หน้าแรก ข่าวในประเทศ ข่าวชายแดนใต้

ผู้ว่าฯ ปัตตานี มอบนโยบายและแนวทางขับเคลื่อน 12 วาระ ปัตตานี ปี 60

ผู้ว่าฯ ปัตตานี มอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนวาระปัตตานี 2560 จัดทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน 12 วาระจังหวัด เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวปัตตานี เน้นทุกวาระสำคัญเท่าเทียมกัน ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน โดยการมีส่วนร่วมของทุกคน

เมื่อเร็วๆนี้ นายวีรนันท์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์วาระปัตตานี 2560 จำนวน 12 วาระ ประกอบด้วย

1.ปัตตานีเมืองสะอาด หมู่บ้าน ชุมชน ถนน คูคลอง สถานที่ราชการ สถานประกอบการ ร้านอาหาร ตลาดสด วัดและมัสยิด สะอาด

2.สร้างวินัยจราจร และความปลอดภัยทางถนน ให้ความรู้ประชาชน นักเรียนในเรื่องกฎหมายและวินัยจราจร การบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มแสงสว่างบนท้องถนน และแก้ไขปัญหาจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน

3.ปัตตานีเมืองกีฬา มี Pattani Sport Complex จัดแข่งขันฟุตบอลมิตรภาพไทยลีกและกลันตัน FC แข่งขันจักรยานพิชิตเส้นทาง 3 วัฒนธรรม แข้งเรือประเพณีลุ่มน้ำปัตตานี แข่งขันวิ่งมินิมาราธอน เปิดเมืองตานีปี 2560 มหกรรมมินิไตรกีฬาแหลมตาชี

4.การผลิตเกษตรอินทรีย์ เพิ่มผลผลิตพืชผักที่มีศักยภาพเพื่อการจำหน่าย พัฒนาศักยภาพและการจำหน่ายของฟาร์มตัวอย่างและข้าวอินทรีย์ สร้างความมั่นคงวัตถุดิบทางการเกษตรรองรับเมืองต้นแบบ

5.เพิ่มผลผลิตด้านการปศุสัตว์ เพิ่มผลผลิตโค แพะ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ เป็ดเทศและหญ้าเนเปียร์ จัดตั้งตลาดกลางปศุสัตว์

6.ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ให้อ่าวปัตตานีและลุ่มน้ำสำคัญ โดยส่งเสริมอาชีพให้ชาวประมงพื้นบ้าน ปักไม้ไผ่ชะลอคามรุนแครงของคลื่น เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในแหล่งน้ำ ปลูกป่าชายเลน ควบคุมระบบน้ำเสีย และ บังคับใช้กฏหมายเพื่อลดการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ

7.พัฒนาเขตอุตสาหกรรมปัตตานี เพื่อรองรับยุทธศาสตร์เมืองต้นแบบ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ด้วยการกำจัดขยะ จัดระเบียบและพัฒนามาตรฐานตลาด แก้ไขปัญหาสัตว์เลี้ยงพัฒนาประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินและระบบสาธารณูปโภคในเขตอุตสาหกรรมปัตตานี พร้อมยกระดับมาตรฐานความสะอาดของท่าเทียบเรือประมงปัตตานี

8.พัฒนาแหล่งน้ำและจัดระบบบริหารจัดการน้ำ ออกแบบระบบบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำปัตตานีและลุ่มน้ำสายบุรีให้เกิดประสิทธิภาพ

9.ช่วยเหลือผู้ยากไร้และด้อยโอกาส ช่วยเหลือครอบครัวผู้สูงอายุ ผู้พิการ คนยากจน เด็กกำพร้าและหญิงหม้าย ติดตามดูแลผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์และนักเรียนทุนพระราชทาน พัฒนาครอบครัวที่ตกเกณฑ์จปฐ.

10.พัฒนาประสิทธิภาพการบริการประชาชน พัฒนาจิตบริการของบุคลากรภาครัฐ

11.สร้างความเข้มแข็งของสังคมพหุวัฒนธรรม รวมกลุ่มคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม เปิดเวทีเสวนาสานวัฒนธรรม เปิดเวทีเรียนรู้และเล่าเรื่องเมืองตานี จัดแสดงวิถีชาวปัตตานีสังคมพหุวัฒนธรรม จัดทำสื่อเผยแพร่ชีวิตการอยู่ร่วมกัน ดนตรีริมสายน้ำเทิดเอกองค์อัครศิลปิน

และ 12.สร้างความเข้าใจร่วมกันเพื่อให้เกิดสังคมสงบสุข กิจกรรมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับเยาวชน สร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดปัตตานี ครูเยี่ยมบ้านพัฒนาสัมพันธ์ผู้ปกครอง และทีมตำบลเยี่ยมบ้านสร้างสัมพันธ์ผู้นำในพื้นที่ให้เข้มแข็ง

นายวีรนันท์กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้เป็นปัญหาของคนไทยทุกคน ต้องช่วยเหลือกันในทุกมิติ ประชาชนต้องดูแลและช่วยเหลือตัวเองในขั้นพื้นฐานเช่น ดูแลหน้าบ้านและรอบบ้านของตัวเองให้มีความปลอดภัย ส่วนเจ้าหน้าที่ช่วยดูแลรักษาความปลอดภัย ในพื้นที่พหุวัฒนธรรมที่ทุกคนทุกเชื้อชาติทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้

“พื้นที่นี้ทุกคนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระโดยไม่ถูกกดทับจากวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง คนที่นี่ไม่ว่าจะนับถือศาสนาไหนคือชาติพันธุ์มลายู ความรุนแรงคือความมืด คนที่มาที่นี่คือแสงสว่าง เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะเป็นกระบอกเสียงสื่อสารเรื่องราวในพื้นที่ในทุกช่องทาง”

ในด้านการรักษาความปลอดภัย นายวีรนันท์กล่าวว่า ฝ่ายปกครองและประชาชนในพื้นที่มีความร่วมมือและเข้าใจกันมากขึ้น ได้รับความร่วมมือจากทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างดี ช่วยกันดูแล เป็นหูเป็นตาให้แก่กัน เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องรับรู้

ในเรื่องเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน ที่อ.หนองจิก จ.ปัตตานี นายวีรนันท์กล่าวว่า รัฐบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเมืองต้นแบบอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการสร้างฐานเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้โมเดล “สามเหลี่ยมการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

“ต้องผลจากการระดมความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ รวมถึงประชาชนในพื้นที่มาเป็นข้อมูลความรู้หนุนเสริมการพัฒนาเมืองต้นแบบอย่างตรงเป้าและยั่งยืน อีกทั้งเพื่อทบทวนและกำหนดประเด็นโจทย์วิจัยในการขับเคลื่อนโครงการระยะต่อไป โดยทุกอำเภอต้องเป็นเครือข่าย”

อำเภอหนองจิก เมืองหน้าด่านสำคัญของจังหวัดปัตตานีที่เชื่อมต่อไปยังพื้นที่ธุรกิจ อุตสาหกรรม การค้าของจังหวัดสงขลาและเป็นเส้นทางหลักเพื่อผ่านไปยังจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส มีประเภทเกษตรอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ในลักษณะของการเป็นต้นทุนการผลิตอาหารของประเทศและของโลก เช่น อุตสาหกรรมปศุสัตว์ อุตสาหกรรมพืชเศรษฐกิจและพืชพลังงานและอุตสาหกรรมประมง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมพลังงานเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนผ่านโรงงานแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรอย่างครบวงจร ปัจจุบันอำเภอหนองจิก ยังเป็นเมืองต้นแบบเกษตรกรรมก้าวหน้าผสมผสาน ที่มีจุดเด่นสำคัญ คือการเป็นเมืองหน้าด่านของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มรวมกันกว่า 60,000 ไร่