เครือข่ายเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา รุดยื่นหนังสือทาบ “นายกรัฐมนตรี” จี้ทบทวน “พ.ร.บ.สภาเด็กฯ” ผ่านทางรองผู้ว่าฯ จ.สงขลา เชื่ออาจเป็นอุปสรรคกีดกันการพัฒนา สวนทางกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. มากกว่าส่งเสริมตามบริบทที่เป็นอยู่
วันนี้ (8 พ.ค.) เครือข่ายเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา ในนามสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา เกิดการรวมตัวกันในเด็กและเยาวชน เพื่อยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ผ่านทางนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
โดยสภาเด็กและเยาวชนเป็นองค์การที่จัดตั้ง ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชน อำเภอ จังหวัด และระดับชาติ เพื่อให้สภาเด็กและเยาวชนเป็นกลไกในการประสานงานความร่วมมือเป็นองค์กรภาคีเครือข่าย ในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนเสนอแนะแนวทางไปสู่นโยบายระดับชาติ
นับตั้งแต่มีข่าวออกมาว่าจะมีการปรับโครงสร้าง เปลี่ยนหน่วยงานรับผิดชอบ และสาระสำคัญบางมาตราของพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้เด็กและเยาวชนที่เกี่ยวข้องภาคีต่างๆ เริ่มรวมตัว ถกประเด็นแลกเปลี่ยน จึงมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ น่าจะเป็นอุปสรรคและกีดกันการพัฒนาซึ่งสวนทางกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. มากกว่าส่งเสริมตามบริบทที่เป็นอยู่ เนื่องจากดูตามสาระสำคัญแล้ว เหมือนเป็นการกีดกันเด็กและเยาวชน กลุ่มองค์กรจากสถาบันการศึกษา ผู้แทนเด็กและเยาวชน นักกิจกรรม ออกจากสภาเด็กและเยาวชน ในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด
ในการนี้ ทางสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา สมาคมเยาวชนจังหวัดสงขลา ศูนย์อำนวยการประสานงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดภาคเยาวชน ภาค 9 สืบสานศิลป์วัฒนธรรมถิ่นใต้องค์กรสาธารณะประโยชน์ เครือข่ายวัยใสใส่ใจสังคม ร่วมด้วยกับตัวแทนนักเรียนนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ จึงขอเรียกร้องไปยังท่าน ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 เวลา 14.30 น. ณ ศาลากลาง อ.เมือง จ.สงขลา โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้
1. พ.ร.บ.ส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. …….. ควรเปิดช่องทางให้สภาเด็กและเยาวชนในระดับอำเภอ และระดับจังหวัด เพื่อให้กลุ่มองค์กรจากสถาบันการศึกษา ผู้แทนเด็ก และเยาวชนจากเครือข่ายต่างๆ มามีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งจะได้ไม่ขัดกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ที่ว่า “เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทุกระดับ มีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคม”
2. ปรับโครงสร้างสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ให้มีความยืดหยุ่นไม่ควรยึดโยงโครงสร้างเชิงอำนาจแบบ Top-Down ที่สภาเด็กและเยาวชนตำบลต้องมีที่มาจากเด็กที่มีภูมิลำเนาในตำบลนั้น แล้วคัดเลือกกันเป็นคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนตำบล ส่งผลให้สภาอำเภอต้องมาจากตำบลด้วย และสภาจังหวัด ต้องมาจากอำเภอ จึงแปลความว่า สภาจังหวัดต้องมาจากตำบลเท่านั้น
ซึ่งจะดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปี โดยจะทำให้เกิดช่องว่างในการทำงานกรณีหมดวาระไม่ตรงกันระหว่างตำบล อำเภอและจังหวัด ซึ่งความน่าจะเป็นของสภาเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้น ก็จะมีภารกิจที่สำคัญอยู่ 2 เรื่องคือ เรื่องหมดวาระ และเรื่องเลือกตั้งใหม่ หรือเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะอยากให้สภาเด็กและยาวชนฝึกทักษะการเป็นนักเลือกตั้ง มากกว่านักพัฒนา
3. ยกเลิกระบบจับสลากคัดออก ตามมาตรา 33 วรรค 3 ในวาระเริ่มแรก เมื่อคณะบริหารดำรงตำแหน่งครบ 1 ปี ให้คณะบริหารยกเว้นประธานสภาจับสลากออกกึ่งหนึ่ง และคัดเลือกผู้บริหารใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งถือเป็นระบบที่แปลกประหลาด ขาดระบบคุณธรรม ไม่ได้วัดที่ศักยภาพความรู้ความสามารถ แต่ใช้วิธีเพียงแค่การจัดการง่ายๆ เสมือนเป็นการดูถูกศักยภาพของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเรารับไม่ได้
ทั้งนี้ ทางเยาวชนทราบดีว่า การยื่นหนังสือฉบับนี้อาจไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้ว แต่อย่างน้อยที่สุดเยาวชนต่างจังหวัดอย่างพวกเราขอมีส่วนในการกำหนดอนาคตของพวกเราเอง และวอนผู้ใหญ่ หากมีเจตนาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริงแล้ว ควรออกแบบองค์การให้พวกเราเข้มแข็งไม่ใช่ทำให้พวกเราอ่อนแอ และอย่ามองเด็กต่างจังหวัดอย่างพวกเราเป็นเพียงแค่จำนวนนับ ที่เรามาเพราะเราเชื่อในพลังเยาวชน และพร้อมยอมรับชะตากรรมจากผลการกระทำของผู้ใหญ่บางกลุ่มที่อ้างว่าฟังประชาพิจารณ์จากเด็กและเยาวชนแล้ว
นายเกรียงไกร คมขำ ผู้แทนกลุ่มองค์กรด้านเด็กและเยาวชน (อดีตประธานสภาเด็กและเยาวชน จ.สงขลา) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ตัวใหม่ ออกมาโดยไม่อิงตามสภาพความเป็นจริง มุ่งแต่กลยุทธ์ในเชิงการจัดตั้งให้ครบๆ แต่ไม่คำนึงถึงผลที่เกิดขึ้นว่า สภาเด็กและเยาวชนจะเคลื่อนไปอย่างไร อยากให้ผู้ใหญ่ทบทวนอีกครั้ง อย่าหลงเชื่อแต่นักวิชาการจนลืมฟังเสียงของเด็กและเยาวชน เพราะการกำหนดที่มาของสภาเด็กตำบลต้องมีภูมิลำเนาในตำบลนั้น ส่งผลให้สภาอำเภอต้องมาจากตำบล และสภาจังหวัดต้องมาจากอำเภอ จึงแปลความว่า สภาจังหวัดต้องมาจากตำบลด้วย จะเห็นได้ว่าทุกขั้นตอนพยายามกีดกันองค์กรด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่ สถานศึกษา มหาวิทยาลัย เหมือนกับการออก พ.ร.บ.เพื่อให้สภาเด็กและเยาวชนเป็นลูกเมียหลวง ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เราร่วมขับเคลื่อนพัฒนาเด็กและเยาวนร่วมกันมาตลอด เสมือนกับการเสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล วอนผู้ใหญ่อย่า Double Standard เปิดช่องใหญ่เฉพาะสภา กทม. อย่าลืมว่าสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด ก็มีกลุ่มองค์กรด้านเด็กเหมือนกัน วอนผู้ใหญ่เปิดใจกว้างอย่าตีกรอบการพัฒนาเด็กและเยาวชน
นายพงศธร บัวทอง ประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จ.สงขลา พร้อมยอมรับที่ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน แต่ตนก็เป็นประธานคนหนึ่งที่มาจาก ศอ.ปส.ย. จ.สงขลา ที่ไปเข้าสมัครในนามอำเภอ และมาจังหวัด ซึ่งตนมองว่าสภาเด็กและเยาวชนควรเป็นของเด็กทุกคน
แต่ส่วนหนึ่งใน พ.ร.บ.ที่ตนไม่เห็นด้วยคือ เรื่องของการยึดโยงเชิงอำนาจ โครงสร้างแบบ Top-Down ซึ่งไม่มีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นอยู่ และตนมองว่าวงจรชีวิตองค์การสภาเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้น จะเหมือนกับยักษ์ที่ตัวใหญ่เป็นอัมพาต ยิ่งใหญ่แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะมัวแต่คำนึงอยู่สองเรื่องก็คือ เรื่องหมดวาระ และเรื่องเลือกตั้งใหม่ หรือเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ อยากให้พวกเราสภาเด็กและยาวชนฝึกทักษะการเป็นนักเลือกตั้ง มากกว่านักพัฒนากันแน่
นายกฤศ กำเนิดติณห์กุลธร คณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ลองวาดภาพตาม เมื่อถึงเวลาที่จำเป็นต้องไปอีกสถานที่หนึ่ง พร้อมด้วยความสามารถในการช่วยเหลือสังคมและเยาวชน ยังติดตัวเป็นอาวุธทางปัญญาพร้อมที่จะยื่นมือเข้าช่วยเด็กๆ เหล่านั้น แล้วจากนั้นเกิดอะไรขึ้น? ดันมีผู้ใหญ่บอกว่า ไม่ได้นะ ถึงหนูมีความสามารถจริง แต่หนูไม่ใช่คนที่นี่ ฉะนั้น หนูจะมาช่วยหรือมาสอนเด็กๆ ที่นี่ไม่ได้นะ เพราะกฎหมายห้ามไว้ กติกามีอยู่ จะขัดกับหลักกฎหมายไม่ได้นะ แล้วไอเจ้าหนูหนุ่มใหม่ไฟแรงจะทำอย่างไรครับ จะเป็นก็แค่จัดตั้งองค์กรเยาวชนเถื่อน ด้วยความหวังที่มืดบอด เพราะกฎหมายฉบับนึงที่ไม่ได้สนใจว่าเด็กต่างจังหวัดแล้วเข้าไปเรียนในเมืองจะรู้สึกอย่างไร
นายปริญญา บุญชูมณี ประธานสภาเด็กและเยาวชนอำเภอรัตภูมิ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ผมเด็กต่างอำเภอ มาเรียนในเมืองก็อยากช่วยงานสภาเด็กและเยาวชนต่อ แต่พอทราบข่าว ก็เหมือนนักกิจกรรมอย่างพวกเราโดนกีดกันโอกาสในการพัฒนาตนเองและเพื่อนเยาวชน การพัฒนาสภาเด็กและเยาวชนควรก้าวผ่านอาณาเขตพื้นที่ อย่าออกแบบให้สภาเด็กเป็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ควรเป็นของเด็กทุกคน ผมในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง จึงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของผู้ใหญ่ สภาเด็กไม่ใช่เรื่องโครงสร้าง แต่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน หากผมจะทำสภาเด็กและเยาวชน จำเป็นแค่ไหนที่เราต้องแบกรับภาระสภาเด็กและเยาวชนตำบลด้วย นายกคือใคร เลือกตั้งประสานใคร เด็กกิจกรรมจะสามารถทำให้คนที่เราไม่รู้จักเชื่อได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่ แล้วกิจกรรมจะเดินอย่างไร วอนผู้ใหญ่ทบทวนแล้วฟังเสียงเด็กอย่างเราที่รักสภาเด็กและเยาวชน
นายคงพันธ์ เชิดบำรุง นายกสมาคมเยาวชนจังหวัดสงขลา (อดีตประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย) กล่าวว่า ตนในฐานะสัมผัสสภาเด็กและเยาวชนมาแล้วทุกระดับ เห็นด้วยกับแนวคิดของเด็กๆ การออกกฎหมายควรออกมาเพื่อแก้ปัญหาในการทำงานของเด็กและเยาวชน ไม่ใช่ออกมาเพื่อสร้างปัญหาให้กับเด็กและเยาวชน มิฉะนั้น การพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยเจตนารมณ์ของเด็กอาจผิดกฎหมาย ตนเชื่อว่าทั้งผู้ใหญ่และเด็กต่างหวังดี และอยากให้สภาเด็กและเยาวชนออกมาดี ดังนั้นจึงวอนผู้ใหญ่ทบทวนอีกครั้ง
สภาเด็กและเยาวชนจึงถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ที่จะมีบทบาทในเชิงนโยบาย และนับเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศในอนาคต จำเป็นต้องมีแบบแผนและกระบวนการที่ชัดเจน ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนกล้าคิด กล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง รวมทั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนที่จะต้องเข้ามาดูแลรับฟังความคิด ร่วมหาทางออกเพื่อให้การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ
ที่มา: http://www.manager.co.th