“ขออนุญาตเรียกตัวเองว่า คนปาตานี ได้มั้ยครับ” ข้อความข้างต้นซึ่งกลายมาเป็นประเด็นร้อนในขณะนี้ เป็นข้อความที่อยู่บนป้ายผ้าโดยทางกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา(มรย.) นำมาใช้ในการเดินขบวนในงานแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยในครั้งนี้
ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา(มรย.) จัดมหกรรมจันทร์กะพ้อเกมส์ ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 6 -11 มีนาคม 2560 ภายใต้แนวคิด ปัญญาชน ประชาชน ชี้ชะตาสังคม ซึ่งในกิจกรรมนี้ได้มีนักศึกษาถือป้ายผ้าร่วมขบวนพาเหรด เข้าสนามในช่วงพิธีเปิดการแข่งขันเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2560 ได้นำเสนอแผ่นป้ายผ้า ที่มีข้อความ “ขออนุญาตเรียกตัวเองว่า คนปาตานี ได้มั้ยครับ” ซึ่งภาพดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ออกไปในกลุ่มสังคมออนไลน์ในวงกว้าง และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความคิดของกลุ่มนักศึกษาว่าที่กำลังจะเป็นบัณฑิตในอนาคต ซึ่งมีคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย ประเด็นในการแสดงความเห็นส่วนใหญ่เห็นว่ากระทบต่อความมั่นคง ทั้งยังเป็นการเสริมหนุนแสดงตนต่อต้านรัฐ การแยกดินแดน
ตามที่ปรากฏประเด็นการนำเสนอบนสื่อสังคมออนไลน์กรณีป้ายผ้าที่สร้างความไม่สบายใจในสังคม องค์การบริหารนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ขอเรียนว่าเป็นการนำเสนออย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นประเด็นสาธารณะ ซึ่งองค์กรนักศึกษาต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่ง ต่อไปจะได้เพิ่มความระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น “ขอยืนยันในความบริสุทธิ์ว่าสิ่งที่กระทำไปนั้น ไม่ได้มีเจตนาเพื่อให้เกิดความแตกแยกอย่างที่สังคม” โดยกิจกรรมดังกล่าว ขอยืนยันในความบริสุทธิ์ใจที่เกิดจากพลังของนักศึกษาจริงๆ และไม่ได้มีกลุ่มคนไม่หวังดีมายุยง ปลุกปั้น แทรกซึมความคิดให้กับนักศึกษาอย่างแน่นอน
มุมมองความคิดกับข้อความ “ขออนุญาตเรียกตัวเองว่า คนปาตานี ได้มั้ยครับ”
วรวัฒน์ แซ่คู นักศึกษา จากคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ข่าวผมไม่ได้ดูว่าออกมารุนแรงหรืออะไรเลย หรือออกมายังไงบ้าง

“ผมมองว่าในการที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งใช้กิจกรรมในการเคลื่อนไหวซึ่งมีข้อความว่า “ขออนุญาตเรียกตัวเองว่า คนปาตานี” โดยส่วนตัวผมว่าอยู่ที่บริบทของแต่ละคนจะมองซึ่งผมเองก็คิดว่ามันมองได้หลายมุม ถ้าผมเป็นคนในพื้นที่คิดว่าก็เหมาะสมในส่วนหนึ่ง ที่จะเรียกกลุ่มคนของเราหรือพักพวกของเราว่า คนปาตานี”
“แต่ผมเป็นคนนอกพื้นที่ซึ่งคิดว่าไม่เหมาะสม เพราะรัฐบาลยุคใหม่อยากให้ปรองดองเป็นหนึ่ง แต่คนไทยเองยังอยู่กันยากเลย อยู่ที่มุมมองของแต่ละคน ผมเองไม่อยากตัดสินใครว่าถูกหรือผิด แต่ละคนมีมุมมองที่ต่างกัน”
