หน้าแรก บทความ

“Book Club” กับหลากรสนิยมการอ่านของนักกิจกรรมชายแดนใต้

ภาพบรรยากาศในงาน 'Book Club'

บริบทสังคมสมัยใหม่ มีเรื่องราวความรู้มากมายในโลกที่เป็นไป การอ่านก็ยิ่งมีความสำคัญและมีความจำเป็นมากเท่านั้น ดังนั้นการอ่านจะต้องได้รับการปลูกฝังมาแต่เยาว์วัยจากครอบครัว โรงเรียน และสังคม การส่งเสริมให้เยาวชนมีนิสัยรักการอ่านรู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเองนั้น เพื่อให้เกิดสังคมแห่งการอ่านเป็นวัฒนธรรม จึงต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ครอบครัว โรงเรียน และสภาพสังคม

ซึ่งทางกลุ่มนักกิจกรรม นักวิชาการ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้เล็งเห็นถึงข้อสำคัญเหล่านี้ จึงได้มีการรวมตัวกันกระตุ้นให้มีเวทีของการอ่านในชื่อ “Book Club” ภายใต้สโลแกน (read for change) “อ่านเพื่อเปลี่ยนแปลง”

“Book Club” เป็นการเปิดเวทีด้วยการจัดกิจกรรมสนทนาอย่างสบายๆ ณ ร้านกาแฟ อะนาโตมี่ ใต้ตึกพรีคลินิก มอ.ปัตตานี ในวันที่ 5 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ร่วมสนับสนุนโดยโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ระยะขยาย (ช.ช.ต.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาและ World Bank ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการอ่านและเชิญชวนให้คนอยากอ่านมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามก่อนจะเข้าไปสู่เรื่องของการอ่านหนังสือนั้น Book Club” ได้เริ่มด้วยการพูดคุยถึง “คนที่อ่านหนังสือ” คนที่มาฟังและแลกเปลี่ยน แบ่งปันประสบการณ์การอ่านที่มีความหลัง บอกเล่าถึงรสนิยมความชอบในการอ่าน รักในการอ่านเพื่อจะเป็นแนวทางให้กับผู้ฟัง ได้เริ่มสนใจอยากจะอ่าน หรือชอบในการอ่านมากยิ่งขึ้น กิจกรรมสนทนาเป็นไปอย่างสบายๆ จิบกาแฟไปด้วย ผู้เข้าร่วมต่างเลือกที่นั่งกันตามอัธยาศัย ให้อารมณ์เหมือนเรามานั่งจิบกาแฟแล้วมีบทสนทนาร่วมกัน

การจัดกิจกรรมครั้งนี้มีผู้สนใจหลากหลายรุ่นทั้งกลุ่มคนที่มีอายุ วัยทำงานหรือแม้แต่ตัวนักศึกษาเองรวมทั้งหญิง ชาย ก็ได้ให้ความสนใจในงานBook Club” ขณะที่ผู้นำการสนทนาก็มีหลายสาขาอาชีพ นักกิจกรรม นักวิชาการและนักสื่อสาร รวมทั้งคนอื่นๆ ที่มาในฐานะผู้ร่วมฟัง ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์

สำหรับเนื้อหาในวงสนทนา Book Club” เริ่มด้วยการสนทนาจะเป็นการพูดคุยที่สบายๆ มีการหยอกล้อไปด้วยทำให้เรียกเสียงหัวเราะจากผู้เข้าร่วมได้เป็นอย่างมาก ซึ่งเรื่องที่พูดจะเป็นเรื่องความหลัง ความทรงจำ เส้นทางในการอ่านหนังสือที่อยากเรียนรู้การอ่าน โดยหนังสือเล่มแรกของแต่ล่ะท่านนั้น คงจะเป็นหนังสืออัล-กรุอาน หรือบางท่านก็จะเป็นหนังสือเรียนที่มีตัวละครดำเนินเรื่องอย่างเช่น มานี มานะ บางท่านก็จะเริ่มจากหนังสือในแนวปรัชญา ประวัติศาสตร์ วรรณกรรมและแม้แต่เพียงหนังสือพิมพ์ที่ใช้ห่ออาหาร เพราะเป็นสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบข้าง ซึ่งทำให้อยากเรียนรู้ อยากรู้จัก ทำให้ชอบและขวนขวายในการอ่านมากยิ่งขึ้น

