เมื่อศาสดามุฮัมมัด (ซล.) ได้รับบัญชาจากพระเจ้าให้นำประชาชาติมุสลิมในการละหมาดประจำวันห้าเวลา การละหมาดของพวกเขาหันหน้าตรงไปยังเมืองเยรูซาเล็มอันศักดิ์สิทธิ์ สำหรับชาวมุสลิม เมืองเยรูซาเล็มเป็นสถานที่สำคัญ ในฐานะถิ่นกำเนิดของศาสดาหลายคนของอิสลาม เช่น ดาวูด (เดวิด), สุลัยมาน (โซโลมอน), และ อีซา(เจซัส) เมืองนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของบรรดาศาสดาในอดีตของอิสลาม เมื่อครั้งที่ศาสดามุฮัมมัดได้แสดงปาฏิหาริย์ด้วยการเดินทางในยามค่ำคืนจากมักกะฮ์ไปเยรูซาเล็ม และขึ้นสู่ชั้นฟ้าในคืนนั้น (ที่รู้จักกันว่าคืนแห่งการ อิสรออฺ และมิอฺรอจ) ทำให้เมืองนี้มีความสำคัญเพิ่มขึ้นในฐานะเป็นสถานที่ที่ศาสดามุฮัมมัดได้นำศาสดาทั้งหมดก่อนหน้าท่านในการทำละหมาด เมื่อหลังจากนั้นได้ขึ้นสู่ชั้นฟ้า
อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวมุสลิม เยรูซาเล็มยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่ห่างไกลในช่วงที่ศาสดา (ซล.) มีชีวิตอยู่ และปีแรกๆ ภายหลังการเสียชีวิตของท่าน เมื่อมุสลิมได้เข้าคุมอำนาจในอิรักและซีเรียในช่วงปี 630s เยรูซาเล็มได้กลายเป็นเมืองของมุสลิม และมัสยิดอัล-อักซอในเยรูซาเล็มก็กลายมาเป็นหนึ่งในแผ่นดินสำคัญที่สุดใน อาณาจักรของมุสลิม ตลอดหน้าประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนและเสียหายจากสงครามของเมืองนี้ มัสยิดแห่งนี้ได้เป็นศูนย์กลางของการต่อสู้เพื่อเยรูซาเล็ม ด้วยการที่ชาวมุสลิม, ชาวคริสเตียน และชาวยิว ต่างก็ถือว่าแผ่นดินใต้มัสยิดหลังนี้เป็นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของแผ่นดินนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด
ตอนที่ 1 ของบทความนี้จะกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของมัสยิดก่อนการมาของศาสดามุฮัมมัดและยุคแรกเริ่มของอิสลามจนกระทั่งเกิดนักรบครูเสดขึ้นในปี 1099 ตอนที่ 2 จะกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของมัสยิดอัล-อักซอ จากช่วงสงครามครูเสดจนถึงปัจจุบัน
ก่อนและหลังการมาของศาสดามุฮัมมัด
สำหรับชาวมุสลิม อิสลามไม่ใช่ศาสนาใหม่ เมื่อศาสดามุฮัมมัดได้เริ่มการเผยแพร่ในเมืองมักกะฮ์ ในปี 600s แต่มันถูกมองว่าเป็นความต่อเนื่องและเป็นจุดสูงสุดของคำสอนที่สืบทอดกันมาของศาสดารุ่นก่อนๆ ที่เป็นที่เคารพของศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวทั้งสามศาสนา สารที่มุฮัมมัดนำมาเป็นเพียงการต่อเนื่องและการทำให้สารของอิบรอฮีม (อับราฮัม), มูซา (โมเสส), และอีซา มีความสมบูรณ์ ซึ่งสารเหล่านั้นได้ถูกบิดเบือนมาตลอดยุคสมัย ด้วยเหตุนี้ ชาวมุสลิมจึงถือว่าวิหารโซโลมอนที่ถูกสร้างขึ้นบนภูเขาวิหารของเยรูซาเล็มในสมัยโบราณเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ศาสนาของพวกเขา