วรวัฒน์ ยังบอกอีกว่า กลุ่มนักศึกษา ม.ราชภัฏยะลาคิดว่าสนุกสนานในองค์กรของเขา แต่พอมันออกไปสู่สังคมภายนอก คนนอกอาจจะมองเป็นเรื่องอื่น ทำให้รู้สึกว่าเหมือนทำตัวแบ่งแยก พื้นฐานประวัติศาสตร์แต่ละพื้นที่ต่างกัน ขนาดผมเป็นคนใต้ คืออยู่ 14 จังหวัดในภาคใต้ แต่ทำไมพอพูดถึง 3 จังหวัด เราต่างเรียกว่า 3 จชต. ด้วยความที่คน 3 จชต. อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยและได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “เหรียญมี 2 ด้าน เราตัดสินใครไม่ได้ เราไม่ใช่ผู้นำประเทศ”

ขณะที่ อัฐพล ปิริยะ นักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ในฐานะนักกิจกรรมคนหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนตัวผมมองว่าเป็นเรื่องของสิทธิของแต่ละคน
กรณีนี้เกิดขึ้นนานพอสมควรแล้ว มันจะมีกลุ่มหรือว่าคนที่เอาเนื้อหาที่เป็นประเด็นในส่วนนี้ นำมาผลิตซ้ำ ทั้งนี้ผมมองว่ามันเป็นเรื่องของสิทธิที่จะกระทำหรือไม่กระทำการใดๆ มากกว่าที่จะมองว่าเป็นประเด็นปัญหา ในส่วนของการที่เขาเรียกหรือยืนยันว่าเขาเป็นใคร หรือเขาแสดงตัวตนตามอัตลักษณ์
ส่วนตัวผมมองว่า คำที่ใช้อย่างเช่นว่า “ปาตานี” โดยข้อความที่อยู่บนป้ายผ้าเขียนว่า “ขอเรียกตนเองเป็นคนปาตานี” คือผมเองไม่ได้เป็นคนที่เกิดในพื้นที่ 3 จังหวัด ผมจึงคิดว่าคำว่า “ปาตานี” เป็นของใหม่ถ้าเราเปรียบเทียบกับคำอื่นเช่น คำว่า “ฟาตอนี” ซึ่งเป็นคำที่มีความเก๋ากว่า ทั้งนี้คำว่า “ปาตานี” มันสื่อให้เห็นชัดว่า ยืนยันตามอัตลักษณ์ เช่นเดียวกันในสังคมอื่นที่มีการเรียกร้องอัตลักษณ์นี้ อย่างสังคมอเมริกาเองก็ด้วย
สังคมอเมริกาเดิมทีไม่ได้เป็นคนในพื้นเพคนอเมริกา ซึ่งเป็นคนจากยุโรปในยุคหนึ่งอพยพเข้าไป ซึ่งมีคนดั้งเดิมที่อยู่ในท้องถิ่นแถบนั้นอย่างเช่นคนอินเดียแดง ซึ่งปัจจุบันอเมริกาเองก็ได้บัญญัติศัพท์ เพื่อที่จะเรียกกลุ่มคนอินเดียนแดงว่า “Native American” (ชาวอเมริกันพื้นเมือง) แต่มีนักวิชาการบางคนอย่าง สลาวอย ชิเชค (Slavoj Zizek) ซึ่งเป็นนักวิชาการทางด้านปรัชญาใน สโลวีเนีย ก็ได้แสดงความคิดเห็นว่า เราไม่ควรใช้ “Political Correctness” (หรือที่ใช้เป็นคุณศัพท์วลีว่า politically correct โดยทั้งคู่จะใช้ตัวย่อว่า PC) คือทัศนคติ นโยบาย หรือพฤติกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติ เพศ สติปัญญา ความบกพร่องทางร่างกาย ฯลฯ โดยหลีกเลี่ยงการใช้คำที่อาจก่อให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว” (อ้างอิงจากเว็บไซต์ของสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
การเรียกอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อที่จะดูสุภาพ แต่จริงๆแล้ว มันขัดแย้ง คำว่า “Native American” จริงๆแล้วถามว่าใช้ได้ไหม มันก็ใช้ไม่ได้ แต่เขาไม่ใช่อเมริกันพื้นเมือง แต่พวกเขาคืออินเดียนแดง เช่นเดียวกันการที่เราใช้คำว่า คนไทยมลายู คนไทยมุสลิม หรือว่าอะไรก็ตามแต่ที่มีคำว่า “ไทย” คำว่าไทยมันเป็นของใหม่ แต่ในขณะเดียวกันคำว่า ไทยมันเป็นสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นพึ่งเกิดขึ้น เช่นเดียวกับคนมลายู จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศใช้ กฎหมายรัฐนิยม แม้กระทั้งคนมลายู คนปาตานี คนที่ไหนเองก็ตามทีเป็นกลุ่มชนพื้นเมือง
