เมื่อวันอังคาร ที่ 24 มกราคม 2560 เวลา 9.00-13.00 น. ที่อาคารมูลนิธิพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการศึกษา ย่านประเวศ กรุงเทพฯ “องค์กรสันติภาพและสิทธิมนุษยชน (OPHR)” ได้จัดเสวนาทบทวนบทเรียนขบวนการประชาชนเพื่อสันติภาพ เนื่องในวาระ “ครบรอบ 42 ปี การประท้วงปัตตานีในปี 2518” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ประท้วงสะพานกอตอ” โดยงานนี้มีผู้สนใจมีผู้เข้าร่วมเสวนากว่า 60 คน
องค์กรสันติภาพและสิทธิมนุษยชน (OPHR) เพิ่งก่อตั้งเมื่อ 10 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา โดยการรวมตัวกันของบุคคลผู้มีชื่อเสียงในแวดวงมุสลิม เช่นนายมุข สุไลมาน อดีตส.ส.ปัตตานี นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีตส.ส.นราธิวาสและรมช.ศึกษาธิการ นางฟารีดา สุไลมาน อดีตส.ส.สุรินทร์ เป็นต้น มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลักดันและขับเคลื่อนงานด้านสันติภาพและสิทธิมนุษยชน
“นายมุข สุไลมาน” ประธานองค์กรสันติภาพและสิทธิมนุษยชน กล่าวในการเปิดงานว่า การก่อตั้งองค์กรฯ ขึ้นมานั้นมีเจตนารมณ์ที่จะร่วมสร้างสันติภาพและความเป็นธรรมเพื่อมนุษยชาติ โดยไม่แบ่งแยกเรื่องความเชื่อ สีผิว หรือเชื้อชาติใดๆ
“แม้ว่าจะเป็นเสียงเล็กๆ แต่ก็คิดว่าเราควรจะทำเรื่องเหล่านี้ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และในอนาคตหากได้ร่วมกับองค์กรต่างๆ ที่ทำงานในแนวทางเดียวกัน เสียงเล็กๆ ก็อาจจะกลายเป็นพลังที่ถูกรับฟัง” นายมุข กล่าว
นายมุขบอกว่า องค์กรได้เริ่มต้นภารกิจแรกในประเด็น “ชาวโรงฮิงญา” ที่ถูกกระทำโดยรัฐบาลพม่า โดยได้ผลักดันการเสวนารวมทั้งได้ไปยื่นหนังสือกับสำนักงานสหประชาชาติต่อกรณีดังกล่าว
“สำหรับเจตนาในการจัดเสวนาถอดบทเรียนกรณีการประท้วงปัตตานี ปี 2518 นั้น ก็เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และคนรุ่นใหม่ได้ศึกษาและถอดบทเรียนร่วมกัน รับรู้เหตุการณ์ในอดีต เรียนรู้ความผิดพลาดและเป็นอุทาหรณ์ต่อไป” นายมุข กล่าว
ทั้งนี้เหตุการณ์ประท้วงใหญ่ที่ปัตตานี ปี 2518 นั้นเกิดขึ้นสืบเนื่องจากในวันที่ 29 พ.ย. 2518 ชายมุสลิม 5 คนและเด็กชาย 1 คน นั่งรถยนต์มาจากตัวจังหวัดนราธิวาส เพื่อจะกลับบ้านที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ระหว่างทางถูกทหารหยุดรถและตรวจค้น แต่กลับปรากฏภายหลังว่าชายทั้ง 5 คน ได้กลายเป็นศพและถูกนำไปโยนทิ้งแม่น้ำบริเวณสะพานกอตอ ในเขตติดต่อระหว่าง อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส กับ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
กระนั้น ด.ช.สือแม บราซะ ที่นั่งในรถมากับชายทั้ง 5 คน เขาถูกทำร้ายและนำมาโยนทิ้งแม่น้ำด้วยเช่นกัน แต่ไม่ตายรอดชีวิตกลับมา เขานำเรื่องราวมาถ่ายทอดให้ญาติพี่น้องได้รับรู้ จนนำไปสู่การประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้คนหลายหมื่นคนออกมาชุมนุมยาวนานเป็นระยะเวลาถึง 45 วัน และเหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นบาดแผลที่ยากจะเยียวยาจวบจนทุกวันนี้
เปิดวิธีคิดของรัฐไทยในการแก้ปัญหาจชต.
