หน้าแรก ข่าวในประเทศ ข่าวชายแดนใต้

สามนักสิทธิ์ ให้ปากคำเพิ่มเติมพนักงานสอบสวนสภ.เมืองปัตตานี

สามนักสิทธิ์ให้ปากคำเพิ่มเติมด้วยเอกสารพนักงานสอบสวนสภ.เมืองปัตตานี พร้อมระบุพยานบุคคลสอบเพิ่มเติมตามที่ทนายและผู้ต้องหาร้องขอ ก่อนสรุปสำนวนทำความเห็นส่งให้พนักงานอัยการต่อไป คาดส่งได้ภายในเดือนธันวาคมนี้

ตามที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี พ.ต.ท.วิญญู เทียมราช ให้ดำเนินคดีนายสมชาย หอมลออ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550โดยกล่าวหาว่านักปกป้องสิทธิทั้งสามคนได้ร่วมกันจัดพิมพ์และแจกจ่ายรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีฯ ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 – 2558 และนำเอกสารรายงานฯ ดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้รับความเสียหาย ซึ่งมีการรายงานตัวไปแล้วครั้งหนึ่ง

ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 เวลา 10.45 น. ทนายความอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความสัญญา เอียดจงดี และทนายความจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว พร้อมผู้ต้องหา นายสมชาย หอมลออ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ คดีที่ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความร้องทุกข์ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เนื่องจากการเปิดเผยรายงานการทรมานในจังหวัดชายแดนใต้ โดยในวันนี้ทนายความและผู้ต้องหาได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติมปฏิเสธข้อกล่าวทั้งสิ้น โดยให้การว่า รายงานเกี่ยวกับการทรมานได้ถูกจัดทำขึ้น โดยเจตนาสุจริต เนื่องจากการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำอย่างแพร่หลาย แม้ในปัจจุบันก็ไม่มีท่าทีว่าจะลดลง เป็นการบั่นทอนความเข้มแข็งของกระบวนการยุติธรรม ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐ ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และในการสร้างสันติสุข โดยต้องการให้หน่วยงานของรัฐแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอ

ทนายความและผู้ต้องหาได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน พ.ต.ท. วิญญู เทียมราช เป็นเอกสารจำนวน 10 หน้า และแผ่นบันทึกภาพและเสียงจำนวน 1 แผ่น พร้อมทั้งระบุพยานเอกสารกว่า 30 รายการและรายชื่อพยานบุคคลจำนวนกว่า 20 คน ทั้งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและต่างประเทศและอาสาสมัครที่สัมภาษณ์ผู้ตกเป็นเหยื่อของการทรมาน และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำเป็นพยานตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 131 ที่ระบุว่า พนักงานสอบสวนจะดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา

พนักงานสอบสวนจะเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาดำเนินการตามคำขอ โดยจะประสานขอความช่วยเหลือให้ฝ่ายผู้ต้องหาติดต่อพยานและอนุญาตให้มีการสอบพยานเพิ่มเติมระบุว่าจะสั่งให้มีการสอบเพิ่มเติมพยานเอกสารและบุคคลตามที่ทนายและผู้ต้องหาร้องขอ ก่อนสรุปสำนวนทำความเห็นส่งให้พนักงานอัยการต่อไป

นายสมชาย หอมลออ หนึ่งในผู้ต้องหากล่าวว่าการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต้องเตรียมตัวเตรียมใจว่าอาจต้องเจอสถานการณ์เช่นนี้ อยากให้ทางการได้ตระหนักว่า หากจะแก้ปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้ ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าฝ่ายใดต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม มิเช่นนั้นก็ไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้

“ส่วนเรื่องการซ้อมทรมานเป็นการบั่นทอนความยุติธรรม ประชาชนขาดความเชื่อมั่นและอาจใช้ความรุนแรงต่อกัน สิ่งที่ทำเป็นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อเป็นการเตือนด้วยเจตนาฉันท์มิตรเพื่อได้แก้ปัญหา หากปล่อยไว้จะทำให้ประชาชนออกห่างจากหน่วยงานรัฐและแก้ไขยาก สะท้อนให้เห็นว่าราชการไม่รับฟังความคิดเห็นของข้อมูลอย่างเปิดใจและเปิดความคิด ประชาชนบางคนไม่อยากเปิดตัวเพราะไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัย การรายงานเป็นแค่ส่วนหนึ่ง หากข้อเท็จจริงมีมากกว่านั้น”

“ขอยืนยันว่าเราทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ สร้างความเข้มแข็งให้กระบวนการยุติธรรม เพื่อเป็นบทเรียนแม้พวกเราทั้งสามคน ต้องการให้ทางราชการยุติการดำเนินคดีนี้ แต่สิ่งที่เราต้องการอย่างยิ่งคือ การที่รัฐ โดยเฉพาะ กอ.รมน. ภาค 4 นำข้อเสนอแนะของเราในรายงานไปปฏิบัติ เพื่อให้มีผลในการลดการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้”

พ.ต.ท.วิญญู เทียมราช รองผกก.(สอบสวน) สภ.เมืองปัตตานี กล่าวถึง ผู้ต้องหาทั้งสามมาส่งคำให้การเพิ่มเติมด้วยเอกสาร รวมทั้งให้มีการสอบพยานเพิ่มเติม ได้รับเรื่องไว้พิจารณา จะรวบรวมเอกสารหลักฐานเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณา ส่งตามระเบียบถึงอัยการว่ามีความเห็นแย้งอย่างไร ถ้าอัยการไม่ฟ้องก็จะส่งกลับมาให้ตำรวจอีกครั้งว่าจะเห็นแย้งหรือเห็นพ้องกัน จะรวบรวมเอกสารและจัดส่งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 26 ธันวาคม 2559