หน้าแรก ข่าวในประเทศ ข่าวชายแดนใต้

คนใต้นับพันรวมพลังคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยันรอฟังท่าทีรัฐบาล 17 ก.พ. หากคำตอบเดิม พร้อมต้านทั่วภาคใต้

เวทีสาธารณะ “การพัฒนาต้องตอบโจทย์สันติภาพและสิ่งแวดล้อม เราขอร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ” ณ สนามชั่วคราวพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าเทพา บ้านคลองประดู่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 มีการแสดงพลังครั้งใหญ่ของเครือข่ายภาคประชาชนและชาวบ้านจากหลายจังหวัดของภาคใต้กว่า 2,000 คน เพื่อร่วมคัดค้านนโยบายการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน

มีการขึงป้ายผ้าแสดงสัญลักษณ์และข้อความคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยมีชาวบ้านในพื้นที่จัดการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาร่วมงาน และเปิดโต๊ะบริจาคสมทบทุนกิจกรรมของชาวบ้าน

ตลอดการจัดกิจกรรมมีตัวแทนนักวิชาการ นักกิจกรรม ภาคประชาชนและตัวแทนชาวบ้านจากพื้นที่ต่าง ๆ ร่วมปราศรัยบนเวที อาทิ เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมสงขลา-สตูล เครือข่ายหยุดถ่านหินสงขลา เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กลุ่มรักบ้านเกิดสะบ้าย้อย นักวิชาการ เครือข่ายหยุดถ่านหิน กลุ่มชุมชนทุ่งพอ อ.สะบ้าย้อย เครือข่ายนักศึกษาจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ เยาวชน Beach for Life ฯลฯ พร้อมละหมาดฮายัต

นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Permatamas) กล่าวว่า เป็นการรวมพลังของชาวบ้านในภาคใต้ ที่ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินทั้งหมดในแผนพัฒนาภาคใต้ เนื่องจากมีข้อมูลวิชาการยืนยันชัดเจนแล้วว่า ถ่านหินมีผลกระทบรุนแรง ควรใช้พลังงานจากทางเลือกอื่น ๆ แทน

“พี่น้องทั้งภาคใต้จับมือร่วมกันทั้งหมดแล้ว เพื่อส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาล ที่กำลังจะมีท่าทีออกมาเร็ว ๆ นี้ว่า จะเดินหน้าหรือหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งภาคใต้ เทพา และกระบี่ เราไม่ต้องการชะลอ แต่ขอให้ยกเลิกไปเลย ซึ่งหากยืนยันว่ารัฐบาลเดินหน้าต่อ ชาวบ้านในภาคใต้ทั้งหมดก็จำเป็นต้องยกระดับการเคลื่อนไหว ซึ่งหวังว่ารัฐบาลจะเลือกฟังเหตุผลและความถูกต้อง” นายดิเรก กล่าว

ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมสงขลา-สตูล กล่าวว่า “เราไม่ได้ไขว่คว้าหาถ่านหิน ภาคใต้ไม่ต้องการแลนบริดจ์ เราไม่มีสิทธิ์เลือกเกิดแต่มีสิทธิ์เลือกรักษาแผ่นดิน ม.44 ใช้กับคนที่คอรัปชั่น ล้างผลาญประชาชน ไม่ใช่ใช้กับประชาชน”

ด้าน ดร.เกื้อ ฤทธิบูรณ์ นักวิชาการจากม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) กล่าวว่า สิ่งที่พี่น้องทำเป็นสิทธ์อันชอบธรรมที่ควรได้รับ

“รัฐบอกว่าได้ศึกษารอบด้านทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ ESIA ซึ่งที่นำเสนอไม่ได้สะท้อนความเป็นพื้นที่เลย รัฐบอกว่า ป่าที่นี่มีแค่ปอทะเลเพียงตาตุ่ม เจอแต่ปลาช่อน ปลานิล เป็นการบอกว่างานวิชาการของรัฐเป็นสิ่งที่เชื่อไม่ได้ พี่น้องจึงต้องยืนหยัด ต่อสู้ด้วยตัวเอง เพื่อกำหนดชะตากรรมและการพัฒนาประเทศของตนเอง ต้องยืนยันไม่ให้ใช้ถ่านหินต่อไป ตราบใดที่ยังไม่สามารถปกป้องทรัพยากรของพี่น้องไว้ได้”

กิจกรรมครั้งนี้จบลงด้วยการอ่านแถลงการณ์ร่วมกัน ระบุข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 4 ข้อ ดังนี้

1.ขอให้รัฐบาลยุติการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพารวมทั้งโรงไฟฟ้ากระบี่และปะนาเระ อย่าเอาอำนาจทหารมาฟันธงเข้าข้างฝ่ายทุนความเสียหายจะเกินเยียวยา รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีเอาแต่พูดทุกวันศุกร์ แต่กลับไม่เคยฟังเสียงโดยตรงจากประชาชน

2.ขอให้รัฐบาล หยุดนโยบายการยัดเยียดอุตสาหกรรมมลพิษมาให้พี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งเหมืองแร่ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าขยะ นิคมอุตสาหกรรมมลพิษในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขื่อน และการถมหินทำลายชายหาดเป็นต้น ซึ่งล้วนเอาเข้ามาโดยไม่เคยถามประชาชน

3.องค์กรภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอกระบวนมีส่วนร่วมในการร่วมคิดร่วมทำร่วมตัดสินอย่างจริงใจ ในทุกกรณีของการพัฒนาที่มีผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนอย่าใช้การมีส่วนร่วมเป็นเพียงวาทกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีขนาดใหญ่มาก มลพิษและผลกระทบครอบคลุมกว้างขวาง แต่ทำไมคนปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวมทั้งสงขลาและสตูล กลับถูกละเลย ไม่มีส่วนร่วมใดๆตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

4.การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องตั้งมั่นในการเคารพต่อเสียงประชาชน มุ่งมั่นรักษาฐานชีวิตฐานทรัพยากรสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และเคารพต่อการะบวนการสันติภาพไม่ควรให้การพัฒนาที่ประชาชนไม่ต้องการมาเป็นเงื่อนไขและเป็นภัยแทรกซ้อนต่อสันติภาพที่กำลังเป็นความหวังของพื้นที่