เราสมควรที่จะเรียกหรือว่าเข้าใจในอัตลักษณ์ที่เขาเป็น ที่เขาดำเนินอยู่ มากกว่าที่เราจะใช้ความเป็น Political Correctness คำว่าไทยมันรองรับคนทุกรูปแบบที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยแห่งนี้ แต่ในขณะเดียวกันมันทำให้ชุดความจริงบางอย่างบิดเบือนไป การที่เรามองว่าเขาเป็นคนแบบไหน หรือว่าเขาเป็นคนชาติไหน อยากให้เรายอมรับในตรงนี้มากกว่า
การที่กลุ่มนักศึกษา ม.ราชภัฏยะลาใช้กิจกรรมในการเคลื่อนไหวดังกล่าว ผมมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ (New Social Movements) ซึ่งใช้เครื่องมือทางวัฒนธรรมในการเคลื่อนไหว ผมมองว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวขอโฟกัสไปที่นักศึกษา ม.ราชภัฏยะลามันไม่ได้เป็นรูปแบบใหม่ในสังคมปัจจุบันนัก แต่มันเป็นการอาศัยเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่มีผลกระทบหรือว่าส่อให้เห็นนัยยะทางสังคม ที่เขาเองพยายามจะสื่อให้เห็นว่ายอมรับความเป็นตัวตนทางอัตลักษณ์แบบไหน มีความคิดแบบไหนและต้องการจะสื่อออกมาแบบไหน ผมเองก็มองว่าการแสดงออกดังกล่าว เป็นการแสดงออกในลักษณะการแสดงที่เป็นสันติวิธีที่สร้างสรรค์อย่างหนึ่ง
สำหรับสังคม 3 จชต. เป็นสังคมที่เป็นเผชิญหน้ากับความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรง กระทบไปถึงความมั่นคงทั้งในส่วนของรัฐและพลเรือน ฉะนั้นการแสดงออกของกลุ่มนักศึกษากลุ่มนี้ ผมก็มองว่าเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริม และควรจะสร้างวัฒนธรรมวิธีเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง จริงๆแล้วในกระบวนการในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทุกวันนี้ ไม่ได้แก้ไขเพื่อให้เกิดสันติภาพอย่างถาวร
แต่ต้องการจะแก้ไขการใช้ความรุนแรง เช่นเดียวกันถ้าเกิดมีกลุ่มคนออกมาไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของ กลุ่มนักศึกษา ม.ราชภัฏยะลา ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าเรากำลังจะปิดกั้นถึงวิธีการ หรือกระบวนการในการขัดแย้งที่เป็นลักษณะการขัดแย้งที่ไม่ใช้ความรุนแรงเลย แต่เป็นลักษณะการขัดแย้งที่ก่อให้เกิดการถกเถียงประเด็นทางสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากกว่า

เช่นเดียวกับ อายุ อามิง ในฐานะอดีตนักกิจกรรมนายกสโมสร คณะศึกษาศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นสิทธิของกลุ่มเด็กนักศึกษาเหล่านั้น
จากการที่กลุ่มเด็กนักศึกษา ม.ราชภัฏยะลาได้เดินถือป้ายผ้าพร้อมข้อความ “ขออนุญาตเรียกตัวเองว่าคนปาตานี” ผมมองว่าเป็นสิทธิของเขา เขามีสิทธิที่จะถือ เขามีสิทธิที่จะเรียกตัวตนว่า “ปาตานี” และอีกอย่างรัฐบาลควรเปิดโอกาสให้เด็กเหล่านี้ เพราะว่าเด็กนักศึกษาเหล่านี้มีสิทธิที่จะเรียกร้องตามสิทธิเสรีภาพของตนเองต่างๆได้ แต่ในปัจจุบันรัฐเองอาจมองว่า นักศึกษากลุ่มนี้ จะเป็นพวกหัวรุนแรง โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใดที่จะเรียกตนเองว่า “คนปาตานี”
หรืออีกด้านหนึ่ง จุรินทร์ มะหมัด อดีตประธานกรรมการจัดตั้งชมรมวาทนิเทศ นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ผมไมใช่คนในพื้นที่ ผมเป็นคนนครเรียกตัวเองว่า “คนคอน”

