ในตอนที่ 1 ของบทความนี้ เราได้เห็นประวัติศาสตร์ในช่วงต้นของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันดับสามในอิสลาม หรือ มัสยิด อัล-อักศอ ไปแล้ว จากสถานที่ทิ้งขยะของโรมันและไบแซนไทน์มาสู่มัสยิดขนาดกลางที่สร้างขึ้นโดย อุมัร อิบนฺ อัล-คอตตอบ และมาสู่อาคารขนาดยักษ์ที่ประดับด้วยโดมแห่งศิลาในสมัยราชวงศ์อุมัยยะฮ์ อิสลามมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของสถานที่ฮะรอม อัล-ชะรีฟ แห่งนี้ ในศตวรรษต้นๆ ของอิสลาม อย่างไรก็ตาม เมื่อราชวงศ์ฟาติมียะฮ์ได้ขึ้นครองอำนาจในสมัย 900s อิสลามดั้งเดิมได้ถูกแทนที่ด้วยแนวคิดอิสลามหัวรุนแรงและการโฆษณาชวนเชื่อของราชวงศ์ฟาติมียะฮ์
ในตอนที่สองของบทความนี้ เราจะมองไปที่ภัยคุกคามจากพวกนักรบครูเสดที่มีต่อมัสยิดและประวัติศาสตร์ของบริเวณนั้นในเวลาต่อมาในสมัยของราชวงศ์มัมลุคและออตโตมาน
นักรบครูเสด
ในปี 1095 จักรพรรดิ์อเล็กเซียสแห่งไบแซนไทน์ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากพระสันตปาปาเออร์แบน ที่ 2 ในกรุงโรม ในการทำสงครามต่อเนื่องของเขากับเซลจุก เติร์ก ในคาบสมุทรอนาโตเลีย การตอบสนองของพระสันตปาปาเป็นครูเสดครั้งที่หนึ่ง ซึ่งวัตถุประสงค์ของมันไม่ใช่การต่อสู้กับเซลจุก แต่เป็นการพิชิตเยรูซาเล็มจากมุสลิม และสถาปณาอาณาจักรแคธอลิกขึ้นบนแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์
เมื่อนักรบครูเสดเข้ามา เหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของมัสยิดอัล-อักศอก็เกิดขึ้น เนื่องจากนักรบครูเสดประกาศชัดว่าพวกเขาจะไม่จับใครเป็นนักโทษ มุสลิมจำนวนมากในเมืองจึงหลบหนีเข้าไปหาที่ปลอดภัยที่มัสยิดนั้น แต่นักรบครูเสดมีความมุ่งมั่นที่จะจัดการกับมุสลิมทุกคนในเมืองนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ก็ตาม พวกเขาได้บุกเข้าไปในมัสยิดพร้อมอาวุธ ตัดสินใจที่จะฆ่าทุกคนในมัสยิด
การสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นตามมาได้สังหารมุสลิมในมัสยิดแห่งนั้นไปหลายพันคน สำหรับนักรบครูเสด นี่เป็นสิ่งจำเป็นในการชำระล้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ นักรบครูเสดหลายคนเขียนโอ้อวดถึงเหตุการณ์การสังหารหมู่นี้ บางคนถึงขนาดเขียนว่ามันเป็นสถานที่ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็น “เลือดท่วมถึงเข่า” ของนักรบครูเสดในมัสยิดแห่งนั้น สำหรับชาวมุสลิมแล้ว นี่เป็นโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นกับมัสยิดแห่งนี้
