หน้าแรก รายงาน

“อยากกลับบ้านไปกอดแม่”… ความในใจจากเยาวชนหลงผิด

photo : www.ssc.wisc.edu (ภาพประกอบไม่เกี่ยวกับเนื้อหา)

สังคมปัจจุบันมีการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยแรงจูงใจและสาเหตุต่างกัน ส่วนใหญ่มาจากยาเสพติด ทำร้ายร้างกายและอื่นๆ การกระทำผิดจากการหลงผิด และการทำความผิดครั้งแรก เมื่อความผิดเหล่านั้นถูกตัดสินด้วยกฏหมาย เยาวชนที่ทำผิดจำต้องเข้าสู่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนของแต่ละพื้นที่ เพื่อช่วยขัดเกลาและบ่มเพาะให้เป็นคนดีกลับสู่ครอบครัวและสังคม

ในความหวังที่ประชาติมีต่อเยาวชนนั้นมากมายพร้อมฝากอนาคตไว้ในอุ้งมือของเยาวชนอีกด้วย การมีเยาวชนที่ดีจึงเป็นฐานที่มั่นใจได้ถึงอนาคตที่ดี สถานพินิจฯ ปัตตานี เป็นอีกแห่งหนึ่งที่รองรับเยาวชนและเด็กที่กระทำผิด หลงผิด มาเรียนรู้ อยู่ร่วมกันภายใต้กฎ กติกา โดยในขณะนี้มีเยาวชนชายทั้งหมดจำนวน 48 คน อายุระหว่าง 13-24 ปี

โครงการพัฒนา ของสถานพินิจฯ จัดเสวนาหัวข้อ “เยาวชน …ความหวังของประชาชาติ” โดยมี อ.บับลี อับดุลเราะมาน นักดาอีย์(เผยแพร่ศาสนา) ชื่อดังร่วมถ่ายทอดชีวิตจริงและความรู้ โดยอ.บับลีกล่าวว่า อิหม่าน(ความศรัทธา)คือหัวใจของการทำความดี

“สถานที่ไม่สำคัญเท่าจิตใจ ต้องนึกว่าอัลลอฮฺเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับบ่าวเสมอ ผมเรียนสายสามัญก่อนมาเรียนศาสนา คบกับเด็กเกเร ติดยา กินเหล้า สิ่งที่ได้รับจากพวกเขาคือ ความรักเพื่อนและจริงใจ เมื่อคนยอมรับตัวเองว่าผิดแล้วต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ในสายตาของท่านนบีพวกเรามีค่าที่สุด ท่านรักและหวงแหนประชาชาติของท่านมากที่สุด ท่านทำด้วยความรัก

ทุกวันนี้สังคมขาดคนดูแลเยาวชน และช่วยดึงออกจากสิ่งชั่วร้าย ธรรมชาติของมนุษย์ไม่มีใครอยากเลว เด็กทุกคนเกิดมาด้วยความบริสุทธิ์ สิ่งที่พลาดคือ การขาดอิหม่าน(ความศรัทธา) เมื่อความศรัทธาหมดก็ทำในสิ่งที่เลวร้ายได้ อิหม่านเป็นสิ่งสำคัญต่อหัวใจและการปฏิบัติ”