“ผมเองมองว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งไม่ได้รู้สึกแปลกเลยกับการที่จะมีกลุ่มคนเรียกตนเองว่า “คนปาตานี” โดยเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่เขาจะเรียกตัวเองในรูปแบบใดก็ได้ มันต่างไปจากรัฐไทยหรือไม่ใช่คนไทยอย่างไร หรือคนปาตานีมีความเชื่อมโยงต่อประวัติศาสตร์จึงทำให้เป็นประเด็นออกไปสู่สังคมภายนอก”
ส่วนตัวผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าแปลก ด้วยความที่ผมเองเคยเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยปกติ ม.ธรรมศาสตร์ก็จะมีกิจกรรมกีฬาการแข่งขันฟุตบอลประเพณี มธ.-จุฬาฯ ซึ่งผมเองก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวในครั้งที่ 71 เลยไม่ได้รู้สึกว่าจะเป็นสิ่งที่แปลกใหม่กับการที่กลุ่มนักศึกษากลุ่มหนึ่งจะออกมาถือป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “ขออนุญาตเรียกตนเองว่าคนปาตานี”
นอกจากนั้นในกิจกรรมกีฬาแข่งขันฟุตบอลประเพณี มธ.-จุฬาฯ ก็มีการถือป้ายแบบนี้อยู่และมีการแปลอักษรด้วย ซึ่งข้อความในการแปลอักษรนั้นก็เป็นในทำนองของการล้อเลียนรัฐบาล ซึ่งเป็นคำที่รุนแรงกว่า กิจกรรมของกลุ่มเด็กนักศึกษา ม.ราชภัฏยะลาในครั้งนี้ด้วย โดยส่วนตัวผมคิดว่าการที่มีกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสสำหรับงานกีฬาสีที่ควรจะสอดแทรกอะไรบางอย่างแทนที่จะไปมุ่งเน้นแต่กิจกรรมกีฬาเพียงอย่างเดียว การที่มีข้อความออกมาในลักษณะนี้ทำให้เราต้องทำต้องคิด ซึ่งมันก็เหมาะสมควรส่งเสริม
ต่างจากนักศึกษาอีกคน(ไม่ประสงค์ออกนาม) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ทราบข่าวนี้เลย ไม่รู้มาก่อนเลย เมื่อไหร่ ซึ่งตนเองก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใจด้วย
นักศึกษาคนนี้ได้แสดงความเห็นของตนถึง กลุ่มนักศึกษา ม.ราชภัฏยะลา ที่ได้นำเอาป้ายผ้ามาร่วมเดินขบวนพาเหรด ซึ่งมีข้อความว่า “ขออนุญาตเรียกตนเองว่า คนปาตานี ได้มั้ยครับ” ว่า ไม่ได้รับรู้มาก่อนเลยมีข่าวเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ซึ่งตนเองนั้นก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไรกับข่าวนี้ด้วย และการที่คนบางกลุ่มจะเรียกตนเองว่า คนปาตานี นั้นไม่คิดว่าต้องขออนุญาตด้วย ทำไมต้องขออนุญาต ซึ่งทุกคนเองก็ต่างมีสิทธิมีเสียงที่จะเรียกคนในกลุ่มตนว่าอย่างไรก็ได้
นอกจากนี้นักศึกษาได้กล่าวอีกว่า ถ้าคิดว่าแดดไม่ร้อนมากนัก ถ้าอยากจะถือป้ายผ้าเดินขบวนอย่างไรก็ทำตามความสะดวกของแต่ละคน อยากจะเรียกอะไรก็เรียกไปเลย จะไปขออนุญาตใคร คุณจะเรียกตัวเองว่าอะไรไม่เห็นต้องขออนุญาต ใครอยากเรียกตนเองหรือกลุ่มคนของตนในรูปแบบไหนหรือลักษณะใดก็ได้ และคิดว่าจากข่าวที่ออกมานั้นทางผู้หลักผู้ใหญ่จะมีการตั้งกรรมการตรวจสอบว่ามีกลุ่มผู้คนไม่หวังดีเข้ามาสอดแทรกกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งนักศึกษาก็ได้ตั้งคำถามว่า “คิดว่าจะทำไปเพื่ออะไร ป่วยหรือเปล่า”
ทั้งหมดคือ ‘ปาตานี’ ในมุมมองจากคนรุ่นใหม่ จะเรียกอะไร ใครเป็นผู้กำหนด