สำหรับนักรบครูเสด การกำจัดชาวมุสลิมในเยรูซาเล็มทำให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงฮะรัมแห่งนี้มาเป็นสถานที่ใช้ประโยชน์ของพวกเขาเอง ผู้ปกครองคนแรกของราชอาณาจักรเยรูซาเล็มใหม่ ก๊อดฟรีย์ ได้ตั้งที่พักขึ้นในมัสยิดอัล-อักศอ การตกแต่งภายในของมัสยิดถูกปรับปรุงใหม่ทั้งหมดเพื่อเปลี่ยนเป็นพระราชวัง โดยทำผนังภายใน, ห้อง และสวนใหม่ สัญลักษณ์เกี่ยวกับมุสลิมทั้งหมดในอดีตถูกปกปิดไปหมด อักษรประดิษฐ์ในมัสยิดถูกปิดทับ พรมปูละหมาดถูกรื้อทิ้ง และมิฮ์รอบ (ซุ้มหน้าโถงละหมาด) ถูกกั้นผนังด้วยอิฐ
ส่วนโดมแห่งศิลาที่ตั้งอยู่ไม่กี่ร้อยเมตรทางเหนือ นักรบครูเสดก็มีแผนที่จะตั้งเป็นอาคารที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ของตัวเอง พวกเขาไม่สนใจประวัติศาสตร์ของอาคารแห่งนี้ บางคนถึงขนาดเชื่อว่าแต่เดิมมันเป็นวิหารที่ถูกสร้างขึ้นโดยโซโลมอน (ศาสนาสุลัยมาน) ในสมัยโบราณ อย่างไรก็ตาม พวกเขาได้เปลี่ยนอาคารหลังนี้ให้เป็นโบสถ์ที่เรียกว่าวิหารของพระเจ้า (Temple of the Lord) เช่นเดียวกับในมัสยิดอัล-อักศอ อักษรประดิษฐ์ของอิสลามถูกปกปิดทับ และสัญลักษณ์ทั้งหมดของอิสลามในอดีตถูกลบทิ้งไป หินที่อยู่ใต้โดมถูกคลุมทับด้วยหินอ่อนและทำเป็นแท่นสำหรับสวดมนต์
นับตั้งแต่ที่มุสลิมถูกกีดกันอย่างเป็นทางการไม่ให้เข้าไปในเมืองนี้ จึงไม่มีการละหมาดรวมเป็นหมู่คณะในมัสยิดแห่งนี้ มีนักการทูตมุสลิมจำนวนจำกัดที่ได้เข้ามายังเยรูซาเล็มและได้รับอนุญาตให้ทำละหมาดที่นั่นเฉพาะบุคคล แต่ตัวอย่างเช่นนี้ก็มีน้อยและนานๆ ครั้ง
ซาลาฮุดดีน และราชวงศ์มัมลุค
ในยุค 1180s สุลต่านชาวเคิร์ด ซาลาฮุดดีน อัล-อัยยูบี ได้รวบรวมรัฐมุสลิมที่เคียดแค้นโดยรอบเมืองเยรูซาเล็ม ด้วยกองทัพมุสลิมที่เขารวบรวมขึ้นนี้ เขาได้ปลดปล่อยเมืองเยรูซาเล็มจากนักรบครูเสดได้ในปี 1187 ซาลาฮุดดีน ไม่เหมือนกับนักรบครูเสดเมื่อ 88 ปี ก่อนหน้านี้ เขาไม่อนุญาตให้มีการสังหารหมู่พลเรือนหรือทหาร แต่อย่างไรก็ตาม เขาได้สั่งให้นักรบครูเสดออกไปจากเมืองและและยึดฮารัมแห่งนี้คืนให้แก่ชาวมุสลิม
ซาลาฮุดดีน ปฏิญาณว่าจะทำความสะอาดมัสยิดอัล-อักศอภายในหนึ่งสัปดาห์แห่งการปลดปล่อยของเมืองนี้ เป็นช่วงที่ตรงกับการละหมาดวันศุกร์ถัดไป เช่นเดียวกับอุมัร คอลิฟะฮ์คนที่สอง เมื่อ 550 ปีก่อนหน้าเขา ซาลาฮุดดีน ทำงานร่วมกับทหารและผู้ปฏิบัติตามของเขาเพื่อทำความสะอาดมัสยิดแห่งนี้ โครงสร้างภายในมัสยิดที่นักรบครูเสดสร้างขึ้นถูกรื้อลง ห้องน้ำและเครื่องตกแต่งของนักรบครูเสดถูกรื้อออกไปจากมัสยิด ซึ่งซาลาฮุดดีน ได้ประพรมน้ำกุหลาบด้วยตัวของเขาเอง มิห์รอบถูกเปิดกลับมาอีกครั้งเช่นเดียวกับอักษรประดิษฐ์ของอิสลามที่เคยถูกนักรบครูเสดปิดทับไว้ ซาลาฮุดดีนถึงขนาดนำมิมบัร (แท่นเทศนา) ที่สร้างขึ้นในดามัสกัสเข้ามาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปลดปล่อยเยรูซาเล็ม นอกเหนือจากตัวมัสยิดแล้ว ซาลาฮุดดีนยังได้ตั้งสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่งขึ้นภายในฮะรัมนี้ และเขาพยายามที่จะนำลักษณะความเป็นอิสลามของเมืองนี้กลับคืนมา