ด้วยกรอบความคิดนี้เอง ทำให้เมื่อชาวมุสลิมพิชิตเมืองเยรูซาเล็มได้ในปี 637 ในสมัยของคอลีฟะฮ์อุมัร อิบนฺ คอตตอบ พวกเขาจึงพยายามฟื้นฟูเยรูซาเล็มขึ้นมาเป็นสถานที่แห่งการเคารพสักการะ วิหารโบราณถูกปรับปรุงใหม่หลายครั้ง ครั้งล่าสุดโดยเฮรอดประมาณ 20 ปีก่อนคริสตกาล อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงปี 70 ชาวโรมันได้ทำลายวิหารแห่งนี้หลังจากเกิดการจลาจลของชาวยิวขึ้นในปาเลสไตน์ ชาวยิวถูกห้ามไม่ให้เข้ามาในเมืองนี้ และศาสนายิวเกือบจะสูญสิ้นไปในเมืองเยรูซาเล็ม
บริเวณที่ตั้งวิหารยังคงเป็นที่รกร้างต่อมาอีกหลายร้อยปี ชาวโรมันใช้ที่บริเวณนั้นเป็นบ่อขยะ ดังนั้น เมื่ออุมัรเข้ามาในเมืองนี้และได้เห็นสถานที่ที่บรรพบุรุษทางศาสนา เช่นดาวูด และสุลัยมาน เคยเคารพสักการะ (และยังเป็นสถานที่ซึ่งมุฮัมมัด ได้สักการะระหว่างการอิสรออฺ และมิอฺรอจด้วย) เขาพบว่าบริเวณนั้นสกปรกโสโครกและไม่สามารถใช้เป็นมัสยิดได้ อย่างไรก็ตาม เขาตัดสินใจที่จะทำความสะอาดพื้นที่นั้นและสร้างมัสยิดอัล-อักซอขึ้นมา ตามธรรมเนียมปฏิบัติของเขา เขาทำงานร่วมกับชาวมุสลาทั่วไปในการทำความสะอาดและชำระล้างบริเวณนั้น พวกเขาได้ตั้งมัสยิดขึ้นหลังหนึ่งที่สามารถจุผู้คนได้ประมาณ 3,000 คน ทางด้านทิศใต้ของภูเขาวิหาร ปัจจุบันนี้มุสลิมรู้จักกันว่าเป็นฮะรัม อัล-ชะรีฟ หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันบริสุทธิ์ นักแสวงบุญชาวคริสต์ในสมัยนั้นกล่าวถึงมัสยิดนี้ว่าเป็นอาคารไม้ขนาดใหญ่ที่ สร้างขึ้นบนซากปรักหักพัง
สำหรับชาวมุสลิมแล้ว พวกเขาไม่ได้มองว่านี่เป็นการเหยียบย่ำบนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอื่น เนื่องจากศาสดาต่างๆ ที่ถูกกล่าวถึงในพระคัมภีร์เก่าของคัมภีร์ไบเบิลนั้น ชาวมุสลิมก็ยอมรับว่าเป็นศาสดาของพวกเขาเช่นกัน มัสยิดหลังใหม่นี้ถูกมองว่าเป็นความต่อเนื่องของสถานที่สักการะในสมัยก่อน สิ่งนี้สอดคล้องกันกับแก่นกลางของศาสนาอิสาม ที่เป็นความสมบูรณ์แบบของศาสนาที่เชื่อในพระเจ้าองค์เดียวก่อนหน้านั้น
ฮะรัม อัล-ชารีฟ
