หน้าแรก ข่าวในประเทศ ข่าวชายแดนใต้

“นางฟ้าชุมชน” หนุนใช้แผ่นเจลช่วยผู้ป่วยแผลกดทับ ผลดีเกินคาด เร่งโครงการช่วยเหลืออีก 150 รายในอ.เทพา

กลุ่มพยาบาลอาสารพ.เทพา รวมพลังกายและใจช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงด้วยแผ่นเจลจากยางพารา ฟื้นชีวิตจนช่วยเหลือตัวเองได้ มีกำลังใจสู้ชีวิต ม.อ.ปัตตานีพร้อมหนุนโครงการเพื่อส่งต่อแผ่นเจลแก่ผู้ป่วยติดเตียงอีก 150 รายใน อ.เทพา และพร้อมขยายเครือข่ายช่วยเหลือในพื้นที่อื่นๆ

ด้วยจำนวนผู้ป่วยติดเตียงจากสาเหตุต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นในโรงพยาบาลเทพา อ.เทพา จ.สงขลา ที่เพิ่มทวีการใช้ยาและค่าใช้จ่าย รวมทั้งไม่มีทีท่าว่าจะมีผู้ป่วยรายใดที่หายขาด กลุ่มพยาบาลอาสาจึงค้นหาวิธีการที่จะช่วยผู้ป่วยเหล่านั้น โดยทดลองใช้แผ่นเจลที่ผลิตจากยางพาราซึ่งปกติจะใช้กับผู้ป่วยในห้องผ่าตัด มาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยติดเตียง ได้ผลเป็นที่พอใจมาก แผลผู้ป่วยเริ่มหายและมีกำลังใจที่ดี

นางสาวพรวิลัย บวรณรงค์เดช พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.เทพา แกนนำกลุ่มพยาบาลอาสา บอกกล่าวถึงความตั้งใจของเพื่อนร่วมวิชาชีพต่อการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งต้องใช้ทั้งกำลังกายและกำลังใจของเหล่าอาสาสมัครเป็นอย่างมาก เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของเพื่อนมนุษย์

“เราไม่อยากให้ชุมชนทอดทิ้งกัน จึงเกิดกลุ่มจิตอาสาไปดูแลคนในพื้นที่ เป็นเครือข่ายกันในหมู่บ้าน รพ.สต.และโรงพยาบาล ชาวบ้านเรียกพวกเราว่า “นางฟ้าชุมชน” เพราะเมื่อลงในชุมชนไม่ใช่แค่ดูแลสุขภาพ แต่ดูทุกเรื่องทั้งความเป็นอยู่ สุขอนามัย ปากท้อง ชาวบ้านจึงเรียก “คุณหมอนางฟ้า นางฟ้าชุมชน”

เราเจอคนไข้รายนี้ซึ่งเป็นแผลกดทับขนาดใหญ่ เหมือนไม่มีทางรักษาหาย หรือหายก็ต้องใช้เวลาหลายปี เราจะทำอย่างไรให้เขาหาย ตอนมาโรงพยาบาลก็อาการดี พอกลับไปบ้านก็แย่อีก ต้องมีอะไรสักอย่างมารองรับแผล ดูแลเขามา 2 ปี แผลแย่ลงเรื่อยๆ ทราบว่าเมื่อคนไข้นอนในห้องผ่าตัดท่าเดิมราว 6-8 ชั่วโมงแล้วใช้แผ่นเจลวางด้านล่างตัวคนไข้จะไม่เป็นแผล เพราะฉะนั้นคนที่เป็นแผลกดทับน่าจะใช้ได้ เพราะทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

โชคดีที่ได้แผ่นเจลของทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) มาช่วย เมื่อมาวางใต้แผลของคนไข้รายนี้ แผลเล็กลงและดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดภายในเวลา 5-6 เดือน เมื่อได้ปรึกษาดร.ณัฐพงศ์ ได้รับปากว่าจะผลิตให้คนที่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งจากการสำรวจในอ.เทพา มีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่ต้องใช้แผ่นเจลอีกประมาณ 150 คน”

ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย จากภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี ต้นทางที่ผลิตแผ่นเจล ได้บริจาคเบื้องต้นแผ่นเจลจำนวน 5 แผ่น และจะขยายโครงการให้ได้ครบตามจำนวนผู้ป่วยติดเตียงในอ.เทพา