แชร์ประสบการณ์และรสนิยมการอ่านหนังสือ

ซาฮารี เจ๊ะหลง นักจัดรายการวิทยุมีเดียสลาตัน ได้เล่าถึงเส้นทางการอ่านของตัวเองที่มีจุดเริ่มต้นการอ่านมาจากโรงเรียน เป็นหนังสือที่อยู่ในภาคบังคับของโรงเรียน

“ครั้งแรกที่อ่าน อ่านมานี มานะ เนื่องจากเป็นการอ่านภาคบังคับจากคุณครูในโรงเรียน สมัยตอนอยู่ ประถม ชอบดูภาพ ชอบดูหนังสือสารานุกรม เป็นหนังสือที่ภาพสวยมาก หลังจากนั้นจะอ่านหนังสือการ์ตูน เล่มละบาท อ่านแล้วนั่งหัวเราะคนเดียว เริ่มชอบในการอ่าน ไม่เน้นเรื่องอะไร เพราะชอบที่จะอ่าน”

ซาฮารี ยังเล่าต่อว่า หนังสือเล่มแรก ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ มีการเริ่มเรื่องที่สวย เนื้อเรื่องย้อนหลังไปในอดีต สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ แล้วยังเล่าเสริมอีกว่าชอบอ่านหนังสือนวนิยายจีน ภาษาที่ผู้เขียนใช้ ทำให้จินตนาการได้สวยมากๆ แต่ปัจจุบันหันมาอ่านหนังสือในแนววรรณกรรม ทำให้รู้สึกชอบงานหนังสือในแนววรรณกรรมมากขึ้น

ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้หันมาชอบการอ่าน ซึ่งมีการอ่านที่ไม่ต่างจากหลายๆคน

“จุดเริ่มต้นที่ผมหันมาชอบการอ่าน เป็นหนังสือในระบบโรงเรียนตามที่เราได้อ่าน แต่อยากเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในช่วงวัยรุ่น ช่วงอายุ 14-15 ปี เป็นการอ่านที่ทรงอิทธิพล ทำให้ผมรู้สึกรักการอ่าน กลายมาเป็นนักเขียน มีความฝังใจกับจดหมายรักในตอนนั้น โดยหญิงที่ชื่นชอบนั้นเขียนจดหมายได้สวยมาก ทั้งภาษา บทกลอน และหลังจากนั้นทำให้ผมได้มาเขียนจดหมายการมองความรู้สึกจากหัวใจเกี่ยวกับความรักมากจากรากเหง้า”

“รสนิยมในการอ่านเป็นบทกลอน กวี อ่านเกี่ยวกับบทบาทของตัวเอง ทำเพื่อคนอื่น ทำเพื่อสังคมในบทบาทนักกิจกรรม ผมจะอ่านองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับภูมิหลังที่ผมสนใจ เรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยไทย ทำให้รู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น และสนใจในเรื่องราวเหล่านี้จึงชอบที่จะเป็นนักอ่าน”

The City of God ขณะที่ อัสนี ดอเลาะแล ประธานศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา (PUKIS) เล่าว่า ผมเริ่มอ่านหนังสือตอนอายุ 23 ปี เริ่มอ่านหนังสือ The City of God

หนังสือ The City of God นครแห่งพระเจ้า ชื่อเต็มๆ The City of God Against the Pagans (ภาษาละติน: De ciuitate Dei contra paganos) มักเรียกกันสั้นๆ The City of God เป็นหนังสือปรัชญา คริสเตียนเขียนขึ้นในตอนต้นศตวรรษที่ 5

