ภาพนาเกลือริมถนนใกล้ชุมชนแหลมนก ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นภาพคุ้นชินตาของชาวปัตตานีและผู้สัญจรผ่านไปมากับ กระสอบเกลือ กองเกลือ นาเกลือ ทุกสิ่งที่มองเห็นคือวิถีแห่งความจริงของชีวิตคนทำนาเกลือแห่งตานี
การทำนาเกลือที่ปัตตานี มีมานานหลายร้อยปีตั้งแต่สมัยโบราณ เล่าต่อกันมาหลายช่วงอายุคนว่า เกลือเป็นสิ่งจำเป็นในการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างชุมชน สถานที่ที่เหมาะสมแก่การทำนาเกลือคือพื้นที่ราบริมทะเลที่น้ำทะเลสามารถขึ้นได้ในช่วงเดือนข้างขึ้นตลอดปีโดยเฉพาะจังหวัดที่มีที่ริมทะเลเพราะดินเป็นดินเหนียวเช่นเดียวกับภาคกลางที่สมุทรสาครและเพชรบุรี สำหรับในภาคใต้มีนาเกลือแห่งเดียวคือ ปัตตานี
ในบันทึกของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ รายงานทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เมื่อ พ.ศ.2439ความว่า “ในเมืองปัตตานี มีนาเกลือแห่งเดียวตลอดแหลมมลายู สินค้าเกลือเมืองปัตตานีขายได้อย่างแพงถึงเกวียนละ 16 เหรียญ ขายตลอดออกไปจนสิงคโปร์และเกาะหมาก…”
ปัจจุบันพื้นที่นาเกลือบางส่วนเปลี่ยนสภาพเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัยและบางส่วนเป็นนากุ้ง มีผู้ทำนาเกลือเป็นอาชีพเหลือประมาณ 500 คน ในพื้นที่ประมาณ 3,500 ไร่ ผลิตเกลือได้ปีละประมาณ 7,000 ตัน แถบแหลมนกและปาเระ
“ทำนาเกลือมาตั้งแต่รุ่นปู่ เรียนชั้นป.6 ก็ทำเป็นแล้ว ถึงตอนนี้ก็ 30 กว่าปี” อับดุลรอมลี บาแม วัย 44 ปี ชาวบ้านตันหยงลุโละ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากนาเกลือที่เขาทำเป็นอาชีพหลัก บอกกล่าวถึงเวลาในการทำนาเกลือของเขา
เมื่ออับดุลรอมลีบอกถึงการทำนาเกลือ ทำให้ได้รู้ว่า กว่าจะได้เกลือมากินกันนั้น ไม่ได้ง่ายเลย พื้นที่ทำนาเกลือของเขาเป็นพื้นที่ใกล้ชายทะเล ราบเรียบ เป็นดินเหนียว ยกคันนาเป็นแปลงๆ ขนาดประมาณ 10-40 เมตร คันนากว้างพอให้คนเดินผ่านไปมาได้และสามารถขังน้ำทะเลได้
“ช่วงเดือนกุมพันธ์-มีนาคม ต้องมาจากปรับพื้นที่นาให้ดินเค็ม สูบน้ำเข้านา ถ้าฝนตกก็จบ ต้องรออีกเป็นเดือน แต่งแปลงนาตากให้แห้งจนแตกระแหง สูบน้ำเข้านา แล้วตากแห้งอีก 3-4 วัน พอน้ำแห้งสูบน้ำเข้ใหม่ สังเกตถ้าดินมีความเค็มจะเห็นสีขาวเต็มไปหมด ถ้ายังไม่เค็มเติมน้ำอีกประมาณ 3 ครั้ง จนเห็นเป็นประกายแววใสขึ้นมาคือ ได้เกลือแล้ว”