“อ.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล” อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวในการเสวนาว่า ตนจะไล่เลียงไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีความเกี่ยวพันกับแนวนโยบายความมั่นคงของรัฐที่มองปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร เพื่อที่จะได้เห็นวิธีคิดของรัฐไทยในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเริ่มตั้งโจทย์จากประเด็นไหนบ้าง
“ถ้าเราไล่มาตั้งแต่ ปีพ.ศ.2502 เริ่มมีพรบ.จัดตั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติขึ้นมา ปีพ.ศ.2505 มีการตั้งสภาความมมั่นคงแห่งชาติ ปีพ.ศ.2507 เริ่มมีนโยบายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบมีอยู่ 2 หน่วยงานหลัก หน่วยงานแรกคือกระทรวงศึกษาธิการ สนใจเรื่องภาษมาลายู และคิดว่าภาษามาลายูเป็นภัยต่อความมั่นคง ส่วนอีกหน่วยคือกระทวงมหาดไทย สนใจเรื่องการแบ่งแยกดินแดน”
‘หลังจากนั้นเมื่อมีสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในปีพ.ศ.2509 รัฐเริ่มจัดการกับสถาบันหรือองค์กรที่เป็นจุดศูนย์กลางของคนในจชต. โดยการเข้าไปจัดระเบียบปอเนาะ เริ่มมีนโยบายในการที่จะควบคุม ห้ามไม่ให้มีการจัดตั้งปอเนาะเพิ่ม และในส่วนของความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงมหาดไทยสนใจปัญหาเรื่องการศึกษาของคนที่เดินทางไปศึกษาในตะวันออกกกลาง”
“มีงานเขียนชัดเจนของอ.ปิยนาถ บุนนาค เรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้. ที่ระบุว่า สิ่งที่กระทรวงมหาดไทยสนใจในปี 2509 ก็คือ ทำไมเยาวชนในจชต.ถึงสนใจไปเรียนที่ตะวันออกกลาง ซึ่งระบุชัดเจนว่า เจดดาห์และไคโร ผมคิดว่าน่าจะเป็นความสับสนเพราะเจดดาห์เป็นการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์มากกว่า แต่ไคโรนี่ชัดเจน เพราะว่าเป็นศูนย์กลางของการศึกษาในสมัยนั้น ถ้าสนใจเรื่องบริบทการเมืองระหว่างประเทศ 1970 เป็นต้นมา ประเทศที่เริ่มให้ทุนการศึกษาไม่ใช่ซาอุดิอาระเบีย เพราะตอนนั้นยังไม่เป็นมหาอำนาจในตะวันออกกลาง แต่ประเทศที่เริ่มให้ทุนการศึกษาก็คือประเทศอียิปต์พร้อมกับนโยบายแพนอาหรับ (Pan-Arab) เพราะฉะนั้นเยาวชนในจชต.จึงได้รับทุนจากประเทศอียิปต์ การก่อตัวของกระบวนการต่อสู้ก็ก่อตัวจากอียิปต์ไม่ใช่จากซาอุฯ”
“เพราะฉะนั้น นี่คือสิ่งที่หน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นสนใจเป็นอย่างยิ่ง ถามว่าพอสนใจรัฐแก้ปัญหาอย่างไร”
“ปี 2511 เริ่มมีทุนมหาดไทยขึ้นมา เพราะต้องการเบี่ยงเบนไม่ให้คนเยาวชนเหล่านี้โดยเฉพาะลูกหลานของบรรดาชนชั้นนำในพื้นที่จชต.ไปเรียนในตะวันออกกลาง ก็เลยให้ทุนมาเรียนในกรุงเทพฯ เลยกลายเป็นโครงการทุนมหาดไทยขึ้นมา มันก็มีคนจำนวนหนึ่งซึ่งได้รับการศึกษา ได้มีโอกาสมาเรียนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในธรรมศาสตร์ ในรุ่นแรกๆ”
“ปี 2514 เกิดเหตุการณ์ที่สำคัญก็คือ เริ่มมีการเปลี่ยนปอเนาะเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และควบคุมไม่ให้มีการจดทะเบียนปอเนาะอีกต่อไป โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจะได้รับสนับสนุนจากรัฐ ในขณะที่ปอเนาะไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง”