“หนังสือ The City of God ทำให้ผมเริ่มที่จะหันมาสนใจในการอ่าน ซึ่งเป็นหนังสือที่ชื่นชอบมาก อ่านไปประมาณครึ่งเล่มได้ โดยจะอ่านเป็นเวอร์ชั่นภาษาอาหรับ การอ่านหนังสือทำให้รู้สึกว่า โลกนี้มีอะไรที่ยังไม่รู้ ทำให้ผมได้เริ่มหันมาอ่านหนังสือ โดยส่วนตัวผมจะชอบเกี่ยวกับหนังสือแนวปรัชญา ซึ่งมีเนื้อหาที่สอดแทรกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ร่วมด้วย”

ซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์ ปี 2553 จากผลงานรวมบทกวีนิพนธ์ ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ได้เล่าถึงเส้นทางการอ่านของตัวเองในสมัยวัยเยาว์นั้นเริ่มอ่านตอนอายุ 6 ขวบ ซึ่งไม่ต่างจากเด็กคนอื่นๆใน 3 จชต.

“ก่อนหน้านี้อ่านหนังสือยังไม่ได้เหมือนเด็กทั่วไปใน 3 จังหวัด จำความได้ว่าในสมัยเรียนเมื่ออ่านหนังสือออก เริ่มเข้าห้องสมุด ชอบอ่านหนังสือพวกสารานุกรม หนังสือที่รวบรวมความรู้ต่างๆ เคย ได้เห็นการขึ้นไปบนดวงจันทร์เป็นภาพตอนเด็กๆ มีทั้งดนตรี อวกาศ ซึ่งถ้าเป็นหนังสือจริงๆ ที่อ่านหลายครั้ง ผมอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่มีอยู่ที่บ้าน คือ หนังสือเรื่อง แผ่นดินนี้เราจอง (Pioneer, Go home!)
ผู้เขียน Richard Powell ผู้แปล เทศภักดิ์ นิยมเหตุ ประทับใจตรงที่ว่า หนังสือสอดแทรกเรื่องสิทธิเสรีภาพเข้าไปด้วย การอ่านของผมคือเพราะอยากรู้ทำให้ผมชอบที่จะอ่าน”

ซะการีย์ยาเล่าเพิ่มเติมว่า ตอนนั้นเขียนไปรษณียบัตร ส่งไปตามสถานทูตต่างๆ ด้วยความอยากรู้ ต้องการอ่านหนังสือ สถานทูตที่มีวารสารต่างๆทั้ง สถานทูตอิสราเอล รัสเซีย ก็จะส่งมาให้ผม ทำให้อยากไปรัสเซียมากในตอนนั้น หลังจากนั้นก็จะเริ่มชอบการอ่านในแนวบทกวี เพราะรู้สึกมันมีอยู่ในตัว แปดเดือนที่ผ่านมานี้ ทำให้ผมหันมาสนใจหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สะสมประวัติศาสตร์ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ซึ่งผมจะอ่านประเด็นที่สนใจเป็นหลัก ประเด็นที่อยากรู้หรือสิ่งที่ตัวเองทำอยู่เป็นหลักแต่ในขณะเดียวกันจะมีความเกี่ยวข้องกัน

ขณะที่ อ.อันธิฌา แสงชัย จากภาควิชาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ มอ.ปัตตานีได้เล่าว่า ชอบการอ่านตั้งแต่จำความได้

“จุดเริ่มต้นของอ.อันธิฌา มักจะอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะแม่เป็นแม่ค้าที่ตลาด ก็อ่านจากกระดาษที่เขาห่อ อ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง จนอ่านได้เป็นเรื่องราว คือ อ่านหนังสือพิมพ์ ชอบอ่านจริงๆจัง ตั้งแต่ประถม ซึ่งที่บ้านไม่มีหนังสือเราต้องไปอ่านตามร้านหนังสือ เรามีวิธีการอย่างหนึ่งในการอ่านหนังสือ คือ มีรถจักรยาน ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ พอเล่นเบื่อๆ ก็มักจะปั่นไปอ่านหนังสือที่ร้าน โดยไปนั่งอ่านหนังสืออย่างเรียบร้อยแต่อ่านฟรี”

