบาดเจ็บ 5 คน และพิการ 2 คน หน่วยงานรัฐจับผู้กระทำผิดได้ 1 คนกำลังอยู่ในระหว่างการรับโทษคุมขัง และยังมีคนที่มีหมายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน2558)จำนวนหนึ่ง ความไว้วางหายระหว่างไทยและมลายูมุสลิมจึงเริ่มหดหาย และความหวาดระแวงเข้ามาแทนที่ ความรู้สึกไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นกับทั้งไทยพุทธและมลายูมุสลิม โดยเฉพาะคนไทยพุทธทวีความหวาดกลัวในบางห้วงที่ภาครัฐเตือนว่าจะมีการก่อเหตุ ต้องระมัดระวังในการเดินทาง

สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) เป็นองค์กรหนึ่งที่ได้รับรู้ถึงสันติภาพในมุมมองของชาวบ้าน คือทำอย่างไรให้การหลุดพ้นจากปัญหาที่ชุมชนเจอ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจเรื่องปากท้อง ปัญหาสังคมและเยาวชนเกี่ยวกับยาเสพติด ปัญหาการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ การถูกปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมของเจ้าหน้ารัฐ และปัญหาการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการใช้ความรุนแรงของขบวนการปลดปล่อยปาตานี รวมถึงการขาดความรู้ต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ฯลฯ

หลายชุมชนจึงอยากมีศูนย์เรียนรู้ประจำชุมชนเพื่อเรียนรู้ปัญหาและทางออก และหนึ่งในนั้น คือ บ้านนอก ในขณะที่กระบวนการพูดคุยสันติภาพสะดุดเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 หลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหาร ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2558 กระบวนการพูดคุยเริ่มขึ้นอีกครั้งโดยสภามั่นคงแห่งชาติ ภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ของสหพันธรัฐมาเลเซีย แม้กระบวนการพูดคุยสันติภาพถูกเปลี่ยนเป็นกระบวนการพูดคุยสันติสุข และคู่การพูดคุยเปลี่ยนจากแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) เป็น MARA PATANI องค์กรร่มของหลายขบวนการปลดปล่อยปาตานี

ในบริบทเวลาไล่เลี่ยกัน LEMPAR ดำเนินการโครงการ (นำร่อง) เครือข่าย “Kampong Damai” ศูนย์การเรียนรู้วิชาการสันติภาพชุมชน จากโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนใต้ระยะขยาย (ช.ช.ต.) ของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (Local Development Institute-LDI) ซึ่งสนับสนุนโดยธนาคารโลก (World Bank) และกระทรวงการคลังของไทย ศูนย์การเรียนรู้วิชาการสันติภาพชุมชนตำบลบ้านนอก หมู่ที่ 3 บ้านนอก จึงเกิดขึ้นท่ามกลางการจับตาจากหน่วยงานปกครองและหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ

ภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการณ์เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน2558 เพื่อระดมความต้องการ ปัญหาและความคิดเห็นจากชุมชน หลังจากนั้นนายเมธา สุบิน นายอำเภอปะนาเระ เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้วิชาการสันติภาพชุมชนตำบลบ้านนอกเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์2559 แล้วได้ทำการเรียนการสอนวิชาการจัดการองค์กรและบริหารเครือข่ายชุมชนพลเมืองเพียงวิชาเดียวเท่านั้น และแล้วทุกอย่างก็สะดุดลง