“ทุนมหาดไทยซึ่งเริ่มมีในปี 2511 ซึ่งจอมพลถนอมได้ปฏิวัติตัวเอง ก็เลยพยายามที่จะแก้ปัญหาภาคใต้ด้วยการให้คนเหล่านี้ที่มีความสนใจจะไปศึกษาต่อที่ตะวันออกกลางกลับมาเรียนในไทย”
“2516 เกิดกระแสบุปผาชนในบริบทของการเมืองไทย นักศึกษาเริ่มแสวงหาและซึมซับเรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตย และก็มีการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะการนำของอ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งตอนนั้นอยู่ในธรรมศาสตร์ ก็ให้ทุนนักศึกษาไปทำงานเผยแพร่ประชาธิปไตย คนเหล่านี้ก็เดินทางลงไปในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเผยแพร่ประชาธิปไตยและรับข้อร้องเรียนของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่”
“ท้ายที่สุดเราจะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ สิ่งที่เป็นแนวนโยบายของรัฐ เพราะคุณไม่ต้องการให้คนไปเรียนศาสนาเพราะคุณคิดว่ามีผลต่อการแบ่งแยกดินแดน คุณก็ให้เขามาเรียนที่กรุงเทพ มันส่งผลให้คนเหล่านี้ซึมซับเรื่องประชาธิปไตยเข้าไป แล้วเขาก็ไปทำงานเรื่องสิทธิมันก็เกิด “แรงเหวี่ยง” ผมใช้คำนี้เพราะเขาอยากจะให้ไปอีกทางแต่คนเหล่านี้เกิดแรงเหวี่ยงไปอีกทางเพราะรับกระแสประชาธิปไตยและการเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้ามา ในการที่จะจัดการกับปัญหาความไม่ยุติธรรมหรือความไม่เป็นธรรม”
“แล้วกรณีของเด็กชายสือแมก็เป็นกรณีที่มีความชัดเจนที่สุด ท้ายที่สุดก็เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2518”
“นี่คือสิ่งที่ผมพยายามไล่ไทม์ไลน์ในเห็น เพื่อต้องการให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับแนวนโยบายของรัฐที่มองปัญหาจชต. แล้วผลที่มันตามมาก็เกิดคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการศึกษาแบบสมัยใหม่ รับเอาความรู้สึก ลัทธิ ปรัชญาเรื่องสิทธิเสรีภาพแล้วก็เข้าไปสมาทาน”
“จริงๆ ผมไม่แน่ใจว่าความตั้งใจของรัฐต้องการอะไร แต่ผมเชื่อว่า มันเหมือนรัฐจะต้องการแก้ปัญหาในจุดนี้มันก็ไปเกิดปัญหาอีกจุดหนึ่ง ยกตัวอย่างเรื่องการต้องการแก้ปัญหาเรื่องการศึกษา โดยการตั้งโจทย์ว่าการศึกษาศาสนาเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ มันก็เลยก็คนแบบคุณมุขขึ้นมา เกิดคนแบบคุณอารีเพ็ญขึ้นมา
อ.ซากีย์ สรุปถึงการประท้วงที่เกิดขึ้นในปี 2518 ว่า “นี่คือปราฏการณ์ที่เกิดขึ้น ถามว่ามันนำไปสู่อะไร สำหรับผมนี่มันคือการชุมนุมทางการเมือง “บนดิน” ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวต่อสู้เป็นครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”