เคล็ดลับการเป็นคนดี อ.บับลีกล่าวว่าคือทำตามแบบอย่างของท่านนบี ต้องเริ่มที่อิหม่าน อยากให้ลูกเป็นคนดี ต้องสอนให้ลูกรู้จักอัลลอฮฺเป็นอันดับแรก ความชั่วจะลดลง อิหม่านคือพลังขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุด ยึดมั่นในอัลลอฮฺพียงหนึ่งเดียว แม้ทำชั่วมาเป็นพันครั้งแต่ทำดีเพียงครั้งเดียวแล้วเตาบัต(กลับตัวกลับใจ) อัลลอฮฺจะลบความชั่วออกหมด การอ่านอัลกุรอ่านวันละหนึ่งอายะฮ์ พร้อมรู้ความหมายเชื่อว่าชีวิตเปลี่ยนแน่นอน เพราะอัลกุรอ่านคือสิ่งที่เพิ่มอิหม่านได้ดีที่สุด ใจคือสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าใจดีทุกอย่างจะดีหมด ถ้าเปลี่ยนแปลงเพื่ออัลลอฮฺ อัลลอฮฺจะช่วยอย่างแน่นอน
“อิสลามจะรุ่งเรืองอยู่ที่เยาวชน เยาวชนเสียคนเดียว ประชาชาติก็เสียหายทั้งหมด อย่าดูถูกตัวเอง เด็กเกเรที่เตาบัตมีพลังในการทำงานศาสนามากกว่าคนธรรมดา จงมั่นใจว่าเป็นบุคคลที่อัลลอฮฺเลือกแล้ว ทุ่มชีวิตที่มีอยู่เพื่ออัลออฮฺ กลับไปหาอัลลอฮฺอย่างมีความสุขที่สุด ต้องสู้กับนัฟซู(ความต้องการ)ของตนเอง”

“เมื่อลูกหลงผิดหรือทำผิด พ่อแม่อย่าซ้ำเติมลูกเพราะพ่อแม่ก็ทำผิดได้เหมือนกัน ต้องหาวิธีคุย เตือนด้วยความรักเพราะลูกจะรับรู้และสัมผัสได้ ให้กำลังใจ ซึ่งความดีสามารถลบความชั่วได้ ลูกผู้ชายตัวจริงต้องกล้าชน กล้ารับ และกล้ายืน” คือสิ่งที่อ.บับลีฝากถึงพ่อแม่ทุกคน

“อยากกลับไปกอดแม่ คิดถึงแม่”

อับดุลเลาะ บาโฆะ เด็กหนุ่มวัย 20 ปี จากบ้านพรุจูด ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งเข้ามาอยู่ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนปัตตานีเป็นเวลา 2 ปี 2 เดือน บอกกล่าวถึงความรู้สึกเมื่อถามถึงแม่

อับดุลเลาะเข้ามาอยู่ที่นี่ด้วยคดีพยายามฆ่า สาเหตุมาจากยาเสพติด ต้องโทษทั้งหมด 3 ปี เมื่อถูกตัดสินว่าต้องมาอยู่ที่นี่ เขาบอกว่าทำใจไม่ได้ ตอนนั้นจะหนีอย่างเดียว เครียดมาก อยู่มาเดือนสองเดือนก็ปรับตัวได้ และต้องใช้ชีวิตคนละอย่างกับที่บ้าน

“ที่นี่มีเยาวชนชายอายุตั้งแต่ 13-24 ปี ทั้งหมด 58 คน มาจากปัตตานี ยะลา และเบตง เราช่วยดูแลกันเอง มีทะเลาะกันบ้างแต่น้อยมาก นานๆ ครั้ง เมื่อทะเลาะกันครูจะเรียกไปพูดคุย อยู่ที่นี่โทรศัพท์ใช้ไม่ได้ เงินพกไม่ได้ แม่มาเยี่ยมเขาเดือนละสองครั้ง กลับบ้านได้เมื่อได้คะแนนความประพฤติดี สามเดือนเขาก็ได้ลากลับไปเยี่ยมบ้านครั้งหนึ่ง กลับไปครั้งหนึ่ง 3 วัน 2 คืนต่อสามเดือน ช่วงรายอก็ได้กลับสำหรับเด็กที่ปฏิบัติศาสนกิจครบ ทำให้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้องๆ เพื่อนๆ ได้ละหมาดตะรอเวี้ยะฮ(ละหมาดพร้อมกันช่วงกลางคืนในเดือนรอมฏอน)และปฏิบัติศาสนกิจช่วงเดือนนี้กันได้ครบ”

ชีวิตในสถานพินิจฯ ของอับดุลเลาะและเพื่อนๆ เป็นชีวิตที่เขาบอกว่าอยู่สบาย แต่ไร้อิสรภาพ