“เราทำเรื่องแผ่นเจลนี้มานานร่วมกับทางม.อ.หาดใหญ่ จนเมื่อกลุ่มพยาบาลอาสา รพ.เทพา เห็นว่าน่าจะใช้กับผู้ป่วยติดเตียงได้ และเขานำไปใช้จนได้ผลดี จึงเริ่มต้นโครงการนางฟ้าชุมชนโดยผมบริจาคจำนวน 5 ชิ้น โดยให้โครงการหาเคสที่เหมาะสมเพื่อจุดประกายโครงการ แล้วขยายต่อ คุณหมอบอกว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้ให้ห้องผ่าตัดสามารถประยุกต์ได้ แต่เรื่องของสี ความนิ่มต้องศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งแผ่นเจล 5 ชิ้นนี้จะถูกนำไปใช้ ศึกษาและพัฒนาต่อถึงความเหมาะสมในการใช้ต่อไป

ทางภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลีเมอร์ คณะวิทย์ฯ ม.อ.ปัตตานี ในฐานะผู้ผลิตสามารถผลิตได้ในราคาแผ่นละ 7,500 บาท เพื่อให้ชุมชนและทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงอีก 150 คนในอ.เทพา ซึ่งไม่ใช่แจกแล้วไปใช้ ต้องมีคนแนะนำและดูแลวิธีการใช้ให้ได้ผลและถูกต้อง มีการเก็บข้อมูล ศึกษาขนาดและพัฒนา เป็นโครงการที่พัฒนาทั้งกระบวนการและให้ชุมชนมีส่วนร่วมช่วยชุมชนด้วยกัน คนที่มีโอกาสมากกว่าสามารถให้คนที่โอกาสน้อยกว่าโดยไม่ต้องรอนาน”

แผ่นเจลนี้ถูกออกแบบเพื่อให้กระจายแรงกดบนพื้นผิว ผู้ป่วยที่ต้องอยู่กับที่เป็นเวลานานจะมีความเสี่ยงที่เกิดแผลกดทับ แผ่นเจลจะลดความเสี่ยง ผู้ใช้งานบอกว่า ผลที่ได้รับมีมากมาย จากการขยับไม่ได้แต่อยากขยับ เมื่อขยับแล้วเกิดแผล เมื่อมีแผ่นเจลสามารถนั่งได้จนแปรงฟันเสร็จ และตะแคงตัวช่วยตัวเองได้เพราะมีแผ่นเจลช่วย

ในเรื่องของความคุ้มทุน ดร.ณัฐพงศ์ บอกว่า คุ้มมากกว่าคุ้ม ราคาถูกกว่าของต่างชาติมาก ผลที่ได้รับเกิดประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจของคนไข้อย่างเห็นได้ชัด ไม่สามารถตีเป็นมูลค่าได้

“แผ่นเจลชิ้นละ 7,500 บาท งบโรงพยาบาลที่มีไม่สามารถซื้อแจกได้ ผู้ป่วยกดทับบางคนมีแผลลึกและใหญ่มาก ติดเชื้อ ต้องให้ยาฆ่าเชื้อตัวแรงๆ ค่ายาครั้งหนึ่งเป็นหมื่น ความคุ้มทุนของ 7,500 บาท ถือว่าคุ้มมาก โครงการนี้ควรจะเกิดให้เห็นว่าปัญหาของผู้ป่วยกดทับแล้วพึ่งพาระบบสาธารณสุขมีราคาซ่อนเยอะ อนาคตประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคผู้สูงวัยที่จะมีปัญหาเช่นนี้ โมเดลนี้สามารถรองรับและรับมือปัญหานี้ได้

เกิดประโยชน์มากกว่าที่คาดหวังไว้ ดีต่อใจคือ เขาบอกว่าชีวิตเขาดีขึ้นมาก สามารถแปรงฟันได้เอง ขับถ่ายโดยไม่ต้องมีคนช่วย มองเห็นคุณค่าตัวเอง ส่งผลในอนาคตในการอยากดูแลตนเอง มีอาชีพ ลดภาระของครอบครัว มีมากกว่าที่เราคาดคิดเป็นตัวเลขว่าแค่ลดภาระการรักษา อนาคตที่ดีต่อจิตใจของเขามีเยอะมาก ต้องเกิดโครงการนี้ให้ได้