เป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้ว ที่สิ่งปลูกสร้างธรรมดาที่สร้างขึ้นโดยอุมัร ยังคงเป็นอาคารหลักบนฮะรัมนี้ อย่างไรก็ตาม ในปี 690 คอลิฟะฮ์ อับดุลมาลิก แห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ได้สร้างมัสยิดอัล-อักซอขึ้นใหม่ ที่มีขนาดใหญ่กว่า และมั่นคงกว่ามัสยิดที่อุมัรได้สร้างขึ้น แปลนพื้นฐานของมัสยิดหลังปัจจุบันเริ่มต้นขึ้นจากการก่อสร้างใหม่ครั้บนี้ เอง อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จด้านสถาปัตยกรรมที่แท้จริงของอับดุลมาลิกคือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ห่างไปทางเหนือประมาณ 200 เมตร
เหนือก้อนหินที่มุสลิมบางส่วนเชื่อว่า ศาสดามุฮัมมัดขึ้นสู่ฟากฟ้าจากตรงนั้น อับดุลมาลิกได้สร้างโดมแห่งศิลาที่สวยงามเป็นพิเศษขึ้นมา มันเป็นส่วนหนึ่งของมัสยิดอัล-อักศอ ไม่ใช่บ้านแห่งการสักการะที่แยกไปอีกหลังหนึ่ง และไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำให้มัสยิดอัล-อักซอมีความสมบูรณ์ครบถ้วน แต่มันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของมัสยิด ด้วยการใช้รูปแบบดั้งเดิมทางสถาปัตยกรรมและโมเสกที่อุมัยยะฮ์ได้เรียนรู้มา จากชาวไบแซนทีนที่ปกครองพื้นที่นั้นมาก่อนพวกเขา โดมนี้ก็ได้กลายมาเป็นหนึ่งในจุดเด่นของสถาปัตยกรรมอิสลามในยุค 600s
โดมแห่งศิลานี้ถูกสร้างขึ้นตรงจุดสูงสุดของพื้นที่ฮะรัม และมันยังเป็นหนึ่งในสิ่งปลูกสร้างที่น่าทึ่งและโดดเด่นมากที่สุดของเมืองนี้ด้วย มันมีฐานรูปแปดเหลี่ยมที่ยกโดมขึ้นสูง 20 เมตรและแต่เดิมครอบคลุมด้วยแผ่นตะกั่ว มีอักษรประดิษฐ์ตกแต่งทั้งภายในและภายนอกอาคาร โดยที่ข้อความจากรึกจากคัมภีร์กุรอานที่เก่าแก่ที่สุดประดับอยู่ภายในส่วนโดมของอาคาร เมื่อกล่าวถึงความสง่างามของอาคารนี้ นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่บางคนแย้งว่า อับดุลมาลิกตั้งใจที่จะให้อาคารหลังนี้เป็นคู่แข่งกับอาคารกะอฺบะฮ์ในมักกะฮ์ ถ้าหากเขาตั้งใจจะทำเช่นนั้นจริง นักวิชาการมุสลิมในสมัยนั้นคงจะแสดงความโกรธและบันทึกถึงเจตนารมณ์ดูหมิ่นศาสนาของเขานี้ไว้ในหนังสือที่เขียนขึ้นในสมัยนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ตาม ไม่มีบันทึกในสมัยนั้นเกี่ยวกับเรื่องที่เขามีเจตนาเช่นนั้นเลย และการกล่าวถึงความคิดนี้ครั้งแรกสุดได้ถูกเขียนขึ้น 200 ปีหลังจากนั้น โดยบางคนที่มีอคติต่อต้านราชวงศ์อุมัยยะฮ์อย่างแรงกล้า