“ช่วงตีห้าตื่นมาเอาน้ำละหมาด กินข้าวเจ็ดโมงครึ่ง เข้าแถวแปดโมง ขึ้นมาประชุมบ้าน พบครูที่ปรึกษา เรียนวิชาชีพ ผมเรียนวิชาทำชาชัก ทานข้าวเย็นสี่โมงครึ่ง ห้าโมงครึ่งขึ้นหอ ดูทีวี มีสองหอ ไม่ให้นำหนังสือขึ้นหอ ละหมาดมักริบและอีซา ช่วงนี้กินอะไรไม่ได้แล้ว ต้องปรับตัวเรื่องอาหาร ผมเรียนมาแค่ชั้นม.2 แล้วไม่ได้เรียนต่อ เมื่อเข้ามาอยู่ในนี้มีครูจากกศน.มาสอนทุกบ่ายวันพุธ ก็ลงเรียนต่อ ตอนนี้กำลังจะจบชั้นม.ต้น อยากเรียนจบชั้นม.ปลาย เขาไม่บังคับ ใครจะสมัครเรียนก็ได้”

ด้วยความเป็นลูกคนเดียวของแม่ เขาจึงตั้งใจประพฤติตัวและใจในหนทางที่ถูกต้อง รอเวลากลับไปหาแม่

“พ่อเสียแล้ว มีแต่แม่คนเดียว อายุ 50 แล้ว ผมเป็นลูกคนเดียว เวลาแม่มาหาจะบอกให้อยู่ดีๆ ออกไปอย่ากลับไปเล่นยาเสพติดอีก แม่ดีใจที่ไม่กลับไปเล่น ผมกลับบ้านไป 4-5 ครั้งไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับเพื่อนกลุ่มเดิมที่มาชวนเล่นยาเสพติดอีกแล้ว แม่ดีใจมาก อยากกลับไปกอดแม่ คิดถึงแม่ทุกวัน”

อับดุลเลาะให้ข้อคิดแก่เยาวชนว่า ต้องคิดก่อนทำ ถ้าทำแล้วคิดก็ช่วยอะไรไม่ได้

“ด้วยอารมณ์ชั่ววูบของวัยรุ่นสมัยนี้ต้องให้อยู่รอดในสังคม ถ้าเพื่อนมาชวนไปเล่นยาก็ต้องปฏิเสธ เอาเวลาไปช่วยทำงานบ้าน ทำตัวอย่าให้ว่าง ถ้าเขามาชวนอีกก็หาทางหนี อย่างผมเป็นลูกคนเดียวเมื่อเพื่อนมาชวนแม่ยังดูไม่ทัน ตอนผมกลับไปเขายังมาชวนไปเล่นยาอีกแต่บอกเขาว่า ไม่เอาแล้ว เขาก็ไม่มาหาแล้ว ต้องใจแข็งและอดทน”

“เวลาเกือบสามปีในนี้ทำให้ได้ปรับปรุงตัวเอง ช่วงแรกที่เข้ามาใครบอกอะไร เตือนอะไรจะไม่ฟังเลย ช่วงหลังได้คิดเยอะขึ้น เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ รับฟังสิ่งที่แนะนำ เมื่อได้ออกไป ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร ผมเตรียมตัวและเตรียมใจไว้แล้ว ถ้าเขามองเราไม่ดี ก็ทำตัวไม่รู้ไม่ชี้เพราะเรารู้ตัวดีว่าทำอะไรอยู่”

เวลามีกิจกรรมในสถานพินิจฯ อับดุลเลาะและเพื่อนก็จะตั้งซุ้มขายชาชัก รวมทั้งไปออกบูธในงานต่างๆ ของจังหวัดด้วย เขาบอกว่า ดีใจที่ได้ฝึกวิชาชีพเพิ่มขึ้น

“ไปกันสองคนกับเพื่อนและเจ้าหน้าที่ รายได้เข้าสถานพินิจ ฝึกฝีมือไปเรื่อยๆ ออกไปตั้งใจจะไปเปิดร้านขายน้ำที่บ้าน”

เป็นกำลังใจให้เด็กหนุ่มได้อดทน ผ่านพ้นมรสุมชีวิตนี้ไปให้ได้ เพื่อเขาจะได้กลับไปกอดและดูแลแม่อย่างใกล้ชิดในทุกๆ วัน