‘กัสตูรี มะโกตา’ แกนนำพูโล ออกประณาม จนท.รัฐกระทำต่อสามัญชนอย่างโหดเหี้ยม พร้อมเรียกร้องคณะพูดคุยสันติภาพเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใส นำคนผิดเข้ากระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว ด้าน NGOs เรียกร้องตั้งคณะกรรมการอิสระไต่สวน
วันนี้ (1 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุวิสามัญผู้ต้องสงสัยในพื้นที่เขตรอยต่อระหว่างบ้านไอร์จือนะห์ หมู่ 5 กับบ้านธรรมเจริญ หมู่ 6 ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อเวลา 13.30 น. ของวันพุธที่ 29 มีนาคม 2560 ทำให้ผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต 2 รายนั้น ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของคนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในสังคมโซลเชียลที่มีการอธิบายเหตุที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดว่า เป็นการจัดฉากว่าเป็นเหตุยิงปะทะ จึงทำให้สังคมสับสนกับเรื่องราว และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ถึงแม้ทางรองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะได้ออกมาแถลงข้อเท็จจริงในเช้าวันรุ่งขึ้น โดยอ้างว่าเป็นการปะทะจริง เจ้าหน้าที่ไม่ได้กระทำเกินกว่าเหตุ
ล่าสุด นายกัสตูรี มะโกตา แกนนำพูโล ได้ออกมาประณามเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำต่อสามัญชนอย่างโหดเหี้ยม ทั้งภาษามาเลย์ และภาษาอังกฤษในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีข้อความระบุ ดังนี้
“ผมในนามส่วนตัว และได้รับมอบหมายจากครอบครัวพูโล กล่าวความเสียใจต่อครอบครัวผู้สละชีพ นายอิสมาแอล ฮามะ และนายอาเซ็ง อูเซ็ง ที่เสียชีวิต เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2017 ที่บริเวณ ต.ตะบิ้งลุโล๊ะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งจากการรายงานพวกเขาทั้งสองเป็นสามัญชนทั่วไป ต้องตกเป็นเหยื่อของความโหดเหี้ยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลผู้กดขี่ เราขอประณามอย่างรุนแรงที่สุดจากการกระทำที่โหดเหี้ยมนี้ และขอเรียกร้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่คณะพูดคุยสันติภาพเข้ามาสอบสวนอย่างโปร่งใส และยุติธรรม เพื่อนำผู้กระทำผิดเข้าสู้กระบวนการยุติธรรมโดยเร็วที่สุดตามสมควร”
ขณะเดียวกัน กลุ่มด้วยใจ ได้แถลงการณ์กรณีความรุนแรงต่อเนื่องที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส กรณีเจ้าหน้าที่ทหารปะทะวิสามัญฆาตกรรม เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 ในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบที่ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจต่อสังคมโดยรวมอย่างมากคือ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 ที่เกิดเหตุคนร้ายยิงใส่รถกระบะ ส่งผลให้ นายสมชาย ทองจันทร์ และครอบครัวเสียชีวิตรวม 4 คน และเด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บอีก 1 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตมีเด็กด้วย 1 คน
นอกจากนี้ ยังมีเด็กที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วยอีกหนึ่งคน ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้แถลงว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการทางทหาร และวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัย 2 รายคือ นายอิสมาแอ หามะ อายุ 28 ปี กับนายอาเซ็ง อูเซ็ง อายุ 30 ปี ที่ถนนระหว่างหมู่บ้านไอร์จือนะห์ หมู่ 5 กับบ้านธรรมเจริญ หมู่ 6 ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพบว่า ผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ นายอาเซ็ง อูเซ็ง มีหมายจับ และอาจเกี่ยวข้องต่อเหตุการณ์กราดยิง นายสมชาย และครอบครัว
อย่างไรก็ตาม ต่อกรณีดังกล่าวมีเด็กผู้หญิงอายุ 15 ปี คนหนึ่งอ้างว่า ได้อยู่ในเหตุการณ์ และกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มีการปะทะกันแต่อย่างใด ซึ่งเป็นข้อมูลที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับข้อมูลข่าวสารที่ชี้แจงโดยเจ้าหน้าที่
ตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชน เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องจับกุม และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายโดยกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ไม่อาจใช้อำนาจตามอำเภอใจลงโทษ หรือประหารผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิด โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมของศาลได้ Extra judicial killings เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรมตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ และหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 39 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด”
โศกนาฏกรรมในทั้ง 2 เหตุการณ์ นำมาซึ่งความสูญเสียที่ไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้ ไม่ว่าจะเป็นชีวิต อนาคตของครอบครัว สภาพจิตใจของเด็กที่อยู่ในเหตุการณ์ และสถานภาพของความเป็นพยานในเหตุการณ์ ในสภาวะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะหลักสิทธิมนุษยชน หลักมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และหลักศาสนา ต่างก็กล่าวถึงการปกป้องคุ้มครองเด็ก และการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม
กลุ่มด้วยใจ ขอแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียจากการใช้ความรุนแรงจากทั้ง 2 เหตุการณ์ และขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1.พยานผู้เห็นเหตุการณ์การเสียชีวิตของทั้ง 2 กรณี จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองและเยียวยา และดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2556 การถามปากคำเด็กไว้ในฐานะเป็นผู้เสียหายหรือพยาน ให้แยกกระทำเป็นสัดส่วนในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำนั้นด้วย
2.เนื่องจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ที่มีหมายจับยังเป็นที่คลางแคลงใจในหมู่ประชาชนส่วนหนึ่ง จึงขอให้มีการคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจที่มีความเป็นอิสระ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เหมาะสม
3.ขอให้การสืบสวนสอบสวนของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินการไปได้โดยอิสระเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และไม่มีการชี้นำจากฝ่ายใด
ปัจจุบัน สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ มีแนวโน้มที่ดีจากแนวทางของรัฐบาลที่ดำเนินการตามนโยบายการพูดคุยเพื่อสันติสุข และการยึดถือปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและนิติธรรม และเพื่อให้ความสงบสุขในจังหวัดชายแดนใต้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน การตรวจสอบเรื่องการวิสามัญฆาตกรรมที่มีการกล่าวหาในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างแนวทางการปฏิบัติงานที่โปร่งใส และเป็นธรรม นำมาซึ่งการยอมรับ และความเชื่อถือจากประชาชน
ที่มา : MGR Online