“นอกจากนี้ยังชอบที่จะอ่านหนังสือที่เป็นความรู้ทั่วไป ดวงดาว ดาราศาสตร์ และอื่นๆ จะเขียนไดอารี่ด้วย จึงมีความรู้สึกว่าการอ่านและการเขียนมันสะท้อนกัน เพราะสิ่งที่ให้เรามากที่สุดมันไม่ใช่การอ่าน แต่มันคือการอ่านในสิ่งที่ตัวเองเขียน การพูดถึงหนังสือบางเล่ม พูดถึงปรัชญาก็ได้อ่านปรัชญาหนึ่งของฝรั่งเศส อ่านงานแนวปรัชญามากขึ้น ในมุมมองรู้สึกว่าหนังสือทำให้เติบโต”

หลังงาน อ.อันธิฌา ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การอ่านจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ใน 3 จชต.

“ทำให้ได้เรียนรู้ความคิดของคนอื่นๆ การอ่านจะช่วยเยียวยาจิตใจ คน 3 จังหวัดที่อยู่ในสภาพความรุนแรง ไม่ต้องรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในความหวาดกลัวเช่นนี้ การอ่านให้ผลโดยตรง งานอ่านศาสนา งานอ่านคัมภีร์ กวี เรื่องสั้น มันเป็นเพื่อนช่วยคลายทุก ในอีกแง่หนึ่งมันทำให้เราเข้มแข็งขึ้น แต่การอ่านในพื้นที่ 3 จชต. ก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่นมีห้องสมุดอย่างทั่วถึงหรือยัง คนในพื้นที่มีโอกาสมากน้อยเท่าไหน ถึงจะมีโอกาสเข้าถึงหนังสือดีๆ มันจึงมีปัญหาซับซ้อนมากกว่านั้น”

ณายิบ อาแวบือซา นักวิจัย นักกิจกรรม ได้บอกถึงประสบการณ์ รสนิยมการอ่านของตัวเองตั้งแต่เริ่มอ่านตอนอายุ 6 ขวบ ซึ่งหนังสือที่อ่านมีหลากหลายแนว

“ผมอ่านได้ทุกแนว หนังสือเล่มแรก เริ่มอ่านหนังสืออัล-กรุอาน ตอนอายุ 6 ขวบ โดยมีพ่อบังคับให้อ่านทุกเช้า ทำให้ผมชอบอ่านหนังสือทุกประเภท อ่านได้ทุกแนว ไม่เฉพาะเจาะจง ทั้งงานวิจัย หนังสือไร้สาระ หนังสือกฎหมาย อ่านได้หมด แต่หนังสือที่อ่านแล้วทำให้รู้สึกชอบมากๆ คงจะเป็นหนังสือเรื่องผู้ชนะสิบทิศ เพราะอ่านไม่ต่ำกว่า 30 รอบ โดยส่วนตัวผมชอบสำนวน และณายิบได้บอกในตอนท้ายอีกว่าหนังสือคือเพื่อน เวลาอ่านหนังสือเหมือนเจอเพื่อนสนิทสักคน”

หรืออีกด้านหนึ่ง Hadee Wijaya นักกิจกรรมที่ท่องโลกไปกับการอ่าน ได้บอกว่า ผมไม่ได้มีแนวการอ่านว่าจะชอบแบบไหน แต่ผมอ่าน เพราะมีเหตุผลในบริบทต่างๆ

“ผมคิดว่า การอ่านมันมีเหตุผล คือ อ่านอะไรก็ได้ให้ตัวเองสบายใจ อ่านเพื่อรู้จักอะไรบางอย่าง อ่านเพื่อทำความเข้าใจกับอะไร และอ่านเพื่อทำงาน แน่นอนทุกคนต้องอ่านเพื่อเป็นภารกิจของชีวิต ซึ่งเราอยู่ในพื้นที่แห่งนี้พื้นที่ที่มีความซับซ้อนอยู่มาก การอ่านทำให้เราเข้าใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งผมเองไม่สามารถตอบได้ว่ามีรสนิยมการอ่านรูปแบบใด”

หลังงาน Hadee ยังได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า “การอ่านมันคงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอย่างเดียวหรอก แต่การอ่านจะเป็นประตู เป็นประสบการณ์จากที่อื่นๆ ทำให้เห็นถึงวิธีการแก้ปัญหา อ่านเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่คงไม่ได้ตรงขนาดนั้น”

ต่างจาก ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ นักกิจกรรมอีกท่านหนึ่ง ได้เล่าว่าชอบอ่านหนังสือในแนวที่แสดงให้เห็นถึงชีวิต

“ผมจะชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับการแสดงให้เห็นถึงชีวิต การต่อสู้ การผจญภัย การกระทบกระเทือนอารมณ์ความรู้สึก และประวัตินบี(ศาสดา) ทำให้เห็นถึงการต่อสู่ เหตุผลทำไมถึงชอบหนังสือประเภทของวิถีชีวิตคน ซึ่งปรัชญเกียรติได้เล่าว่า หนังสือประเภทวิถีชีวิตคน คือ โลกตั้งแต่เด็กอยู่ในโลกของจินตนาการ”

“ผมรู้สึกว่า หนังสือเหล่านั้นทำให้เห็นการมีความสุข ส่วนการดูหนังในตอนนั้นจะเป็นหนังในลักษณะจักรๆวงศ์ๆ ที่ปลูกฝังศีลธรรมที่ในอดีตต้องอาภัพหน่อย ซึ่งสภาพแวดล้อมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เพลงที่ฟัง ทำให้ได้รับอิทธิพลเข้ามามาก ชอบอ่านอะไรที่เห็นชีวิต เป็นกลอน กวี การระทบระเทือนอารมณ์ชีวิตคน ทำให้เห็นเรื่องราวในความเป็นมนุษย์ยิ่งขึ้น”

การอ่านจะช่วยคลี่คลายปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้

ดาราณี ทองศิริ นักอ่านจากร้านหนังสือบูกู ให้สัมภาษณ์หลังงานว่า “ส่วนตัวมองว่าปัญหา 3 จชต. แก้ได้หลายทาง หนังสือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง การอ่านหนังสือจะทำให้คนได้รู้อะไรมากยิ่งขึ้น เพราะหนังสือได้บอกเล่าบางอย่างที่กว้างออกไป หนังสือจะเป็นส่วนช่วยในการต่อยอด”

ขณะที่ ซุกกรียะห์ บาเหะ เจ้าหน้าที่จากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาชายแดนใต้ หรือ LDI ได้ให้สัมภาษณ์หลังงานว่า “Book Club” เป็นการเปิดเวทีคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ มีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ทำให้เห็นถึงพัฒนาการของ “Book Club” ถ้าเป็นไปได้อยากจะจัดแบบหมุนเวียน ให้ครบ 3จังหวัด ให้วิทยากรคนเดิม walk in เข้าไปร่วมด้วย

นอกจากนั้น ซุกกรียะห์ ยังได้บอกเพิ่มเติมอีกว่า “การจัดงาน “Book Club” ในครั้งนี้จะเป็นประเด็นการแลกเปลี่ยนทางความคิด มีหลากหลายช่วงวัยด้วยกันที่เข้าร่วม ทั้งหญิง ชาย พุทธ มุสลิม ก่อนหน้านี้ยังไม่มีพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ งาน“Book Club” จึงเป็นกาวประสานบางอย่างระหว่างจุดเล็กๆขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้เกิดสันติภาพ คนที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ทำให้ตกผลึกเติมเต็มซึ่งกันและกันได้ ซึ่งเกินความคาดหวังที่วางเอาไว้ และงาน“Book Club” จะจัดขึ้นภายใน 2 เดือนต่อครั้ง แต่มีเสียงร้องออกมาว่าอยากให้มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในอนาคต ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีการจัดเดือนละครั้ง”

ทั้งหมดนี้ก็เป็นหลากรสนิยมการอ่านของชาว “Book Club” แล้วรสนิยมของคนอื่นๆ ล่ะเป็นอย่างไร