เครือข่ายสตรีฯชายแดนใต้ จับมือคณะกรรมการอิสลาม จ.นราธิวาส เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังผู้หญิง ร่วมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในครอบครัวตามหลักการอิสลาม เปิดหนึ่งเดือนมีผู้มาร้องเรียนกว่า 60 ราย
เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชมรมผู้นำมุสลิมะฮ์นราธิวาส และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส(กกอ.) ร่วมกันแถลงเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังผู้หญิง และถือป้าย ร่ม เชิญชวน 1 เสียงร่วมกันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เนื่องในโอกาสวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล
นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลาม จ.นราธิวาส กล่าวว่า ศาสนาอิสลามเป็นระบอบการดำเนินชีวิตที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งเรื่องปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม ถ้าผู้ใดปฎิบัติตามหลักการศาสนาแล้ว ชีวิตครอบครัว ชุมชน สังคมนั้นจะเกิดความสงบสุข การได้มีองค์กรสตรีมาช่วยทำงานสนับสนุนกิจการของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีและควรให้การสนับสนุน ด้วยเหตุผลคือ สตรีเป็นบุคคลสำคัญ เป็นบ่าวของอัลลอฮ์ ซึ่งถูกกล่าวในอัลกุรอ่าน เช่น อิสลามได้ให้ความสำคัญต่อลักษณะพิเศษทั้งเพศชายและเพศหญิง ในด้านร่างกายและความสามารถต่างๆ พระองค์อัลลอฮ์ กล่าวว่า พระผู้สร้างจะมิทรงรอบรู้ดอกหรือ พระองค์คือผู้รอบรู้อย่างถี่ถ้วน ผู้ทรงตระหนักยิ่ง ผู้หญิงมีหน้าที่เหมาะสมสำหรับนาง ผู้ชายก็มีหน้าที่เหมาะสมสำหรับผู้ชาย และถ้าเกิดการล้ำเส้นการงานของอีกฝ่าย จะเกิดความไม่สมดุลของระบอบการใช้ชีวิต ผู้หญิงจะได้ผลบุญเทียบเท่าผู้ชาย แม้ว่านางจะอยู่ที่บ้าน…”
สตรีนั้นมีความเท่าเทียมกับผู้ชายในเรื่องผลบุญและความประเสริฐ สตรีเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในสถาบันครอบครัว เป็นผู้ที่ใกล้ชิด ดูแลลูก ดูแลบุคคลในครอบครัวทุกคนรวมทั้งพ่อแม่ด้วย สังคมจะเกิดสันติสุขได้ต้องเริ่มที่ครอบครัวที่ดี มีคนดูแลครอบครัวที่ดี จะส่งผลให้ชุมชน ตำบล จังหวัดประเทศชาติดีไปด้วย
“สังคมปัจจุบันนี้มีประชากรที่เป็นสตรีมาก และสตรีเป็นผู้ที่ขยันทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน ในขณะเดียวกันสตรีก็ต้องประสบปัญหาด้านต่างๆ ทั้งในครอบครัวและสังคมมากขึ้น ดังนั้นการที่มีสตรีมารวมกลุ่มกันเพื่อแก้ปัญหาของสตรีหรือช่วยเหลือสตรี ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด จะได้ช่วยกันให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเรื่องต่างๆได้ รวมทั้งเรื่องสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้สตรีได้รับผลกระทบโดยตรงเมื่อต้องสูญเสียสามี กลายเป็นสตรีหม้ายและต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำเพื่อดูแลครอบครัว ปัจจุบันนี้มีสตรีมุสลิมะฮ์ที่เก่ง มีความรู้ความสามารถมากขึ้น ซึ่งจะต้องช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนให้สตรีได้ทำงานเพื่อสังคมให้มากขึ้น”
นางซารีนา เจ๊ะเลาะ ประธานชมรมผู้นำมุสลิมะฮ์นราธิวาส กล่าวว่ากิจกรรมให้คำปรึกษาเสริมพลังผู้หญิง เป็นกิจกรรมบริการให้คำปรึกษา ชี้แนะแนวทาง หาทางออกในการแก้ปัญหา และการดูแลตนเองให้มีกำลังที่ดี แก่ผู้หญิงที่ประสบปัญหาในครอบครัว ในกรณีต่างๆ เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกบังคับ ขู่เข็ญ ถูกละเมิดทางเพศ การไม่ได้รับความเป็นธรรม การถูกเลือกปฎิบัติ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกให้กับผู้หญิงที่มาใช้บริการที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามเพื่อให้รู้สึกเป็นมิตร อบอุ่น มีคนคอยให้คำแนะนำ ซึ่งเรามีอาสาสมัคร 2 คนมานั่งทำงานในวันอาทิตย์-พฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 09.00 -15.30 น. จากการที่ได้เริ่มทำงานบริการให้คำปรึกษามาตั้งแต่วันที่ 1 – 22พฤศจิกายน 2559 มีผู้หญิงมาใช้บริการจำนวน 62 ราย ในจำนวนนี้เป็นเคสที่ผู้หญิงประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 25 ราย คือ มาขออย่าร้างเนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย และไม่ได้ดูแลให้การเลี้ยงดูครอบครัว
“เมื่อทำโครงการนี้ทำให้ได้รับรู้และเข้าใจปัญหาของผู้หญิง ที่ลึกซึ้งมากขึ้น เข้าใจประเด็นปัญหาของผู้หญิงและสามารถแนะนำเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องมากขึ้น และถ้าผู้ชายทุกคนมีศาสนาและเข้าใจในหลักการที่ศาสนาสอนไว้ เชื่อว่าปัญหาต่างๆในครอบครัวก็จะไม่เกิดขึ้น”
นางรอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรง แสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า กิจกรรมให้คำปรึกษาเสริมพลังผู้หญิง เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการโครงการความร่วมมือเครือข่ายผู้หญิงกับคณะกรรมการอิสลามในการพัฒนาสตรี จ.นราธิวาส ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิเพื่อนหญิงและองค์การอ็อกแฟมแห่งประเทศไทย เพื่อให้ความช่วยเหลือสตรีที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว นอกจากนี้ยังมีการกิจกรรมอื่นๆอีก เช่นการจัดประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการอิสลามกับเครือข่ายสตรี เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา การร่วมอบรมให้ความรู้แก่เยาวชนหญิงชายก่อนแต่งงานเพื่อให้ความรู้เรื่องทักษะชีวิต การจัดการปัญหาครอบครัว และความรับผิดชอบต่อสังคม และกิจกรรมแนะนำโครงการต่อสื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการจัดเวทีเรียนรู้เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการ 6 เดือน
“จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานในพื้นที่กว่า 25 ปี พบว่าผู้หญิงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการที่จะพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคม ทั้งนี้เพราะผู้หญิงมีบุคลิกที่นุ่มนวล ไม่แข็งกร้าว และมีความละเอียดอ่อน คุณสมบัตินี้ทำให้ผู้หญิงทำงานได้ดี ในสังคมมุสลิมปัจจุบันนี้เราพบว่า ผู้หญิงได้มีการศึกษาสูงขึ้น ได้ทำงานนอกบ้านมีตำแหน่งหน้าที่สูงขึ้น มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นมุสลิมะฮ์ด้วย เป็นปลัดอำเภอหญิงก็มาก เป็นผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. ขณะเดียวกันผู้หญิงก็ประสบปัญหาภัยคุกคามต่อผู้หญิงมากขึ้น เช่น ผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจจากคนในครอบครัว ข่มขืนกระทำชำเรา การเลือกปฎิบัติในอาชีพ ปัญหาท้องไม่พร้อม ท้องก่อนแต่ง ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้หญิงไม่เข้มแข็งพอ รู้ไม่เท่าทันกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะความก้าวหน้าที่ในด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร”
นางรอซิดะห์ กล่าวถึงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผู้นำศาสนาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ กลไกของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ชาย ไม่มีผู้หญิงหรือองค์กรผู้หญิง ได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมการอิสลาม ยกเว้น จ.นราธิวาส ในขณะเดียวกันพบว่า มีผู้หญิงมาติดต่อหรือใช้บริการขอความช่วยเหลือ ขอความเป็นธรรม ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามมาก โดยเฉพาะเรื่องการมาขอหย่าร้าง ทำให้กระบวนการซักถามข้อเท็จจริงมีข้อจำกัด เพราะผู้ที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยเป็นผู้ชายทั้งหมด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมหรือเป็นตัวกลางในการสื่อสารเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่เป็นจริงและมีความเข้าถึงกันมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการนี้
“ศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังผู้หญิงที่นี่ จะทำให้ผู้หญิงได้รับการบริการที่เป็นมิตร มีความสบายใจ และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และถ้าผู้หญิงต้องการความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่เห็นว่าจำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เราจะมีการประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศูนย์พึ่งได้ ของโรงพยาบาล หรือ ตำรวจ
สำหรับความคาดหวังต่อโครงการนี้คือ มีผู้หญิงที่มาขอรับบริการที่ สนง.กกอ. เฉลี่ย 200 คน ใน 5 เดือน ได้รับการบริการให้คำปรึกษาที่เป็นมิตรและมีผู้หญิง 30 คน ได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองเบื้องต้นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีฐานข้อมูลผู้หญิงกับความรุนแรงที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง เยาวชนหญิงชาย ได้รับความรู้ บทบาท สิทธิหน้าที่ กฎหมาย และช่องทางการบริการที่เกี่ยวข้องเพื่อการคุ้มครองสิทธิและรับการช่วยเหลือจากรัฐเพิ่มขึ้น”
เพียง 1 เดือนที่เปิดบริการ มีมุสลิมะฮฺมาร้องเรียนกว่า 60 โดยเกือบครึ่งประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จึงมาขออย่าร้างเนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย และไม่ได้รับการดูแลในการเลี้ยงดูครอบครัว
เป็นปัญหาหนักหน่วงที่หน่วยพื้นฐานของชีวิตประสบปัญหาเช่นนี้ และมีจำนวนมากในชายแดนใต้