“ต้องเข้าใจว่า คนที่สามารถทำของพวกนี้ได้ในสมัยนั้น ก็ต้องเป็นคนซึ่งที่ได้รับการศึกษาในระบบ เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่มันเกิดขึ้น นี่คือบทเรียนโดยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของรัฐก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้วมันก็ผลิดอกออกผลมา แล้ววันหนึ่งมันเหมือนกันการย้อนเหตุการณ์ มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งก็ใช้วิธีการเดียวกับที่คนในยุค 2516 2518 ก็คือการชุมนุมในมัสยิดกลางอีกครั้งหนึ่งในจังหวัดปัตตานีและปิดมัสยิดกลางเพื่อที่จะเรียกร้องความเป็นธรรม ประเด็นใกล้เคียงกัน มันทำให้เราเห็นว่าปัญหาภาคใต้มันไม่ได้ไปไหนไกลจากจุดเริ่มต้นที่มันเคยเกิดขึ้น” อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าว
ความยุติธรรมนำมาซึ่งสันติสุข
“อ.มนัส เกียรติธารัย” อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรและนักกิจกรรมุสลิม กล่าวว่า ทัศนะของฝ่ายปกครองของไทยนั้นมีปัญหากับทุกภาค จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องของศาสนา
“ผมเคยเข้าไปอบรมอกับศรภ. ฝ่ายความมั่นคงของไทยเวลาจะแก้ปัญหาเขาจะใช้ตุ๊กตากำหนดเรื่องขึ้นมา คล้ายๆ กับการปกครองอาณานิคม เพราะฉะนั้นทัศนะของผู้ปกครองจึงมองท้องถิ่นในลักษณะอาณานิคม ซึ่งความจริงแล้วมันไม่ใช่ และมันไม่ใช่เรื่องของศาสนา แต่มันเป็นเรื่องของการกดขี่ ที่ใดไม่มีความยุติธรรมมันก็เกิดการต่อสู้เป็นธรรมดา” อ.มนัส กล่าว
“ความจริงกรณีปี 2518 ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย ถ้าหากว่ารัฐบาลหรือผู้ปกครองยึดถือในเรื่องความยุติธรรม การไปสังหารประชาชน 4 คนนั้นเป็นเรื่องผิด ไม่ว่าในศาสนาไหนก็ผิดทั้งนั้น ถ้าหากรัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการจัดการกับทหารที่ไปฆ่าเขา ก็ลงโทษตามกฎหมาย ทุกอย่างก็จบเรื่อง มันไม่ลามกลายเป็นการประท้วงใหญ่โตขนาดนี้ และจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแบ่งแยกดินแดน เขาก็แค่ต้องการความยุติธรรม แต่ถ้ารัฐบาลไม่สามารถให้ความยุติธรรมกับเขาได้ มันก็มีการต่อสู้ ก็แค่นั้นเอง”
“ถ้าเราต้องการจะให้เกิดสันติ ก็ต้องมีความยุติธรรม และการที่ประชาชนอยู่เฉยๆ นิ่งเงียบนี่ไม่ใช่ว่าสันติสุขเสมอไป การเอาปืนมาจ่อศีรษะแล้วบอกว่าให้อยู่เฉยๆ นี่ไม่ใช่สันติสุข นี่คือภาวะการกดขี่ เพระฉะนั้นรัฐบาลจะต้องขจัดสภาวะเหล่านี้ให้ได้ ความสันติสุขจึงจะเกิดขึ้น” อ.มนัส เกียรติธารัย กล่าว
รัฐมีปัญหาเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจคนที่เห็นต่างทางการเมือง
“นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์” หรือ “จ่านิว” แกนนำกลุ่มนักศึกษาประชาธิปไตยศึกษา บอกว่า แม้ตนจะไม่ค่อยเข้าใจลึกซึ้งถึงการประท้วงในครั้งนั้น แต่ก็พอทราบปัญหาคร่าวๆ และมองว่า รัฐไทยมีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับความไว้เนื้อเชื่อใจกับคนที่ออกมาแสดงความเห็นต่างทางการเมือง
“ทุกครั้งที่ผมลงไปในพื้นที่จชต.ก็จะเห็นทัศนะความไม่ไว้วางใจของหน่วยงานความมั่นคง มีอยู่ครั้งหนึ่งผมอยู่ที่หาดใหญ่กำลังนั่งรถไฟไปยะลา แล้วผมก็โพสต์ว่าผมกำลังเข้าสู่ “ปาตานี” ผมก็ไม่คิดว่าคำนี้มันจะมีปัญหาขนาดนี้ สุดท้ายเขาก็บอกว่า การใช้คำอย่างนี้มันมีปัญหาน่ะน้อง น้องใช้คำอย่างนี้แสดงว่าน้องไปรู้เห็นเป็นใจกับเขาด้วย ผมก็บอกว่า อ้าว! ผมก็เห็นเขาเรียกกันอย่างนี้ ผมก็ลองเรียกตามบ้าง (หัวเราะ) คือจากเรื่องเล็กๆ มันก็กลายเป็นเรื่องความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันขนานใหญ่”