การเอาคนไปหาชาวบ้านเป็นสิ่งที่ดี เป็นการรวมเมืองกับชนบท คนชนบทรู้สึกได้รับการช่วยเหลือ ลดช่องว่างระหว่างกัน ลดความรุนแรงลงได้ ถ้าโครงการได้เดินสายไปยังที่อื่น เป็นตัวอย่างทำให้เกิดการเชื่อมโยงต่อกัน ผลักดันให้ผมทุ่มเทกับงานนี้ว่าตัดสินใจถูก สิ่งเหล่านี้ต้องถูกขยาย เปิดโอกาสให้หลายคนมาช่วยกัน”

นายแพทย์เดชา แซ่หลี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพา กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมวางแผนดูแลผู้ป่วยด้วยนวัตกรรมแด่ผู้ด้อยโอกาส ขอขอบคุณม.อ.ปัตตานี แผ่นเจลช่วยดูแลผู้ป่วยแผลกดทับ เป็นนวัตกรรมที่งดงาม ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น สามารถขยับ ทำกิจวัตรประจำวันได้โดยไม่เกิดแผลกดทับเพิ่มเติม ลดภาระต่อครอบครัว เศรษฐกิจครอบครัวดีขึ้น คุ้มทุนมากในราคา 7,500 บาทต่อราย ทั้งระยะเวลา การผ่าตัดที่มีค่าใช้จ่าย นอนพักฟื้น หากติดเชื้อและดื้อยา ยาก็ราคาแพงขึ้น เทียบกับแผ่นเจลแล้วคุ้มทุนมาก

ด้าน นายอิมร่อน มุสอ ผู้ป่วยติดเตียงจากสาเหตุการตกต้นไม้ กระดูกสันหลังหัก ร่างกายท่อนล่างไร้ความรู้สึก แผลลึกและใหญ่มาก พักฟื้นและไปกลับโรงพยาบาลมากว่า 3 ปี จึงมาเจอแผ่นเจล ทำให้แผลดีขึ้น มีกำลังใจและเห็นคุณค่าตัวเองมากขึ้น

“นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเป็นปีๆ ขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างเทพา-สงขลา อีก 5 เดือน เข้าห้องผ่าตัด เจอพี่พยาบาลแนะนำให้ใช้แผ่นเจล คิดว่าจะจริงมั้ย เขาเอาไปให้ที่โรงพยาบาลแต่ยังไม่ได้ใช้ เอามาใช้ที่บ้าน ได้ผลกว่าที่คิดไว้ ช่วยได้มากจากแผลใหญ่ 5 แผลเหลือ 3 แผล เมื่อก่อนสามารถใส่แก้วกาแฟเข้าไปในแผลได้ ตอนนี้ขนาดแผลลดลงเหลือเพียงขนาดนิ้วก้อย แผลดีขึ้นมาก เวลานั่งอาบน้ำ แปรงฟัน แผ่นเจลนี้สามารถช่วยได้มาก จากคนทรุดโทรม ตัวดำ ไม่มีชีวิตชีวา ไม่มีหวัง กลับมามีกำลังใจ อ้วนท้วน ฟื้นฟูทุกอย่าง กลับมาสู้ จากที่คิดว่าไม่มีใครช่วยเรา แต่มีคนพยุงให้ลุกขึ้นได้”

“ขอบคุณทางม.อ.ปัตตานีที่คิดผลิตภัณฑ์นี้ช่วยให้คนท้อแท้ได้สู้ชีวิตอีกครั้ง ขอบคุณหมอนางฟ้าที่ไม่ทิ้งกัน เขาพูดจริงทำจริงจากหัวใจ เหมือนตายแล้วได้กลับมามีชีวิตไหม้อีกครั้ง มันยิ่งใหญ่มากสำหรับผม ขอบคุณมากๆ “

“การทำความดีทำได้หลายรูปแบบ เราเข้าไปดูแลชุมชนแล้วได้ผล ยังมีอีกหลายคนที่ต้องการความช่วยเหลือตรงนี้ อยากให้คนไข้ได้ใช้อย่างทั่วถึงกันทุกคนทุกพื้นที่กับนวัตกรรมนี้ อยากให้ช่วยกันระดมทุนเพื่อให้พวกเขาได้ใช้อย่างทั่วถึง” คือความหวังที่ฝากทิ้งท้ายของ พรวิลัย บวรณรงค์เดช แกนนำกลุ่มพยาบาลอาสา

ขณะทีทางม.อ.ปัตตานี เต็มใจผลิตให้ในราคาต้นทุน และจะเปิดตัวโครงการนางฟ้าชุมชุนในเร็ววันนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเพื่อนมุนษย์