ภายหลังการล่มสลายของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ในปี 750 เยรูซาเล็มได้ตกอยู่ในการควบคุมของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ คอลิฟะฮ์ราชวงศ์อับบาซียะฮ์องค์ใหม่ให้เมืองหลวงอยู่ในเมืองแบกแดดของอิรัก และไม่ได้ให้การเน้นหนักไปที่เยรูซาเล็มมากเท่ากับที่ราชวงศ์อุมัยยะฮ์เคยทำ ด้วยเหตุนี้ ฮะรัมแห่งนี้จึงไม่ได้รับความสนใจและไม่ได้รับเงินที่มันเคยได้ในสมัยของอุมัยยะฮ์ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะถูกคอลิฟะฮ์ละเลย แต่เยรูซาเล็มก็ยังคงเป็นสถานที่สำคัญของการแสวงบุญ และมัสยิดอัล-อักซอเองก็ยังคงเป็นศูนย์กลางของวิถีอิสลามในเมืองนี้ตั้งแต่ ยุค 600s จนกระทั่งถึงยุค 900s แม้จะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นหลายครั้งและต้องได้รับการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้งใน ช่วงนั้นก็ตาม
ความทรุดโทรมภายใต้ราชวงศ์ฟาติมียะฮ์
เยรูซาเล็มและ ฮะรัมอัล-ชารีฟ เริ่มพบกับความสับสนวุ่นวายในช่วงปลายยุค 900s อาณาจักรฟาติมียะฮ์ ซึ่งมีฐานอยู่ในอียิปต์ ได้เข้าควบคุมเยรูซาเล็มในปี 970 หลังจากเอาชนะกองทหารของอับบาซียะฮ์ได้ใกล้เมืองรอมลี ราชวงศ์ฟาติมียะฮ์เป็นมุสลิมสายอิสมาอิลีของนิกายชีอะฮ์ ซึ่งนักวิชาการมุสลิมหลายคนในประวัติศาสตร์ได้จัดว่าอยู่นอกกรอบของอิสลาม ช่วงเวลาการปกครองของราชวงศ์ฟาติมียะฮ์ได้เกิดผลกระทบที่ความเสียหายร้ายแรง ให้แก่มัสยิดอัล-อักซอ
นับตั้งแต่มุสลิมเริ่มเข้ามาปกครองเยรูซาเล็ม มัสยิดหลังนี้และฮะรัมโดยทั่วไปได้เป็นศูนย์กลางความรู้ของอิสลาม นักวิชาการได้เปิดการเรียนการสอนขึ้นในมัสยิดเป็นประจำเพื่อให้ความรู้แก่ นักศึกษาตั้งแต่เรื่องไวยากรณ์ภาษาอาหรับไปจนถึงเรื่องความก้าวหน้าด้าน นิติศาสตร์และศาสนศาสตร์ของอิสลาม ในสมัยของฟาติมียะฮ์ ความพยายามด้านการศึกษาเหล่านี้ถูกตัดออกไปโดยเจ้าเมืองจากฟาติมียะฮ์ และแทนที่ด้วยสถาบันที่เป็นทางการของชีอะฮ์ อัล-มุกอดดาซี นักภูมิศาสตร์ ได้เขียนในปี 985 ว่า ในเยรูซาเล็ม “นักกฎหมายยังคงไม่มีผู้เข้าเยี่ยม, คนเคร่งครัดศาสนาไม่มีชื่อเสียง และไม่มีใครไปโรงเรียนเพราะไม่มีผู้สอน” เขายังเขียนต่อไปถึงการขาดการศึกษาอิสลามในเมืองนี้ ทั้งที่มันมีนักวิชาการมาเยือนบ่อยๆ ในอดีต เช่น อัล-ชาฟิอี
ช่วงเวลาที่เลวร้าย ที่สุดในการปกครองของราชวงศ์ฟาติมียะฮ์ก็สมัยการครองอำนาจของอัล-ฮากิม ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 996 เขาทำการกดขี่มากกว่าผู้ปกครองฟาติมียะฮ์ก่อนหน้านี้มากนักด้วยอิสลามแบบ ดั้งเดิมของเขา เขาประกาศตัวเองเป็นพระเจ้า สั่งให้ใช้ชื่อเขาแทนพระนามของพระเจ้าในการเทศนาธรรมวันศุกร์ ให้การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของมุสลิมเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และขัดขวางมุสลิมไม่ให้ไปแสวงบุญที่มักกะฮ์ เมื่อสิ้นการปกครองของเขาในปี 1021 เมืองเยรูซาเล็มก็เกือบจะสูญเสียสถานะความเป็นศูนย์กลางการศึกษาของอิสลามไป ยิ่งไปกว่านั้น เขายังกดดขี่ชาวคริสเตียนและชาวยิวในเยรูซาเล็มอีกด้วย และทำลายโบสถ์แห่งสุสานศักดิ์สิทธิ์ (Church of the Holy Sepulchre) ซึ่งขัดกับกฎหมายอิสลามและคำสัญญาของอุมัรในปี 637 ภายหลังรัชสมัยแห่งความหายนะของอัล-ฮากิม ก็ได้มีผู้ปกครองฟาติมียะฮ์สายกลางขึ้นมาบ้าง ผู้ซึ่งให้การอนุเคราะห์กับมัสยิดและประวัติศาสตร์อิสลามมากขึ้น ในยุค 1030s หลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ มัสยิดอัล-อักซอได้รับการบูรณะซ่อมแซมโดยราชวงศ์ฟาติมียะฮ์ ตัวอาคารที่ออกมามีส่วนกลางมองมัสยิด และซุ้มโค้ง 7 ซุ้มที่ด้านหน้าเพื่อรองรับหลังคาขนาดใหญ่ รูปแบบนี้ลดลงมาจากซุ้มโค้ง 14 ซุ้มที่สร้างขึ้นแต่เดิมโดยราชวงศ์อุมัยยะฮ์ มัสยิดในปัจจุบันไม่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากการก่อสร้างในสมัยฟาติมียะฮ์มาก นัก
ในปี 1073 เยรูซาเล็มถูกพิชิตโดยเซลจุก เติร์ก ผู้ซึ่งเพิ่งจะเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามสายซุนนีจากเอเชียกลาง จากมุมมองของอิสลาม มัสยิดอัล-อักซอในขณะนั้นได้กลับไปอยู่ในมือของรัฐซุนนีที่เรืองอำนาจ ซึ่งได้นำการศึกษาศาสนาอิสลามกลับมาอีกเมืองนี้ และวิถีชีวิตที่ประเทืองปัญญาในเมืองนี้ได้เริ่มต้นเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้ง นักวิชาการเริ่มย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองนี้เพื่อร่ำเรียนและเพื่อสอนโดยมาจาก ทั่วโลกมุสลิม ที่โดดเด่นก็คือ อบูฮามิด อัล-ฆอซาลี ได้ย้ายมาในเมืองนี้ในปี 1095 เขาใช้ชีวิตอยู่ในฮะรัมแห่งนี้ ที่แนวกำแพงด้านตะวันออกของเมือง และใช้เวลาหลายปีต่อมาในการทำละหมาดและเก็บตัวเงียบอยู่ในโดดแห่งศิลาและ มัสยิดอัล-อักซอ ระหว่างเวลานี้เอง เขาได้เขียนหนังสือที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งขึ้นมาชื่อ การฟื้นฟูวิทยาการศาสนา (The Revival of the Religious Sciences) ซึ่งได้ปฏิวัติวิธีการคิดของมุสลิมเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องจิตวิญญาณ, ปรัชญา และแนวคิดแบบซูฟี
อย่างไร ก็ตาม การฟื้นฟูชีวิตทางปัญญาของมุสลิมในบริเวณมัสยิดอัล-อักซอไม่ได้อยู่ยืนยาว ลักษณะแบบอิสลามของฮะรัมแห่งนี้จะถูกลบล้างไปในไม่ช้า ในปี 1099 ด้วยการเข้ามาของนักรบครูเสด ดังที่เราจะได้กล่าวถึงต่อไปในตอนที่ 2 ของบทความนี้
—-
แปลจาก http://lostislamichistory.com/the-al-aqsa-mosque-through-the-ages-1/