“ชาวปะกาฮะรัง อยู่กับน้ำมานาน ถึงฤดูที่น้ำมาก็เตรียมตัวรับสภาพ เพราะที่นี่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ ทุกคนที่นี่ต้องปรับตัวปรับใจเพื่อให้ใช้ชีวิตปกติในเหตุการณ์ที่มีแบบนี้เกือบทุกปี เราคิดว่าเป็นเรื่องปกติของคนที่นี่”
เสียงบอกเล่าของนายอิสมาแอ ปะซี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ต.ปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ตำบลที่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำและมีน้ำท่วมขังตลอดมาเมื่อถึงฤดูฝน ชีวิตของพี่น้องชาวปะกาฮะรังที่มีเส้นแบ่งกับในตัวเมืองปัตตานีด้วยถนนสายปัตตานี-นราธิวาส เมื่อฝนตกหนักและมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนปัตตานี รวมทั้งมวลน้ำที่ไหลมาจากจ.ยะลา จึงมารวมตัวกันอยู่ ณ พื้นที่แห่งนี้
ภาพชาวบ้านพายเรือ เดินลุยน้ำถือกับข้าวและของกินเข้าสู่ชุมชนด้านในที่มีน้ำท่วมสูงที่ไม่สามารถใช้ยานพาหนะปกติเช่นรถยนต์ รถมอเตอร์ไซต์ได้ในการเข้าออกในชุมชน ออกมาทำมาหากินหาเลี้ยงชีพในตัวเมืองและพืนที่ใกล้เคียง จึงเป็นภาพชินตา เพราะชีวิตต้องเดินไปข้างหน้า
“บ้านจางา หมู่ 2 เป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมสูงสุด บางบ้านน้ำเข้าไปเกือบถึงชั้นสอง เกือบทุกบ้านจะมีเรือติดบ้านไว้ เมื่อเหตุการณ์อย่างนี้ก็ได้นำออกมาใช้เป็นพาหนะในชีวิตประจำวัน ซึ่งรถยนต์และรถอื่นๆ จะนำมาจอดที่ถนนใหญ่ ลูกเล็กเด็กแดงและทุกคนในแต่ละบ้านต้องรู้จักเรียนรู้วิธีปรับตัวให้อยู่ในสสภาวะเช่นนี้ เพราะกว่าน้ำจะลดในแต่ละครั้งใช้เวลานานหลายวันจนถึงท่วมอยู่เกือบสามเดือนก็เคยมี มีแต่ปีที่แล้วที่ไม่ท่วม ทุกคนในชุมชนเต็มใจอยู่ที่นี่และพร้อมรับมือกับทุกสภาวะ”
มิใช่แต่ชาวบ้านในต.ปะกาฮะรังเท่านั้นที่เรียนรู้ในการอยู่ท่ามกลางภาวะที่ใครอาจมองว่าเป็นวิกฤต โรงเรียนบ้านปะกาฮะรัง เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีแผนรองรับภาวะภัยพิบัติที่มาเยือนโรงเรียนเป็นประจำทุกปี ด้วยการนำของ นางอัสน๊ะ คำเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปะกาฮะรัง ที่ค้นหารูปแบบการปรับปรุงห้องเรียนและอุปกรณ์การเรียน รวมทั้งไม่ต้องปิดโรงเรียนด้วยเหตุมาจากภาวะน้ำท่วม
“ย้ายมารับตำแหน่งที่นี่เกือบสองปี รับทราบและเห็นเรื่องน้ำท่วงมของโรงเรียนอยู่แล้ว คิดหาทางแก้ไขด้วยการประชุมวางแผนรับมือน้ำท่งวมวกับคณะกรรมการสถานศึกษา เมื่อก่อนพอเกิดน้ำท่วมก็จะปิดโรงเรียนไม่ได้ทำการเรียนการสอนมาโดยตลอด เมื่อมาเป็นผอ.คิดว่าไม่ว่าสถานการณ์แบบใดจะไม่ให้เด็กขาดเรียนเพราะจะมีเวลาเรียนไม่ครบ เมื่อเดือนตุลาคม 2559 ได้สอนเพิ่มเติมจำนวน 10 วัน เผื่อไว้เมื่อเกิดน้ำท่วมและภาวะอื่นๆ ซึ่งมีนักเรียนที่อยู่ในหมู่บ้านที่น้ำท่วมขังนานก็จะให้ผู้ปกครองหรือผู้นำชุมชนพายเรือมาส่ง ใส่ชุดอะไรมาเรียนก็ได้แต่ขอให้มาเรียน เมื่อไม่สามารถเรียนชั้นล่างได้ก็จะขึ้นไปเรียนชั้นสอง ส่วนนักเรียนชั้นป.3 และป.6 ซึ่งจะสอบโอเน็ตในเดือนหน้าก็จะย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเมืองปัตตานี โดยเขาได้จัดห้องเรียนไว้ให้เรียนและครูของเราก็ตามไปสอนตามปกติ”
สำหรับอุปกรณ์ในห้องเรียนจะไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมเสียหายด้วยการเตรียมรับมือคือ ทำขาเหล็กต่อตู้เหล็ก ติดตั้งชั้นวางของน็อคดาวน์ติดผนัง และวิธีการอื่นๆ ซึ่งผู้อำนวยการบอกว่า เพื่อประโยชน์ของสถานศึกษาให้มากที่สุด ใช้อุปกรณ์อย่างรู้ค่า สมกับที่เอาภาษีของประชาชนมาใช้ จึงต้องดูแลรักษาให้ดี
ด้านนายดลวาหาบ มะแอ เกษตรกรเลี้ยงแพะและเป็ดไล่ทุ่ง บ้านจางา บอกว่า พอน้ำท่วมเป็ดไล่ทุ่งที่เข้าโรงเรือนไม่ทันหายไปเกือบยี่สิบตัว ส่วนแพะก็ได้ขายไปบ้างก่อนหน้านี้ เพื่อรองรับฤดูน้ำ และอยู่บนโรงเรือน ให้กินอาหารเป็นปกติ ส่วนคนก็ใช้ชีวิตปกติเช่นกันเพราะทำอะไรไม่ได้กับมวลน้ำอันมหาศาลนี้