“กรณีแบบนี้มันเหมือนกับเป็นการถูกผลักออกไปจากพื้นที่ของรัฐ แทนที่เราจะได้นำเสนอความคิด ความหลากหลายของประเด็นทางการเมืองหรือเรื่องต่างๆ การออกมาต่อสู้ของกลุ่มต่างๆ มันมีเหตุมาจากการถูกผลักจากรัฐ ที่มาจากการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของรัฐเอง”
“มันก็เลยกลายเป็นว่าหลายๆ ที่ จะมีปรากฏการณ์อย่างนี้ รัฐก็เลือกใช้วิธีการแบบเดิม วิธีการจัดการส่วนใหญ่ยังเป็นแบบสมัยยุคสงครามเย็น คือต้องยึดมันในความมั่นคงแห่งรัฐ ความแตกต่างความหลากหมายมันค่อนข้างที่จะเป็นศัตรูกับความมั่นคงของรัฐไป ซึ่งผมว่ามุมมองเหล่านี้ไม่เปลี่ยน วิธีการจัดการยังเป็นแบบเดิมคือความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ และต้องหาวิธีการสกัดกั้นและทำลายลงไป หรือไม่ก็ต้องดึงให้กลัมาสู่สัมพันธภาพอำนาจแบบเดิม คือสยบยอมต่อความคิด ค่านิยม ความเชื่อแบบเดิมของรัฐ ที่รัฐต้องการ”
“นายสิรวิชญ์” ยังตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องความเกลียดชังระหว่างประชาชนด้วยกันเองว่าเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องได้รับการแก้ไข
“ผมเคยลงไปในพื้นที่ ไปเดินที่มัสยิดกรือเซะ แล้วตรงนั้นก็มีชุมชนอยู่ มีรุ่นน้องศึกษามหาวิทยาลัยไปด้วยกัน ก็มีเด็กๆ แถวนั้นมาพูดว่า ดูโน่นๆ ซีแยๆ ซึ่งผมว่าถ้าคนในพื้นที่ยังมีการเกลียดชังกันในลักษณะนี้อยู่ ผมว่าก็ลำบากด้วยกันทั้งสองฝ่าย”
“มันจะต้องหลุดออกจากความเกลียดชังด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่เรียกร้องฝ่ายเดียว อันนี้เป็นเด็กตัวเล็กที่ผมประสบกับตนเอง ซึ่งถ้าเด็กพูดแบบนี้มันก็จะต้องมีกระบวนการปลูกฝังกันอยู่พอสมควร สิ่งเหล่านี้มันมาจากความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันและบาดแผลในอดีต ซึ่งในระดับประชาชนกันเองจะต้องมีการสลายตรงนี้ก่อน แล้วเราถึงค่อยจะมาเรียกร้องกับรัฐในการที่จะสลายความขัดแย้ง แม้ผมจะไม่เห็นว่ารัฐจะเข้ามาสลายความขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น เท่าที่เจอกับตัวมารัฐกลับเป็นฝ่ายเร่งและกระตุ้นความขัดแย้ง และจะประครองความขัดแย้งนี้ต่อไปเพื่อไม่ให้เกิดสภาวะที่คนทั้งสังคมสามารถกำหนดทิศทางหรือฉันทานุมัติร่วมกันได้” นายสิรวิชญ์ หรือ “จ่านิว” กล่าว
สันติภาพและสิทธิมนุษยชน ทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ภาคใต้สงบ
นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีตรมช.ศึกษาธิการและส.ส.นราธิวาสหลายสมัย เล่าว่า ตนเองกับนายมุข สุไลมาน สมัยเป็นนักศึกษานั้นได้ตั้งกลุ่มสลาตัน ซึ่งมาจากภาษามาลายูแปลว่าภาคใต้ เพื่อรวมกลุ่มบรรดานักศึกษาจากจชต. ซึ่งตอนนั้นต่างคนต่างอยู่เกาะกลุ่มเป็นจังหวัดๆ ไป การตั้งกลุ่มขึ้นมาก็เพื่อต้องการให้เป็นหนึ่งเดียว
“กลุ่มเราร่วมประท้วงกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาตั้งแต่ประท้วงสินค้าญี่ปุ่นสมัยคุณธีรยุทธ บุญมี หลังจากนั้นก็ 14 ตุลา 16 ผมกับคุณมุขนอนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ทุกๆ คืนที่มีการประท้วง จวบจนกระทั่งวันสุดท้ายที่มีการสลายม็อบ”
“กลุ่มของเรามีการเคลื่อนไหวมาตลอด จนกระทั่งมีการประท้วงปัตตานี เราก็ได้รับความร่วมมือจากบรรดานักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นจากเชียงใหม่ จากสงขลา หรือที่ไหนๆ ก็มาร่วมกับเรา เพราะนักศึกษาเราสมัยนั้นเปิดกว้าง เราถือว่าความยุติธรรมเป็นเรื่องสากล ไม่ใช่เรื่องของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เรื่องของประชาธิปไตยเป็นเรื่องสากลไม่ใช่เป็นเรื่องของกลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่ง เมื่อเรามีธงอย่างนี้เราก็มีแนวร่วมเยอะ”
“ผมถือว่าการประท้วง 45 วันโดยสันติวิธีเป็นการถอดบทเรียนที่สำคัญที่สุด ที่จะต้องเอาสิ่งเหล่านี้มาเรียนรู้ในปัจจุบัน เพราะก่อนประท้วง ระหว่างประท้วง และหลังประท้วง ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่กระทำโดยพละการ และยังกระทำกันอย่างสม่ำเสมอแม้กระทั่งจนถึงปัจจุบัน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง”
“การประท้วงหลังจากกรณีเด็กชายสือแมที่ถูกฆ่าแต่ไม่ตายนี่ถือเป็นปลายเหตุแล้ว ต้นเหตุตั้งแต่ต้นก็คือหลังพ.ศ. 2475 เป็นต้นมา สมัยก่อน 2475 ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับปัตตานีนั้นเป็นเรื่องของคนชนชั้นเจ้ากับเจ้าด้วยกัน มันไม่กระทบกับประชาชน ประชาชนยังอยู่ในวิถีอิสลาม วิถีมลายู วิถีที่เขาสามารถที่อยู่อย่างสง่าผ่าเผย ด้วยอัตลักษณ์ของเขา”
“การต่อสู้ที่ผ่านมาจนกระทั่งมาถึงปี 2518 นั้นมันมาจากสาเหตุที่ชาวบ้านไม่มีที่พึ่ง ไม่ใช่มาจากสาเหตุแบ่งแยกดินแดนเพราะฉะนั้นการประท้วงที่เกิดเพราะเขาทนต่อความอยุติธรรมไม่ไหว”
“ผมอยากจะให้นักศึกษาเราจาก 3 จชต. ต้องเปิดกว้าง อย่าใช้วิธีการประท้วงในลักษณะโดดเดี่ยว เราต้องปรับกระบวนทัศน์เราเสียใหม่ คนรุ่นใหม่อย่าอยู่ในลักษณะโดดเดี่ยว ต้องมีพวกในภาคอีสาน ในทางเหนือ มีพรรคพวกในหมู่นักศึกษาต่างๆ แล้วจะมีพลัง แต่ถ้าประท้วงแบบปิดหน้าปิดตา ไม่แสดงอะไรออกมาให้เขาเห็นว่ากำลังต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจริงๆ ที่สุดก็จะถูกโดดเดี่ยว”
นายอารีเพ็ญเน้นย้ำว่า “สำหรับภาคใต้ของเรานั้นเราต้องจับประเด็นเรื่องสันติภาพและสิทธิมนุษยชน และมันคือทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ภาคใต้สงบ ถ้าไม่มีคำว่าสันติภาพไม่มีคำว่าสิทธิมนุษยชนภาคใต้จะไม่สงบ และองค์กรของเราจะยืนหยัดในจุดนี้”
“ประชาธิปไตย ขบวนการนักศึกษา ภาคประชาชน และสิทธิมนุษยชน 4 ข้อนี้จะละเมิดไม่ได้โดยเด็ดขาด และการต่อสู้ต้องต่อสู้ในแนวทางสันติวิธี”
“และ 4 ข้อนี้ก็จะเป็นสิ่งทองค์กรสันติภาพและสิทธิมนุษยชนจะเดินไปกับพวกเราที่ใฝ่หาสันติสุขบนผืนแผ่นดินไทย” อดีตรมช.ศึกษาธิการและส.ส.นราธิวาสหลายสมัยกล่าว
ที่มา http://www.publicpostonline.net/12822