อับดุลรอมลีบอกต่อว่า สูบน้ำเข้าทุกวันมากักไว้ในนาอีกแปลงที่ใกล้กันเพื่อรอให้เค็มแล้วค่อยปล่อยเข้านาเกลือจริง ใช้ลูกกลิ้งๆ ให้แน่นเสมอกันประมาณ 3 วัน ปล่อยน้ำอีกครั้งหนึ่ง แล้วสังเกตเห็นความหวานของเกลือ เมื่อเกลือตกผลึกแล้วก็ใช้เครื่องมือคราดที่ตอกด้วยตะปู เคาะเกลือให้แตกแล้วกวาดด้วยเครื่องคราดทำด้วยไม้กระดานมากองไว้ ปล่อยให้น้ำที่เหลือระเหยแห้งไปเองและล้างเกลือในพื้นไปในตัวได้ด้วย ขั้นตอนนี้เขาบอกว่า ต้องคราดอย่างเบามือที่สุดเพื่อไม่ให้ดินปนมากับเกลือ
“เมื่อสังเกตว่าน้ำระเหยเร็วโดยที่เกลือยังไม่ตกผลึกก็ชักน้ำเข้าแปลงอีกครั้งจนกว่าจะได้เกลือ เมื่อกวาดเกลือไปกองและนำขึ้นไปเก็บไว้เตรียมขายให้ปล่อยน้ำเค็มมาอีกครั้งจนได้เกลืออีกหลายรอบ แดดกับลมเป็นปัจจัยหลักในการทำนาเกลือ ถ้ามีแดดอย่างเดียวเกลือก็ไม่เป็นเม็ด เป็นผงหมด เมื่อลมมาตีน้ำทำให้เกลือจมลงไปเป็นเม็ด”
ถ้าปีไหนที่มีฝนตกน้อย ชาวนาเกลือจะได้เกลือจากนาเกลือหลายรอบ ตลอดประมาณสองเดือนหากฝนไม่ตกจะเก็บได้ประมาณ 8-10 ครั้ง เพราะเมื่อดินเค็มแล้วเกลือก็จะขึ้นมาเอง แต่เมื่อถึงฤดูฝนก็ต้องหยุดทุกอย่างโดยปริยาย
“เดี๋ยวนี้กะฟ้าฝนยาก ฤดูกาลเปลี่ยนไปหมด เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวพายุเข้า หน้าร้อนฝนก็ตก อย่างเดือนเมษายนที่ผ่านมาฝนตกหนักท่วมนาเกือบเดือน ต้องรอฝนหยุดอย่างเดียว ถ้าให้แน่นอนใช้กังหันลมดีกว่า เพราะตอนนี้ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ เสียค่าน้ำมันวันละ 50 บาท
“ช่วงที่รอนาเกลือกว่าจะได้เก็บเกลือก็ไม่มีรายได้ ไปรับจ้างขึ้นมะพร้าวและรับจ้างอื่นๆ แถวบ้าน รายได้จากนาเกลือที่เก็บได้ปีละครั้งพอได้ใช้จ่าย ทำร่วมกับน้าชาย เสียค่าเช่าปีละ 300 บาทกับทางอบจ.ปัตตานีมาไม่ถึงปี แต่เมื่อก่อนที่ปู่ทำมาก็ไม่ได้จ่าย”
เมื่อถามถึงความชัดเจนของเกลือหวานปัตตานี อับดุลรอมลีบอกว่า เกลือหวานคือเกลือที่โดนฝนทำให้มีรสชาตกลมกล่อม ส่วนเกลือเค็มคือเกลือที่ไม่โดนฝน เกลือปัตตานีต่างจากเกลือเพชรบุรีและสมุทรสาครคือ ความขาวของเกลือ เกลือปัตตานีขุ่นกว่าจากวิธีการเก็บเกลือแตกต่างกัน ส่วนราคาเกลือปัตตานีอยู่ที่กระสอบละประมาณ 100 บาท
นอกจากนี้ ยังมีเกลือทำปุ๋ยจากนาเกลืออีกด้วย เป็นเกลือดำปนดินเหนียวปนโคลน มีคุณภาพดีกว่าปุ๋ยเคมี ใช้ได้ผลดีกับปาล์ม มะพร้าว กระสอบละ 100-150 ขึ้นอยู่กับปริมาณการสั่ง หากใช้ไม่หมดวางไว้ก็สามารถใช้ได้ทั้งปี ไม่ยุ่ยเปื่อย