หน้าแรก ข่าวในประเทศ ข่าวชายแดนใต้

“ม.อ.ปัตตานี” ยัน ไม่มีการเซ็นลงนามร่วมศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพากับ “กฟผ.” 9 พ.ย. นี้แน่นอน

เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เข้าพบรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) กรณีที่มีเอกสารจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เชิญสื่อมวลชนร่วมทำข่าวมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เซ็น MOU ร่วมกับทาง กฟผ. กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ในวันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ณ เทพาบีช รีสอร์ต อ.เทพา จ.สงขลา เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงที่มีชื่อของ รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้ลงนาม และ ผศ.ดร.ศราวุฒิ เจ๊ะโส๊ะ และ ผศ.ดร.อภิรดี แซ่ลิ่ม เป็นผู้ทำการศึกษาวิจัยให้กับ กฟผ.

นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กล่าวว่า ตามที่ปรากฏในข่าวแจกของ กฟผ.ต่อสื่อมวลชน ว่า จะมีพิธีลงนามข้อตกลงงานบริการวิชาการระหว่าง กฟผ.กับม.อ.ปัตตานี ในวันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ณ เทพาบีช รีสอร์ต โดยมีชื่อของ รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้ลงนาม และมี ผศ.ดร.ศราวุฒิ เจ๊ะโส๊ะ และ ผศ.ดร.อภิรดี แซ่ลิ่ม เป็นผู้ทำการศึกษาวิจัยให้แก่ กฟผ.นั้น

s__20455446ทางเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงมีความกังวลต่อภาพลักษณ์ของ ม.อ.ปัตตานีเป็นอย่างยิ่ง เพราะม.อ.ปัตตานีคือ ความหวังของสังคมคนชายแดนใต้ ประชาชนมีความคาดหวังจากความเป็นสงขลานครินทร์ ที่เป็นแหล่งวิชาการที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ให้ใช้ฐานะความเป็นผู้นำด้านวิชาการในการปกป้องชุมชน เคียงข้างภาคประชาชน ยืนยันในความถูกต้อง จึงมาสอบถามเพื่อความมั่นใจ

รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดี
รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดี

รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มาพบกับทางเครือข่ายฯ ณ สำนักงานอธิการบดี เมื่อรับทราบถึงวัตถุประสงค์ในการเดินทางมาของเครือข่ายฯ รองอธิการบดีได้กล่าวยืนยันต่อทางเครือข่ายฯ ว่า ม.อ.ปัตตานี จะไม่มีการลงนามความร่วมมือ หรือเซ็น MOU กับ กฟผ. แต่นักวิชาการที่รับทำวิจัยก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล หากในนามมหาวิทยาลัยฯ จะไม่มีการลงนามใดๆ ทั้งสิ้น พร้อมกล่าวถึงบทบาทของนักวิชาการของม.อ.ปัตตานีว่า

“เชื่อในวิธีการวิจัยของม.อ.ปัตตานี คงไม่มีใครเอาอนาคตตัวเองไปทำลาย มหาวิทยาลัยทำได้คือกำกับให้นักวิชาการเคร่งครัดในการศึกษาข้อมูลที่ถูกต้องและชี้ชัด นักวิจัยต้องมีจรรยาบรรณของความถูกต้อง เพราะข้อเท็จจริงถูกต้องจะเป็นประโยชน์มากที่สุด”

ด้าน รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี กล่าวชี้แจงต่อทางเครือข่ายฯ ว่า 31 ปีที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ทำงานที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่มาอย่างยาวนานนอกจากงานสอนและงานปกติ เช่น ทำเรื่องเขื่อนสายบุรี อ่าวปัตตานี และโรงไฟฟ้าถ่านหินทุ่งพอ เป็นต้น ในส่วนของเรื่องการเซ็น MOU ครั้งนี้นั้น ได้มีบุคคลที่เป็นห่วงส่งกำหนดการมาให้ดู เพราะไม่เชื่อว่า จะไปลงนาม MOU ซึ่งได้ตอบไปว่า ที่เชื่อนั้นถูกต้องแล้ว

รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“ประมาณปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการประสานงานจาก กฟผ. จะให้มีการลงนาม MOU เพื่อทำงานวิชาการร่วมกัน ผมก็ถามว่า ลงนามอะไรกัน ก็ได้คำตอบมาว่า ลงนามร่วมกันในเรื่องการบริการวิชาการ ผมบอกว่า หากลงนามในนามคณะ ผมไม่ประสงค์ที่จะลงนาม ผมจะไม่ไปลงนาม ด้วยเหตุผลคือ การลงนามไม่ใช่เรื่องของคณะ เป็นเรื่องของมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยต้องมีนโยบาย และไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่กฟผ.ทำเช่นนี้ เพราะเป็นการมัดมือชกให้ไปลงนาม เมื่อเห็นกำหนดการนี้ออกมาผมก็ตกใจ ให้เจ้าหน้าที่ประสานไปยัง กฟผ. ซึ่งทาง กฟผ.ก็ตอบว่า กำหนดการที่เขียนนั้นเป็นกำหนดการที่ร่างก่อนที่จะมาทาบทามผม ผมก็บอกว่าในเมื่อดำเนินการไปแล้ว ใครจะมารับผิดชอบความเสียหายแทนผม

จึงขอชี้แจงต่อพี่น้องว่า จะไม่มีการลงนาม ถ้าลงนามก็คือกฟผ.ฝ่ายเดียว แม้แต่อาจารย์ของคณะก็ไม่มีไปลงนาม เพราะไม่ได้มีการมอบหมายให้ไปลงนาม แต่ถ้าจะมีอาจารย์บางท่านไปซึ่งผมไม่แน่ใจ ถ้าไปไม่ใช่การลงนาม แต่ไปเป็นการส่วนตัว เพราะคณะเราให้อิสระทางวิชาการ เพราะแม้แต่อาจารย์บางท่าน ซึ่งไปทำงานกับชาวบ้าน ผมก็ถูกตั้งคำถามจากหน่วยงานต่างๆ แต่ผมบอกว่า นโยบายของคณะให้อิสระแก่อาจารย์ในการไปทำงานวิชาการ โดยนโยบายเป็นอย่างนี้ ส่วนประเด็นที่มีอาจารย์ไปทำงานวิจัยกับ กฟผ. ในด้านสภาวะเศรษฐกิจสังคม การทำมาหากิน สุขภาพของชาวบ้าน ต้องบอกว่ามี แต่ไม่ใช่การจ้างแบบที่ต้องทำสัญญาว่าจ้าง เพราะเป็นเรื่องไปทำส่วนตัว”

คณบดีคณะวิทย์ฯ กล่าวต่อว่า จากการเคยร่วมประชุมกับ กฟผ. กฟผ.พยายามที่จะให้ ม.อ.ปัตตานีทำจริง ให้ทำเหมือนที่เขาทำอีไอเอ (EIA) แต่มหาวิทยาลัยฯ บอกว่า ไม่ทำอีไอเอ เพราะทำไม่ได้ เขาทำไปแล้วและมีปัญหาไปแล้วด้วย หากจะให้มหาวิทยาลัยฯ ทำ มหาวิทยาลัยฯ จะทำข้อมูลพื้นฐานให้ว่า มีปลาอยู่กี่ตัว ชาวประมงมีเท่าใด มีรายได้เท่าใด ต้นไม้ สัตว์น้ำ อยู่ตรงไหน อันนี้ทำให้ได้ แต่มีข้อเสนอ 3 ข้อ ซึ่ง กฟผ.ต้องทำให้ได้ หากทำไม่ได้ มหาวิทยาลัยฯ ก็ไม่รับทำ คือ

“1.เราจะทำเฉพาะข้อมูลพื้นฐานจริงๆ และข้อมูลนี้ทุกคนต้องใช้ประโยชน์ได้ เพราะเป็นข้อมูลของจริง 2.เราจะไม่รับเงินจาก กฟผ. ต้องไปหาเงินรัฐบาลมาจากช่องทางไหนก็ได้ ที่ไม่ใช่เงินของ กฟผ. 3.ขณะที่มีการทำงาน (สมมติว่าหากมีการทำ) กฟผ.ห้ามเข้ามายุ่งเกี่ยวเด็ดขาด ห้ามตาม ห้ามอะไรทั้งสิ้น

ซึ่งเราได้ยื่นข้อเสนอต่อ กฟผ.หลายเดือนแล้ว จนถึงวันนี้เรายังไม่ได้คำตอบ จึงขอบอกว่า มหาวิทยาลัยฯ เรามีที่ยืน และมีหลักการอยู่ตรงไหน ต้องขอโทษด้วยที่ทำให้พี่น้องต้องกังวลใจ ผมก็มีความกังวลใจไม่ต่างจากพี่น้อง เพราะอยู่ดีๆ มีชื่อปรากฏเป็นผู้ลงนาม MOU โดยที่ไม่ได้รับทราบ ไม่เคยรับรู้กันมาก่อนว่า จะมีการลงนามเซ็น MOU จนมาเห็นข้อมูลที่มีการส่งมาให้ดูด้วยความเป็นห่วง”

นายดิเรก กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาได้โกหกชุมชนมาโดยตลอด ให้ข้อมูลแต่ด้านดี โดยไม่บอกถึงผลกระทบ สร้างความแตกแยกในชุมชน ทำลายสิ่งแวดล้อม คุกคามสุขภาพ จึงไม่ควรที่ทางม.อ.ปัตตานี จะไปลงนามสัญญาใดๆ ที่เป็นการสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพากับ กฟผ.

“แม้ รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม จะไม่ทราบเรื่องมาก่อน แต่ถูก กฟผ.แอบอ้างนำไปลงในกำหนดการ แต่อาจารย์ซุกรีก็ยืนยันจะไม่ไปร่วมลงนาม ทางเครือข่ายฯ ก็ยังมีความกังวลในความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของม.อ.ที่อาจเกิดขึ้นได้ในไม่กี่วันนี้ หรือในระยะเวลาต่อไป จึงได้เดินทางมาเพื่อสอบถามที่มาที่ไปจากท่านรองอธิการบดีฯ ด้วยความเคารพและความห่วงใยในความเป็น ม.อ.อย่างแท้จริง การลงนามในวันที่ 9 พ.ย.นี้ จึงเท่ากับเป็นการจัดฉากให้ กฟผ.ใช้ความเป็น ม.อ.ปัตตานี ซักฟอกขาวความสกปรกของถ่านหินและ กฟผ. ซึ่งคณาจารย์ใน ม.อ.ก็รู้ และมีความเป็นห่วงมากด้วย”

นายดิเรก กล่าวต่อว่า เมื่อได้รับคำชี้แจงจากรองอธิการบดีและคณบดีว่า จะไม่มีการลงนามอย่างแน่นอน แม้ กฟผ.จะพยายามดึง ม.อ.เข้าไปสร้างความชอบธรรมให้โครงการอย่างมาก แต่ไม่สำเร็จ ทางเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงขอขอบคุณที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังคงยืนเคียงข้างพี่น้องประชาชน และมีจุดยืนด้านความถูกต้อง ชอบธรรม

สำหรับข้อเสนอจากทางม.อ.ปัตตานี ที่ให้ชาวบ้านเป็นนักวิจัยชุมชนจากประเด็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยมีพี่เลี้ยงจากม.อ.ปัตตานี ร่วมช่วยเหลือแนะนำเพื่อประโยชน์ของชุมชนส่วนรวมนั้น ทางเครือข่ายฯ รับปากว่าจะนำข่อเสนอนี้ไปปรึกษาหารือกัน และหวังได้รับความร่วมมือในทุกด้านจากทางมอ.ปัตตานีต่อไป

รายละเอียดของกำหนดการที่ส่งเชิญสื่อมวลชน

09.00 สื่อมวลชน ลงทะเบียน/รับของที่ระลึก/อาหารว่าง ชุมชน จำนวน 200 คน ลงทะเบียน 10.00 – 10.10 น. ชมวีดิทัศน์ กฟผ. เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม

10.10 – 10.20 น. กล่าวรายงานโดย นางคัคนา เชยชุ่ม หัวหน้ากองประเมินผลกระทบทางสังคมและสุขภาพฝ่ายชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ

10.20 – 10.30 น. กล่าวเปิดงาน โดย ว่าที่พันตรี อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยาผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ

10.30 – 11.00 น. นำเสนอ รายละเอียดแผนการดำเนินงานจัดทำฐานข้อมูลด้านสังคมเศรษฐกิจ และภาวะสุขภาพของประชาชนบ้านคลองประดู่ ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ปี 2559 โดย ผศ.ดร. ศราวุธ เจ๊ะโส๊ะ ผศ.ดร. อภิรดี แซ่ลิ่ม อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

11.00 – 11.15 น. ซักถามข้อสงสัยและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน11.15 – 11.30 น. พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงงานบริการวิชาการ ระหว่าง ว่าที่พันตรี อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการกับ รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีมอบของที่ระลึก /ถ่ายภาพร่วมกันให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

12.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน

13.30 น. คณะและสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อติดตามการจัดทำฐานข้อมูลชุมชนในพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านคลองประดู่ ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา