เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ UN WOMAN จัดเวที “การประชุมเพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและเด็ก” เพื่อเสนอต่อร่างมาตรการและแนวทางด้านสตรีและส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง โดยมีคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAW) เข้าร่วมประมาณ 60 คน ณ โรงแรมบีพี สมิหลา จ.สงขลา
นางมิว่า คาโต้ ผู้อำนวยการ UN WOMAN สำนักงานภาคพื้นที่เอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า UN WOMAN มีบทบาทในการสนับสนุน ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติให้มีการดำเนินงานในเรื่องผู้หญิงกับสันติภาพและความมั่นคง โดยมีความร่วมมือจากภาครัฐและมีการสนับสนุนด้านงบประมาณและนโยบายเพื่อขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิงและความก้าวหน้าของผู้หญิง
“UN Woman ร่วมทำงานกับทุกฝ่ายเพื่อมุ่งเดินหน้าในการดำเนินตามมติคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ 1325 รวมไปถึงมติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นผ่านการพัฒนาร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงแห่งชาติและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในข้อมติเพื่อยุติความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ”
ด้าน นางรัตนา สัยยะนิฐี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสตรี กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ได้เห็นชอบร่าง “มาตรการและแนวปฏิบัติด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง” แล้ว โดยอนุวัตรตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1325 ประเทศไทยให้คำมั่นว่าจะพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านสตรี สันติภาพและความมั่นคง ซึ่งจะมีผลให้หน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม โดยได้รับการสนับสนุนจาก UN Women
ทั้งนี้ “มาตรการและแนวปฏิบัติด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง” ดังกล่าวมีวิสัยทัศน์ให้ “สตรีได้รับการปกป้อง คุ้มครองสิทธิ ได้รับความเป็นธรรมและเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในงานด้านสันติภาพและความมั่นคง” โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อให้สตรีได้รับการปกป้องและคุ้มครองสิทธิจากปัญหาความขัดแย้งอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ส่งเสริมบทบาทของสตรีในการสร้างสันติภาพและความมั่นคง ให้ภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา ประชาชน และผู้นำในพื้นที่ รวมทั้งสื่อมวลชน มีบทบาทปกป้อง คุ้มครองสิทธิสตรีและฟื้นฟูเยียวยาสตรีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้ง และให้มีกลไกในการจัดการความขัดแย้งและกระบวนการสร้างสันติภาพและความมั่นคง ทั้งในและต่างประเทศ
และมีเป้าหมายหลักคือ สตรีในพื้นที่สถานการณ์ความขัดแย้งได้รับการปกป้องและคุ้มครองสิทธิ มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพในทุกขั้นตอนและทุกระดับ ภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา ประชาชน ผู้นำในพื้นที่และสื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพและความมั่นคง มีกลไกส่งเสริมให้สตรีมีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้งและกระบวนการสร้างสันติภาพ และมีฐานข้อมูลกลางด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงที่เป็นระบบ ทันสมัย เข้าถึงง่าย
ด้วยความที่รัฐบาลไทยไม่สามารถยอมรับว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “ความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธ” (Arm conflict) ยอมรับเป็นเพียง “เหตุการณ์ความไม่สงบ” แม้ความขัดแย้งและรุนแรงดังกล่าวเป็นความขัดแย้งที่ทำให้ถึงตายมีผู้เสียชีวิตเกือบ 7,000 คนตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ทำให้คณะรัฐมนตรีไม่สามารถออกมติครม. เป็น (ร่าง) “ยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านสตรี สันติภาพ และความมั่นคง” ที่สอดคล้องตามตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1325 ได้ จึงลดทอนลงเป็นเพียง “มาตรการและแนวปฏิบัติด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง” ภายใต้ คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) แม้จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการขับเคลื่อนก็ตาม
กลุ่มผู้หญิงยกตัวอย่างเหตุการณ์ความรุนแรงที่ส่งผลกระทบทางจิตใจ ชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของผู้หญิงในท้องถิ่น เช่น วิถีการทำนา ซึ่งในอดีตเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนชาวไทยพุทธและมุสลิม ให้ได้มีกิจกรรมร่วมกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน 2 ศาสนา เริ่มน้อยลง ส่งผลให้เกิดความระแวงต่อกัน อีกทั้งการทำนาจากปราชญ์ชาวบ้านก็มีให้เห็นน้อยลง ส่งผลให้ความรู้ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา (คติชนวิทยา) สูญหายไป
ผู้ได้รับผลกระทบที่สูญเสียลูกชายจากเหตุการณ์ความไม่สงบบริเวณตลาด เรียกร้องให้ทางการและทุกภาคส่วนรณรงค์ให้ตลาดเป็นพื้นที่ปลอดภัยอย่างจริงจัง ท้ายสุด ในเวที มีการสนับสนุนให้จัดตั้งสมาคมสตรีมุสลิมในแต่ละจังหวัด ซึ่งในจังหวัดที่มีองค์กรอยู่แล้วได้ให้ความช่วยเหลือเรื่องทุนการศึกษากับบุตรหลานผู้ได้รับผลกระทบ
สำหรับในมุมมองของมุสลิมในพื้นที่ ประเด็นการถอนทหารออกจากพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ เช่น ผอ. โรงเรียนหนึ่งกล่าวถึงการถอนทหารออกจากโรงเรียนกรณีเกิดการปิดล้อมเพื่อตรวจค้นว่า
“ทหารควรแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนให้รับรู้รับทราบ การให้คนในชุมชน มีส่วนร่วมในการดูแลสถานที่ปลอดภัย เช่น ตลาด และ โรงเรียน เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยลดช่องว่างเรื่องความหวาดระแวง ให้คนชุมชนจัดการกันเองย่อมเข้าใจในบริบทของพื้นที่ตรงกัน และข้อเรียกร้องอีกข้อหนึ่งคือต้องการให้ เจ้าหน้าที่หรือทหาร ที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ เข้าใจถึงวิถีของมุสลิม เข้าใจหลักการของศาสนาอิสลามในเบื้องต้น”
ในการเสวนาเวทีปิดนั้น ผู้ได้รับผลกระทบกล่าวถึงปัญหายาเสพติดที่แพร่กระจายในพื้นที่สามจังหวัดใช้แดนภาคใต้อันมีผลต่อความมั่นคงในครัวเรือนความมั่นคงในที่นี้หมายถึงชีวิตทรัพย์สินและความมั่นคงทางสังคม ประเด็นหลักคือกลุ่มผู้นำสตรีและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงคือ ความรุนแรงในครอบครัวอันเป็นผลมาจากการขาดสภาพคล่องในการใช้ชีวิตและการทำมาหากินในท่ามกลางความเสี่ยงทางกายภาพ รวมไปถึงความรุนแรงที่เกิดจากการกระทบกระทั่งทางสภาวะจิตใจและความรุนแรงที่เกิดจากการทำร้ายร่างกายของผู้หญิงในฐานะบุคคลผู้เป็นเสาหลักคนหนึ่งในครอบครัว
หวังว่า ข้อเรียกร้องทั้งหลายของผู้หญิงชายแดนใต้จะส่งเสียงไปยังผู้รับผิดชอบ ผู้ปฎิบัติ และผู้เกี่ยวข้องให้ได้รับรู้ พร้อมหาทางออกร่วมกัน…