“ผมเป็นคนโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานีเหมือนกันแต่น้ำไม่เคยท่วม มาอยู่ที่นี่ห้าสิบปีแล้ว เป็นเรื่องปกติของชีวิตคนที่นี่ เพราะตั้งแต่มีถนนสายปัตตานี-นราธิวาสตัดผ่าน น้ำก้จะทะลักอยู่ในพื้นที่ชุมชนเรามาตลอด ขังนานบ้างน้อยบ้าง ทุกคนต้องปรับตัวให้อยู่ให้ได้ เพราะมันก็ไม่ได้อยู่กับเราทั้งปี เราต้องทำมาหากินต่อไป มีชีวิตต่อไป ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส มีคนมาแจกของก็สงสารเขาเหมือนกันเพราะเข้ามาก็ลำบาก สักพักพอน้ำหมดก็ทำความสะอาดบ้าน มีชีวิตตามปกติกันต่อไป”
ชุมชนบ้านจางาเป็นชุมชนที่ไม่มีกุโบร์(สุสานฝังศพ) ด้วยเหตุที่มีน้ำท่วมขังทุกปี เมื่อมีการเสียชีวิตก็จะนำศพไปฝังที่กุโบร์โต๊ะอาเยาะห์ ย่านจะบังติกอ ซึ่งอยู่อีกฝั่งนึงในอ.เมืองปัตตานี
เป็นเรื่องราวที่ชาวบ้านในชุมชนมองว่าน้ำเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขา อยู่การเตรียมตัวรับมือและการจัดการชีวิตในช่วงที่น้ำมาเยือน คือชีวิตของคนปะกาฮะรัง พื้นที่น้ำท่วมขังเป็นปกติของปัตตานี….
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของจังหวัดปัตตานี นอกจากยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแล้ว สถานการณ์ยิ่งบานปลาย มวลน้ำจำนวนมากที่เอ่อล้น ทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านได้ขยายวงกว้าง เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานี มีระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความเชี่ยวกราด ซึ่งได้รับอิทธิพลจากน้ำเหนือจากจังหวัดยะลาที่ยังไหลบ่าอย่างไม่ขาดสาย ประกอบกับน้ำจากเขื่อนปัตตานีที่เอ่อล้นสปริงเวย์ ทำให้พื้นที่ติดกับแม่น้ำปัตตานียังคงต้องเผชิญกับน้ำท่วมสูง
โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 น้ำในแม่น้ำปัตตานี ได้ทะลักเข้าท่วมถนนสาย 418 ปัตตานี-ยะลา ทั้ง 2 เส้นทาง โดยเฉพาะในช่วงเส้นทางรอยต่อระหว่าง อ.เมือง – อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ตลอดระยะทาง 3 กิโลเมตร น้ำได้เข้าท่วมถนน ระดับน้ำสูง กว่า 30 เซนติเมตร ทำให้การจราจรเป็นไปได้ยาก รถเล็กต้องขับขี่ด้วยความระมัดระวัง โดยผู้ขับขี่บางรายเลือกเปลี่ยนเส้นทางอื่น นอกจากนี้ มวลน้ำดังกล่าวยังได้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ทำให้บ้านเรือนราษฎรหลายร้อยครัวเรือนต้องได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะ พื้นที่ ม.4 บ.ต้นสะท้อน ต.คอลอตันหยง อ.หนองจิก ทำให้บ้านเรือนราษฎร กว่า 130 หลังคาเรือนได้รับผลกระทบ ระดับน้ำสูงกว่า 50 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังพบว่า สะพานเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านถูกน้ำเข้าท่วม ทำให้เส้นทางถูกตัดขาด
ด้านนายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอหนองจิก พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง นำเครื่องดื่มมาแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ ม.4 บ.ต้นสะท้อน ต.คอลอตันหยง พร้อมทั้งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจสอบพื้นที่ความเสียหาย และทำรายงานมายังอำเภอหนองจิก เพื่อเร่งหาทางช่วยเหลือ พร้อมทั้งได้แจ้งเตือนไปยังชาวบ้านในพื้นที่ ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์เลวร้ายให้รีบแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ ในพื้นที่ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้เข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที