ความเป็นไปบนคาบสมุทรเกาหลีเริ่มทวีความร้อนระอุจนต้องติดตามสถานการณ์กันแบบรายวัน หลังจากที่สหรัฐฯ เริ่มปรับจุดยืนหันมาเผชิญหน้ากับเกาหลีเหนืออย่างแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้น ในขณะที่จีนก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยเต็มใจใช้อิทธิพลบีบคั้นโสมแดงมากเท่าที่ควร
รองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ แห่งสหรัฐฯ ได้เดินทางไปเยือนเกาหลีใต้และญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ พร้อมกับประกาศกร้าวว่ายุคสมัยของการอดทนอดกลั้นกับเกาหลีเหนือ “หมดสิ้น” ลงแล้ว ขณะที่ ทรัมป์ ก็ได้มีคำสั่งให้เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส คาร์ล วินสัน พร้อมหมู่เรือจู่โจมมุ่งหน้าสู่คาบสมุทรเกาหลีเพื่อตอบโต้การยั่วยุที่ไม่หยุดหย่อนของเปียงยาง
เพนซ์ ระบุว่า การที่สหรัฐฯ ยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพซีเรีย และนำ “โคตรระเบิด” ไปถล่มรังกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอัฟกานิสถาน ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าเกาหลีเหนือ “ไม่ควรริอ่านท้าทายความแข็งแกร่งของกองทัพสหรัฐฯ”
เมื่อวันเสาร์ที่ 15 เม.ย. รัฐบาลโสมแดงได้จัดพิธีสวนสนามกองทัพอย่างเอิกเกริกในกรุงเปียงยาง เพื่อฉลองวันเกิดปีที่ 105 ของอดีตประธานาธิบดี คิม อิล ซุง ผู้ก่อตั้งประเทศ และว่ากันว่ามีการนำขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) รุ่นใหม่ออกมาอวดสายตาชาวโลกด้วย และหลังจากนั้นเพียง 1 วันก็ได้มีการยิงทดสอบขีปนาวุธครั้งใหม่ ทว่าประสบความล้มเหลว
คำขู่ของสหรัฐฯ ดูเหมือนจะไม่ทำให้เกาหลีเหนือสะทกสะท้าน โดยรัฐมนตรีต่างประเทศโสมแดง ฮัน ซอง รยอล ได้ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีเมื่อวันจันทร์ (17 เม.ย.) ว่า “เกาหลีเหนือจะทดสอบขีปนาวุธต่อไปเรื่อยๆ ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน และทุกปี” และหากเปียงยางทราบว่าสหรัฐฯ คิดจะใช้กำลังโจมตี “เราก็พร้อมที่จะเป็นฝ่ายใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีก่อน ตามสไตล์และวิธีการของเราเอง”
ทรัมป์ นั้นหวังจะใช้ผลประโยชน์ทางการค้ามาต่อรองให้จีนช่วยป้องปรามพฤติกรรมก้าวร้าวของเกาหลีเหนือได้มากกว่านี้ แต่หากจีนไม่ให้ความร่วมมือ เขาก็ขู่ว่าสหรัฐฯ จะใช้แสนยานุภาพทางทหารจัดการกับเปียงยางด้วยตัวเอง ซึ่งผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่ก็กำลังเฝ้าดูว่า การ “เลิกอดกลั้นทางยุทธศาสตร์” (strategic impatience) ของ ทรัมป์ นั้นจะก่อให้เกิดผลอย่างไร
โรเบิร์ต ลิตวาก นักวิเคราะห์จากศูนย์นักวิชาการนานาชาติวูดโรว์วิลสัน (Woodrow Wilson International Center for Scholars) ได้เปรียบเทียบสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีในขณะนี้ว่าเหมือน “วิกฤตขีปนาวุธคิวบาแบบสโลว์โมชัน” ซึ่งคู่กรณีต่างชวนทะเลาะ และสร้างสถานการณ์อันตราย (brinkmanship) จนท้ายที่สุดอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน
ทรัมป์ และที่ปรึกษาของเขามักจะพูดว่า คำสั่งและนโยบายที่ “คาดเดาไม่ได้” คือจุดแข็งของรัฐบาลชุดนี้ และบ่อยครั้งที่เขาพยายามนำแสนยานุภาพทางทหารของอเมริกามาใช้จัดการปัญหาระหว่างประเทศ แต่การที่รัฐบาลอเมริกันชุดก่อนๆ เลือกที่จะระมัดระวังและใช้กลไกการทูตในภูมิภาคจัดการปัญหาเกาหลีเหนือมากกว่าที่จะส่ง “กองเรือรบ” (armada) เข้าไปข่มขู่นั้นย่อมมีเหตุผลอยู่ในตัวเอง
