คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้(POWS)และเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ เข้าพบและแสดงความยินดีกับ นางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส รองผู้ว่ามุสลิมะฮฺคนแรกของประเทศไทย ณ. ห้องประชุมพระภิศัยสุนทรการ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส เมื่อเร็วๆ นี้
นางพาตีเมาะ เพิ่งรับตำแหน่งรองผวจ.พัทลุง เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2559 จนเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 ได้รับคำสั่งย้ายมารับตำแหน่งรองผวจ.นราธิวาส เป็นเรื่องที่สร้างความภูมิใจและดีใจแก่พี่น้องในพื้นที่ โดยเฉพาะพี่น้องสตรีที่เคยร่วมงานและขับเคลื่อนงานในพื้นที่กับนางพาตีเมาะมาโดยตลอด สำคัญอย่างยิ่งคือตำแหน่งทางบริหารในจังหวัดชายแดนใต้ที่ได้ยอมรับให้ผู้หญิงมีบทบาท ซึ่งมีความเหมาะสมแก่นางพาตีเมาะด้วยความสมารถ ความตั้งใจในการทำงานที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และความมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อทุกคน
นางพาตีเมาะ กล่าวขอบคุณเครือขายผู้หญิงที่มาให้กำลังใจและพร้อมทำงานรับใช้พี่น้องในพื้นที่ชายแดนใต้
“ดีใจมากที่เห็นคนทำงาน ภาคประชาสังคม มาให้กำลังใจ หนุนเสริมในการทำงาน มานราธิวาสเพื่อทำงานกับพี่น้องในพื้นที่ พลังของผู้หญิงที่มีเยอะมาก ทำให้เห็นช่องทางและโอกาสของการทำงานในพื้นที่ ตำแหน่งที่ได้รับจะเป็นประโยชน์กับพวกเราในการทำงาน ขอให้ใช้งาน ใช้ได้เยอะๆ เพราะกว่าจะได้มาเป็นรองผวจ. ยากมาก เมื่อเป็นแล้วก็รักษาไว้และใช้ให้คุ้มค่า โดยเฉพาะกับบ้านเรา กับผู้หญิงมุสลิม”
พาตีเมาะกล่าวว่า การเป็นรองผวจ.คือความสำเร็จของสายงานปกครอง เป็นความสำเร็จที่เป็นข้อเรียกร้องหนึ่งของพื้นที่ชายแดนใต้ที่ส่งไปยังพื้นที่ข้างบน และได้รับการตอบรับ
“นี่คือโอกาสของผู้หญิงมุสลิมในการเติบโตของการงาน สิ่งนี้เป็นตัวเร้าให้ตัวเองมาถึงจุดนี้ ซึ่งในอดีตเป็นข้อจำกัดของผู้หญิงแต่สามารถทะลุข้อจำกัดนี้ได้ เขาเคยบอกว่าโอกาสของเรายากมาก แต่เวลาได้พิสูจน์ กระทรวงมหาดไทยยอมรับให้มีพื้นที่ของผู้หญิงมากขึ้น การมาอยู่ตรงนี้มาจากพี่น้องของเรา ทำให้ละเลยไม่ได้ ทำให้โอกาสมาถึงเร็วขึ้น เพิ่งรู้ว่าเป็นรองผวจ.หญิงที่มีอายุน้อยที่สุด ทำให้มีความต่อเนื่อง รุ่นหลังไต่เต้ามาทัน ต้องให้มีเมาะ 2 เมาะ 3 เมาะ 4 และมีอยู่ในทุกสายงาน คือความสำเร็จของทุกคนและพี่น้องมุสลิมด้วย พี่น้องต้องช่วยหนุนการทำงาน สิ่งสำคัญคือช่วยกันตักเตือน”
เธอกล่าวว่า ยินดีไปทำงานในทุกพื้นที่ทุกจังหวัดชายแดนใต้ ความเป็นผู้หญิงไม่มีพรมแดนของสถานที่ ไม่มีสังกัดคั่นในการทำงาน ต้องก้าวผ่านเรื่องพื้นที่ และผู้หญิงไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องทำงานกันเป็นทีม
“ขอบคุณในสิ่งที่ได้มา ทุกรอยยิ้ม ทุกกำลังใจ มาเติมเต็มกันและกัน ผู้หญิงมีกำลังใจที่เข้มแข็ง ต้องสู้กับแรงเสียดทานในใจ ขอให้มีความอดทน มีกำลังใจ แล้วจะผ่านไปได้ด้วยกันทั้งหมด ต้องดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง ผู้หญิงต้องแข็งแรง พลังเป็นเป้าสำคัญ สุขภาพแข็งแรง ใจแข้งแรง พลังก็แข็งแรง จะขอทำงานอย่างสุดความสามารถด้วยใจที่ตั้งมั่น ขอให้ใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ให้เชื่อมั่นในศักยภาพ การทำงานและความตั้งใจจริง ตรงไปตรงมา”
สำหรับโครงการแรกเริ่มในเดือนเมษายน 2560 ที่นางพาตีเมาะ ตั้งใจให้เป็นจริงคือ ปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดนราทัศน์ โดยการทำความเข้าใจกับ 35 ชุมชนรายรอบเกี่ยวกับมาตรการความสะอาดที่ต้องตระหนักและร่วมมือช่วยกัน โดยมีการสร้างความเข้าใจ มาตรการดูแล ปรับ ตักเตือน หาดนราทัศน์ต้องนำร่องในด้านความสะอาด ถ้านราทัศน์สะอาด นราธิวาสก็สะอาด
นางสาวลม้าย มานะการ จากกลุ่ม POWS กล่าวว่า การได้รับตำแหน่งทางบริหารของมุสลิมะฮฺโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้มิใช่เรื่องธรรมดา ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ มีความเชื่อเรื่องการเป็นผู้นำที่ต้องเป็นผู้ชาย งานนี้ทางผู้หญิงจึงถือว่า เป็นเรื่องศักดิ์ศรีของผู้หญิงที่มีศักยภาพและความสามารถ การยอมรับจะมาถึง ไม่ใช่ใครยกมาเพื่อเพียงเพราะเห็นว่าเป็นผู้หญิง หากต้องมีความสามารถ มีความดี มีผลงานการทำงานอย่างจริงจัง จริงใจ ซึ่งพาตีเมาะสนับสนุนงานภาคประชาสังคม โดยเฉพาะงานผู้หญิงและเด็กมาตลอด ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน และที่ปรึกษาของผู้หญิงในงานสันติภาพ
พาตีเมาะ สะดียามู มุสลิมะฮฺคนแรกของประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งระดับสูง และเป็นตำแหน่งข้าราชการระดับสูงในกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันอายุ 51 ปี พื้นเพจากบ้านปีซัด ม.1 ต.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา จบการศึกษารปศ.รุ่น 10 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (ม.อ.หาดใหญ) และคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รับราชการครั้งแรกเมื่อปี 8 มีนาคม 2536 เติบโตจากสายวิชาการ ทำงานในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและยะลา เคยทำงานให้กับ “ศอ.บต.” จนเป็นที่รู้จักคุ้นเคยของคนในพื้นที่เป็นอย่างดี จนไปเป็นหัวหน้าสํานักงานจังหวัดพัทลุงและรองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และรองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในปัจจุบัน
ด้วยความเป็นคนตั้งใจทำงาน จริงจังและรับผิดชอบ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำให้เธอสามารถเข้ากับทุกคนได้ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในพื้นที่ หรือข้าราชการผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชา สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของเธอคือ “การคลุมฮิญาบ” ที่เธอยึดถือหลักแบบสตรีมุสลิมอย่างเคร่งครัด
นับได้ว่า พาตีเมาะเป็นบันทึกหน้าใหม่แห่งวงการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของมุสลิมะฮ์(สตรีมุสลิม) ที่จะเป็นตำนานเล่าขานต่อๆ ไป ในฐานะสตรีมุสลิมเชื้อสายมลายู ที่ได้รับความไว้วางใจ ในเก้าอี้ “รองผู้ว่าราชการจังหวัด” ที่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการก้าวเข้ามาสู่ตำแหน่งระดับสูงของสตรีมุสลิมในวงราชการไทยในอนาคต