ถึงแม้จะมีสงครามครูเสดครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบโต้การพิชิตเมืองนี้ของมุสลิม แต่ซาลาฮุดดีนก็สามารถที่จะป้องกันเมืองนี้จากการโจมตีของนักรบครูเสดได้ หลังจากที่เขาเสียชีวิตในปี 1193 ราชวงศ์อัยยูบีของเขายังได้ปกครองเมืองเยรูซาเล็มต่อไป และมีหน้าที่ป้องกันเมืองนี้จากการโจมตีของนักรบครูเสด ช่วงท้ายยุค 1200s และช่วงต้น 1300s ราชวงศ์อัยยูบีค่อยๆ เปิดทางให้แก่รัฐสุลต่านแห่งอียิปต์ของราชวงศ์มัมลุคใหม่ ซึ่งปกครองโดยทหารทาสชาวเติร์กที่จะขึ้นมามีอำนาจในไคโร
ระหว่างสมัยการปกครองของสุลต่านราชวงศ์มัมลุค ความกระตือรือร้นที่จะทำสงครามครูเสดของชาวยุโรปค่อยๆ บรรเทาลงไป ทำให้เยรูซาเล็มปลอดภัยจากการโจมตีมากขึ้น ดังนั้น ราชวงศ์มัมลุคจึงสามารถเน้นไปทางด้านการสร้างสิ่งปลูกสร้างแบบอิสลามในเมืองนี้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่ภายในฮะรัมและบริเวณใกล้เคียง ชานระเบียงที่มีเสาขนาดใหญ่แบบใหม่ถูกสร้างขึ้นทางด้านตะวันตกของฮะรัม เพื่อกั้นเขตตลาดของเมือง โดมแห่งศิลาถูกปรับปรุงใหม่และมีน้ำพุและโดมถูกสร้างขึ้นหลายแห่งในฮะรัมเพื่อให้ผู้ปฏิบัติกิจได้ใช้
โรงเรียนกฎหมายอิสลามถูกสร้างขึ้นหลายแห่งตรงเขตแดนของฮะรัม นักเรียนนักศึกษาถือว่าเป็นพรพิเศษที่ได้มาอยู่ในเมืองนี้ และเหมือนได้รับรางวัลพิเศษที่ได้ศึกษาเรียนรู้ศาสนาอิสลามโดยมีมัสยิดอัล-อักศอและโดมแห่งศิลาอยู่ในสายตา มุสลิมจากแอฟริกาเหนือ, เปอร์เซีย และแม้แต่จากที่ห่างไกลอย่างอินเดียและจีน ได้แห่แหนกันมายังมัสยิดแห่งนี้เพื่อศึกษาและเพื่อสักการะ นักวิชาการผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค 1300s อิบนฺ ตัยมิยะห์ ถึงขนาดเขียนตำราสั้นๆ เกี่ยวกับประโยชน์ของการได้มาเยือนมัสยิดอัล-อักศอ และมารยาทและการละหมาดที่ถูกต้องเพื่อปฏิบัติขณะอยู่ที่นั่น
อาณาจักรออตโตมาน
ตามบันทึกของอิบนฺ คอลดูน อาณาจักรต่างๆ ถูกปกครองให้เจริญรุ่งเรืองและล่มสลายอยู่ทุกๆ สองสามร้อยปี และราชวงศ์มัมลุคก็เป็นเช่นเดียวกันนั้น เมื่อถึงต้นยุค 1500s มหาอำนาจใหม่ของโลกมุสลิมคืออาณาจักรออตโตมาน ที่ตั้งอยู่ในเมืองแห่งประวัติศาสตร์อย่างอิสตันบูล ในปี 1513 สุลต่านเซลิมที่ 1 ของออตโตมานได้ทำสงครามกับมัมลุค และในปี 1516 เขามาปรากฏตัวอยู่ด้านนอกกำแพงเมืองเยรูซาเล็มพร้อมกับกองทัพเติร์กแห่งออตตานของเขา และได้รับมอบกุญแจเมืองโดยสันติจากฝ่ายปกครองท้องถิ่นของเมือง
ในฐานะส่วนหนึ่งของอาณาจักรที่ทรงอำนาจมากที่สุดในโลกแห่งยุค 1500s เยรูซาเล็มได้พบกับการฟื้นตัวครั้งใหม่ มันถูกเปลี่ยนให้เป็นเมืองหลวงของซันจัก(sanjak) แห่งเยรูซาเล็ม จังหวัดของซีเรีย ออตโตมานได้ส่งผู้ปกครอง ทหาร และคณะบริหารไปยังเมืองนี้เพื่อช่วยบริหารจัดการเมือง
สำหรับมัสยิดแห่งนี้ การควบคุมของออตโตมานหมายถึงยุคใหม่ของการก่อสร้างและเสริมความสวยงาม สุลัยมาน อัล-คานูนี บุตรชายของเซลิม ได้ขึ้นสู่อำนาจในปี 1520 ในสมัยของเขา โดมแห่งศิลาถูกปรับปรุงใหม่ทั้งหมดอย่างยิ่งใหญ่ ด้านนอกของอาคารถูกปดทับด้วยหินอ่อน กระเบื้องสี และอักษรประดิษฐ์ โองการจากบทที่ 36 ของคัมภีร์กุรอาน (ซูเราะฮ์ยาซีน) ถูกประดับไว้ตรงส่วนบนสุดของกำแพง ซึ่งยังคงสามารถมองเห็นได้จนถึงทุกวันนี้ สุลัยมานยังได้สร้างน้ำพุขึ้นใกล้กับประตูทางเข้าหลักของมัสยิดอัล-อักศออีกด้วย ซึ่งผู้มาปฏิบัติกิจยังคงได้ใช้เพื่อทำวุฎูอฺ สำหรับตัวเมือง สุลัยมานได้สั่งให้มิมาร ซีนาน หัวหน้าสถาปนิกของเขาสร้างกำลังรอบเมืองขึ้นใหม่ ซึ่งก็อยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ด้วยเช่นกัน
อังกฤษและอิสราเอล
เป็นเวลาหลายศตวรรษภายใต้การปกครองของออตโตมาน เยรูซาเล็มและมัสยิดอัล-อักศอยังคงอยู่ในสภาพปกติ ขณะที่ชาวมุสลิมีหน้าที่บริหารจัดการเมืองนี้ ชาวยิวและชาวคริสเตียนได้รับเสรีภาพทางศาสนา ด้วยกฎของอิสลามและข้าวฟ่างจากออตโตมาน ความสมดุลนั้นถูกรบกวนด้วยการปรากฏตัวขึ้นของขบวนการไซออนิสต์ในยุโรป ที่พยายามจะเปลี่ยนเยรูซาเล็มและพื้นที่โดยรอบให้เป็นรัฐของยิวโดยเฉพาะ
เมื่อการร้องขอของพวกเขาถูกปฏิเสธโดยสุลต่านอับดุลฮามิดที่ 2 ในช่วงปลายยุค 1800s ไซออนิสต์ได้หันไปหาอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1 ออตโตมานได้เข้าสู่สงครามเป็นฝ่ายตรงข้ามกับอังกฤษในปี 1914 และอังกฤษได้รุกคืบอย่างรวดเร็วผ่านคาบสมุทรซีนายและปาเลสไตน์จากปี 1915 ถึง 1918 ในปี 1917 อังกฤษได้ยึดเมืองเยรูซาเล็ม เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สมัยของครูเสดที่เมืองนี้ตกอยู่ในมือของผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่เหมือนกับสมัยครูเสดก็คือ การสังหารหมู่ไม่ได้เกิดขึ้นตามมา ชุมชนชาวมุสลิมในเมืองเยรูซาเล็มได้รับอนุญาตให้ปกครองพื้นที่ของฮะรัมต่อไป แม้จะอยู่ภายใต้การดูแลของอังกฤษก็ตาม
สำหรับไซออนิสต์ การควบคุมเยรูซาเล็มของอังกฤษหมายถึงการเพิ่มจำนวนการอพยพของชาวยิวจากยุโรป ชาวยิวหลายแสนคนอพยพมายังปาเลสไตน์ โดยที่พวกเขาจำนวนมากตั้งถิ่นฐานอยู่ในเยรูซาเล็ม เมื่อถึงเวลาที่อังกฤษออกตัวออกไปจากปาเลสไตน์ในปี 1948 ไซออนิสต์ก็สามารถตั้งรัฐที่เรียกว่าอิสราเอลขึ้นได้ และในสงครามที่เกิดขึ้นตามมา ก็สามารถพิชิตพื้นที่ส่วนใหญ่ของปาเลสไตน์ได้ อย่างไรก็ตาม ครึ่งหนึ่งของเมืองเยรูซาเล็ม ที่รวมถึงมัสยิดอัล-อักศอและโดมแห่งศิลา รอดจากการควบคุมของอิสราเอล แต่จอร์แดนที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านได้เข้ามาควบคุมเยรูซาเล็มตะวันออกและฮะรัมแห่งนี้แทน
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 1967 วันที่สามของสงครามหกวัน กองทหารของอิสราเอลสามารถพิชิตเมืองเยรูซาเล็มได้ รวมทั้งพื้นที่ส่วนที่เหลือของเวสต์แบงก์ เนื่องจากรัฐบาลจอร์แดนถอนกำลังทหารออกไปเป็นจำนวนมาก กองทหารอิสราเอลเข้าสู่ฮะรัมแห่งนี้อย่างง่ายดาย และติดตั้งธงอิสราเอลบนยอดโดมแห่งศิลา สำหรับชาวมุสลิม นี่คือหายนะครั้งยิ่งใหญ่ที่เป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ของมัสยิดแห่งนี้ นอกเหนือจากความตึงเครียดนี้แล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่ของมัสยิดอัล-อักศอถูกทำลายเสียหายด้วยไฟในปี 1967 ที่เริ่มขึ้นโดยชาวออสเตรเลียหัวรุนแรงคนหนึ่งที่หวังว่าการทำลายมัสยิดแห่งนี้จะเป็นการปูทางไปสู่การกลับมาครั้งที่สองของพระเยซู อักษรประดิษฐ์โบราณถูกทำลายไปมากมาย รวมทั้งมิมบัรของซาลาฮุดดีน
ด้วยการยึดครองเมืองนี้ของอิสราเอล มุสลิมทุกคนที่เข้ามาในเยรูซาเล็มจะถูกควบคุมอย่างเข้มงวด แม้แต่ปัจจุบันนี้ มุสลิมส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มาจากเยรูซาเล็มจะถูกห้ามไม่ให้เข้าไปในเยรูซาเล็มและละหมาดในมัสยิดอัล-อักศอ มุสลิมที่ควบคุมดูแลการวะกัฟ (การบริจาคทางศาสนา) ทำหน้าที่ควบคุมดูแลพื้นที่ของฮะรัมอย่างเป็นทางการ แต่การเข้าสู่ฮะรัมถูกบริหารจัดการโดยตำรวจอิสราเอล ผู้ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะห้ามประชาชนไม่ให้เข้าไปในนั้นได้
เหมือนเช่นที่มันเป็นมาตลอดหน้าประวัติศาสตร์อันยาวนานของมัน มัสยิดอัล-อักศอเป็นศูนย์กลางของชีวิตทางศาสนาของมุสลิมในเมืองนี้อีกครั้ง รวมทั้งเป็นความตึงเครียดกับกลุ่มอื่นๆ ด้วย ด้วยการบุกรุกของอิสราเอล และการแตกแยก การต่อสู้ของโลกมุสลิม ทำให้อนาคตของมัสยิดอัล-อักศอมาอยู่ในความไม่แน่นอนอีกครั้งหนึ่ง
Bibliography:
Armstrong, Karen. Jerusalem: One City, Three Faiths. New York: Alfred A. Knopf, 1996. Print.
Montefiore, Simon Sebag. Jerusalem: The Biography. New York: Vintage Books, 2011. Print.
แปลจาก http://lostislamichistory.com/the-al-aqsa-mosque-through-the-ages-part-2/