คณะผู้นำโสมแดงเชื่อว่า การครอบครองคลังแสงนิวเคลียร์และขีปนาวุธล้ำสมัยคือทางรอดหนึ่งเดียวของพวกเขา หลายปีมานี้เกาหลีเหนือจึงเลือกที่จะใช้กลยุทธ์ข่มขู่นานาชาติ และมุ่งมั่นพัฒนานิวเคลียร์เพื่อบีบให้เพื่อนบ้านยอมอ่อนข้อให้ แต่เปียงยางก็ทราบดีว่าเกมที่พวกเขาเล่นอยู่นั้นสุ่มเสี่ยงเพียงใด เพราะหากสหรัฐฯ ตัดสินใจทำสงครามอย่างเต็มรูปแบบ รัฐเล็กๆ อย่างเกาหลีเหนือก็ไม่พ้นต้องพังพินาศ ด้วยเหตุนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงเชื่อว่า ยิ่ง คิม จอง อึน รู้สึกว่าถูกคุกคามมากเท่าใด เขาก็ยิ่งพร้อมที่จะเป็นฝ่ายโจมตีก่อนเร็วขึ้นเท่านั้น
“ยุทธศาสตร์หลักของ คิม จอง อึน อยู่ที่การนำอาวุธนิวเคลียร์ออกมาใช้ ก่อนที่ตัวเขาเองจะถูกสหรัฐฯ ฆ่า หรือก่อนที่หน่วยรบพิเศษอเมริกันจะค้นพบที่ตั้งหน่วยบัญชาการนิวเคลียร์ของพวกเขา” เจฟฟรีย์ ลูอิส ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมอาวุธระบุในบทความที่เผยแพร่เมื่อต้นปีนี้ “ถ้าเขาคิดจะสู้ ก็ต้องเป็นฝ่ายลงมือก่อน”
เกาหลีเหนืออาจยังไม่มีศักยภาพพอที่จะส่งอาวุธนิวเคลียร์ไปโจมตีแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ ได้ แต่กรุงโซลและโตเกียวไม่อยู่ในฐานะที่ปลอดภัยเช่นนั้น สงครามนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นจึงอาจหมายถึงความตายของพลเรือนเกาหลีใต้และญี่ปุ่นนับล้านๆ คน และนี่คือสิ่งที่ผู้นำสหรัฐฯ คนก่อนๆ ตระหนักดี แต่อาจไม่ใช่ ทรัมป์
“มีผู้ช่วยคนสนิทของ ทรัมป์ หลายคนที่เชื่อว่าสหรัฐฯ ควรพิจารณาทางเลือกในการโจมตีเกาหลีเหนือก่อน แต่ถ้า คิม จอง อึน ใช้ตรรกะเดียวกัน เขาอาจจะเป็นฝ่ายที่ลั่นไกก่อนก็ได้” กีเดียน แรชแมน คอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส ระบุ
ด้านจีนซึ่งเป็นชาติเดียวที่พอจะมีอำนาจต่อรองกับเกาหลีเหนือก็มีข้อจำกัดทั้งในแง่ของความสามารถและความเต็มใจที่จะบีบคั้นโสมแดง เนื่องจากขณะนี้ความสัมพันธ์กับโซลและเปียงยางค่อนข้างตกต่ำ และเกาหลีเหนือเองก็เพิ่งจะปฏิเสธการหารือกับคณะทูตระดับสูงของจีนไปเมื่อต้นเดือนนี้
เอียนเหมย เซี่ย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและนโยบายต่างประเทศจากบริษัท Gavekal Dragonomics ในฮ่องกง ระบุว่า “จีนอาจจะยอมใช้มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจ เช่น ระงับซื้อขายสินค้า ห้ามบริษัทท่องเที่ยวจีนขายทัวร์ไปเกาหลีเหนือ และงดความช่วยเหลือด้านอาหาร เป็นต้น แต่ก็แค่ทำอย่างขอไปทีเพื่อให้สหรัฐฯ พอใจเท่านั้น” ไม่ใช่เพื่อบีบให้เกาหลีเหนือจนตรอกถึงขั้นยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์
“จีนมีเหตุผลและช่องทางที่จะสั่งสอน คิม ได้ก็จริง แต่สิ่งที่พวกเขาเป็นห่วงมากกว่าก็คือการปกป้องระบอบเกาหลีเหนือให้อยู่รอด เพื่อเป็นรัฐกันชนระหว่างจีนกับอิทธิพลของสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้”
สื่อ อินหง อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเหรินหมิน เตือนว่า หากรัฐบาลทรัมป์ยังขืนใช้แนวทางข่มขู่ และส่งกองเรือรบเข้ามายังคาบสมุทรเกาหลีมากขึ้น จีนอาจ “เปลี่ยนใจจากการช่วยบีบคั้นเกาหลีเหนือมาเป็นต่อต้านสหรัฐฯ แทน” ซึ่งไม่เพียงเป็นผลเสียต่ออเมริกา แต่ยังไม่ช่วยให้สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีดีขึ้นได้
ที่มา : MGR Online