อาวัณบุ๊คเปิดตัวชุดแบบอักษรยาวี(ฟอนต์ยาวี) หวังเป็นมาตรฐานในการสื่อสารและสิ่งพิมพ์ พร้อมผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อใช้ในมาตรฐานเดียวกัน ศอ.บต.เน้นหนุนทุกภาษาในพื้นที่
จากเวทีสัมมนานำเสนอชุดแบบอักษรยาวีของโครงการพัฒนาระบบชุดแบบอักษรยาวีเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ของกลุ่มอาวัณบุ๊ค สนับสนุนโดยโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูจังหวัดชายแดนภาคใต้(ช.ช.ต.) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2559 ณ ห้องประชุม สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี (หลังเก่า) มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชุดแบบอักษรยาวีกว่าร้อยคน
นายซอลาหุดดีน กริยา ประธานกลุ่มอาวัณบุ๊คและประธานโครงการพัฒนาระบบชุดแบบอักษรยาวีเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ กล่าวถึงที่มาและจุดประสงค์ของโครงการนี้ว่า จากการที่กลุ่มอาวัณบุ๊ครณรงค์การใช้ภาษามลายู เห็นว่าการพัฒนาฟอนต์ยาวีเพื่อรองรับการใช้งานและเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญเพื่อการใช้งานี่ถูกต้อง จึงได้จัดทำชุดแบบอักษรยาวีเพื่อพัฒนาฟอนต์ยาวีที่ถูกต้อง มีมาตรฐานในการพิมพ์ เกิดการใช้อย่างเข้าถึงและแพร่หลาย รวมทั้งสร้างพื้นที่กลางในการเรียนรู้และพัฒนาระบบการพิมพ์ตัวอักษรยาวี และภารกิจที่ต้องทำต่อคือ ผลักดันให้เข้าฟอนต์ยาวีเข้าสู่นโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ใช้กว้างขวางยิ่งขึ้นและมีมาตรฐานเดียวกัน
นายอารี ดิเรกกิจ รักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบาย การศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) กล่าวเปิดงานครั้งนี้ว่า
“เราเป็นเมล็ดพันธุ์น้อยๆ แต่มีมันสมองในการก้าวเดินในสังคม กิจกรรมดีๆ เหล่านี้เป็นการรวมพลังสมอง คนที่ไม่ได้มาสัมผัสก็จะมองภาพอีกด้าน ทีมทำงานเป็นคุณูปการกับพื้นที่ สร้างโอกาสให้กับเด็กๆ ต้องมาร่วมกันแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อัลลอฮฺสร้างสรรค์หลายมิติภาษาเพื่อให้มนุษย์ได้เรียนรู้ ไม่ได้มีแค่ภาษาเดียว และภาษาแยกจากศาสนา เป็นบททดสอบของอัลลอฮฺ”
นายอารี กล่าวถึงความสำคัญของภาษายาวีในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพว่าศอ.บต.พร้อมสนับสนุนกับทุกคนที่ทำดี ภาษายาวีเป็นส่วนหนึ่งที่ศอ.บต.ต้องหนุนให้ยังคงอยู่ ปัตตานีเป็นต้นแบบของบุคลากรที่ทรงคุณวุฒิด้านภาษายาวี ขณะนี้จีนกำลังส่งเสริมเศรษฐกิจและรุกโลกด้วยภาษา ให้ชาวโลกเห็นความสำคัญของภาษาจีน นำความเจริญมาสู่จีน ถ้าเราได้ระดมมันสมอง ให้ทุกคนได้เข้าใจ เรียนรู้และใช้ภาษายาวีได้อย่างง่ายดาย ด้วยการช่วยกันเผยแพร่เอกสาร การพูด เชื่อว่าภาษายาวีต้องมีการใช้อย่างแพร่หลายเช่นกัน
“ในส่วนของแผนงานของสำนักฯ ต้องส่งเสริมทุกภาษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คิดตั้งศูนย์ภาษายาวีที่ปัตตานี ศูนย์ภาษาจีนที่ยะลา และต้องหาผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษา เมื่อมีศูนย์ภาษา เยาวชนที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศสามารถมาเรียนรู้ได้เพื่อให้มีความชำนาญ เมื่อไปเรียนประเทศไหนก็ไม่ต้องไปเรียนปรับพื้นฐานภาษาอีก เป็นการหนุนเสริมสันติภาพด้วยการเป็นสื่อให้คนที่ไม่เข้าใจในพื้นที่ได้เข้าใจง่ายขึ้น ด้วยการสื่อความเข้าใจที่ตรงกัน”