หน้าแรก รายงาน

Selatan Nature วอศ. ม.อ.ปัตตานี รับรางวัลเกือบแสนจาก BRIDGESTONE ประเทศไทย

กลุ่ม Selatan Nature นักศึกษาสาขาวิชาการสอนอิสลามศึกษา วิทยาลัยอิสลามศึกษา(วอศ.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) นำทีมโดย ชัชวาล สะบูดิง และทีมได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 3 ทีมที่ผ่านการคัดเลือก U-SAVE PROJECT 2016 BY #BRIDGESTONE ประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “โครงการสร้างจิตสำนึกที่ดีและพัฒนาศักยภาพเยาวชนต่อการเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (Selatan Active Citizen)” โครงการอนุรักษ์ธรรมชาติในแนวทางของอิสลาม โดยได้รับทุนสนับสนุนในการจัดกิจกรรมจำนวน 99,830 บาท ด้วยปรัชญาการทำงาน “ฉันจะเดินทางบนหน้าแผ่นดินด้วยความถ่อมตน”

Selatan Nature หรือ กลุ่มเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติชายแดนใต้ เป็นเยาวชนชายจากรั้วสีบลู ม.อ.ปัตตานี และ ม.ฟาฎอนี ที่รวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อให้ศาสนาและการอนุรักษ์ธรรมชาติเคียงคู่ไปด้วยกัน โดยมี ชัชวาล สะบูดิง เป็นแกนหลัก

“ฉันจะเดินทางบนหน้าแผ่นดินด้วยความถ่อมตน” คือปรัชญาหลักของ Selatan Nature

14424925_860599747410400_4376105167713370575_o
พวกเขาให้นิยาม “อิสลาม” ว่า คือวิถีชีวิตและจิตวิญญาณที่รักและหวงแหน เปรียบเป็นงานสถาปัตยกรรมชิ้นหนึ่ง ในฐานะนักออกแบบสถาปนิก คงนิยามเปรียบว่า “เป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีโครงสร้างแข็งแรง ยั่งยืน ไม่มีที่สิ้นสุด มีฟังค์ชั่นที่ชัดเจน ใช้งานได้จริง มีที่ว่างสัดส่วนเสมอภาคแก่ทุกผู้ใช้งานเท่าเทียมกัน เรียบง่ายและสะอาดสว่างไสว กลมกลืนสู่ธรรมชาติทุกมิติ สะท้อนสัจจะแห่งวัสดุ ร่วมสมัย มีอัตลักษณ์ปรากฏลายเซ็นในงานออกแบบ นำพาความสงบปลอดภัยสำหรับผู้ใช้สืบเนื่องนิรันดร์ นำไปสู่การชื่นชม เกิดความรัก สันติและรำลึกขอบคุณแก่ผู้สร้างมัน”

“จากค่าย “เดินติดดีน” จัดที่ เบญจเมธาเซรามิค อ.ปาลัส จ.ปัตตานี ที่ให้เรียนรู้ ดิน : อยู่อย่างดิน กลับสู่ดิน : ศาสนาสอนให้เราอยู่อย่างดิน อย่าลืมดีน : อย่าทะนง ศาสนาสอนให้อยู่อย่างปลอดภัย เตือนกันไว้ ก่อนสิ้นใจ รักษาไว้รักษาดินให้คงอยู่ วิถีประณีต เดินทางบนหน้าแผ่นดินอย่างถ่อมตน และก้มลงไตร่ตรองมองดิน เห็นคุณค่าของการเดินติดดินของท่านนบี กับกิจกรรม”ชีพจรเท้าเปล่า” ทั้งพี่และน้อง ได้แรงบันดาลใจ ความถ่อมตนและอบอุ่นที่สุด”

ทางกลุ่มมีกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมต้นกล้าแห่งศรัทธา ทำให้ได้เรียนรู้และรู้จักธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นผ่านตัวกิจกรรม Nature Game และกิจกรรมสันทนาการที่เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ปลูกต้นไม้ไม่ใช่แค่เป็นเกราะกำบังป้องลมทะเล ป้องลมพายุ เป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งที่อาศัยของนานาสัตว์ หรือลดโลกร้อน แต่การปลูกต้นไม้ = ความดี คือ คุณธรรมจริยธรรม

14435291_860764170727291_7928047921170913929_o
กิจกรรมรักษ์(ภู)เขา เป็นเกมธรรมชาติศึกษา ได้เรียนรู้ภูเขาประเภทต่างๆ ว่าภูเขาประเภทใดที่สามารถยังประโยชน์มากที่สุด กิจกรรมของมนุษย์หรือความขยันหรือความต้องการของมนุษย์ทำให้ภูเขาน้อยใหญ่ถูกทำลายจนภูเขาหมดหน้าที่ ภูเขาที่ได้ผ่านหน้าฝนด้วยการรดน้ำ ผ่านพายุหรือลมแรงด้วยพัดลม ภูเขาประเภทใดที่ทำให้เกิดดินโคลนถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เมื่อภูเขาถูกทำลายหรือไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้ผลที่ตามมาไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติอย่างรุนแรงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เป็นต้น

14425343_860764860727222_5390744096159814414_o
กิจกรรมดีๆ ต้อนรับรอมฎอนที่ผ่านมา เป็น Workshop My Ramadan รอมฎอนที่ฉันรัก “รอมฎอนปีนี้ฉันจะพอเพียง (กินอย่างประหยัดไม่ฟุ่มเฟือย)” กับกลุ่มนักเรียนม.ปลายใน 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนศรีฟารีดาบารู โรงเรียนอาลาวียะห์ และโรงเรียนอุดมศาสตร์วิทยา ใน จ.ยะลา โดยครั้งที่ 1 จัดในโรงเรียนในเขต จ.ปัตตานี เน้นให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่มีการบรรยาย เป็นการนั่งดูวีดีโอสรุปที่เป็นแอนิเมชั่น สามารถเข้าใจง่าย และเข้าถึงบริบทของการใช้ชีวิตในเดือนรอมฎอน ร่วมกันรณรงค์ให้เดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งความพอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือยกับการจ่ายที่ไม่จำเป็น และส่งเสริมให้ผู้คนร่วมกันบริจาคเพื่อเพิ่มพูนพลบุญ

นอกจากนี้ ทางกลุ่ม Selatan Nature ได้ร่วมนำเสนอ ผลงาน “ค่ายแกนนำเรียนรู้สันติวิถี เพื่อพัฒนาเยาวชนอนุรักษ์ชายแดนใต้” ในงานสัมมนาเครือข่ายเยาวชนชายแดนใต้ ภายใต้โครงการ เสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายเยาวชนผู้นำเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพปาตานีสนับสนุนโดย มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาและธนาคารโลก ที่ได้นำเยาวชนไปเรียนรู้ชุมชนและธรรมชาติเมื่อต้นปี 2558 ณ เหมืองลาบู ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา
สำหรับโครงการล่าสุดของกลุ่มคือ ค่ายต้นกล้าแห่งศรัทธา เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ณ ป่าชุมชน บ้านบางปลาหมอ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี ในคอนเซ็ปต์ ปลูกต้นไม้ = ความดี เริ่มตั้งแต่ให้หาพันธุ์มาเพาะเอง แล้วมาปลูกด้วยกัน เพื่อที่จะได้รู้จักและรู้สึกรักต้นไม้ รวมทั้งให้ปลูกเพิ่ม สร้างจิตสำนึกนี้ให้ต่อไปเรื่อยๆ

ชัชวาลบอกว่า แนวทางในการทำงานของกลุ่มยึดหลัก KNPS คือ K = Knowledge พัฒนาความรู้พื้นฐานจากอัลกุรอ่านและซุนนะฮฺ และการพัฒนาองค์ความรู้จากความรู้ทั่วไปโดยผ่านกระบวนการอิสลามานุวัตร P=People พัฒนาบุคลากรให้มีอุดมการณ์การทานโดยยึดหลักแห่งความถ่อมตน และพัฒนาทักษะการทำงานของทีมงานสู่ความเป็นมืออาชีพ N=Network ผสานความร่วมมือจากองค์กรภายนอก มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับภาคีต่างๆ S=Spred พัฒนางานกิจกรรมการเผยแผ่องค์ความรู้ผ่านวิธีการต่างๆ และผลิตภัณฑ์

“โครงการที่ทำอยู่เน้นการปลูกจิตสำนึกรักธรรมชาติให้กับเยาวชน โดยเฉพาะเยาวชนชายทามีแรงกำลังไปทำอย่างอื่นอีกมากมายในอนาคต ถ้าไม่เริ่มปลูกอาจช้าไป และกระตุ้นให้เป็นบุคคลแห่งการเปลี่ยนแปลงอนาคตผ่านกิจกรรม Game Changer เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยทางให้เสนอโครงการไปในงบประมาณไม่เกิน 1 แสนบาท เริ่มดำเนินโครงการในเดือนพ.ย.นี้ ใน 6 โรงเรียนนำร่องกับนักเรียนชั้นมัธยมปลาย

หลักสูตร 6 ชั่วโมง สร้างแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ธรรมชาติโยใช้เกมธรรมชาติศึกษา มาช่วยขับเคลื่อน สร้างแรงบันดาลใจให้รู้สึกเปลี่ยนแปลงสังคม โดยให้โจทย์ว่า หากมีเงินจำนวน 5 พันบาทจะทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมของคุณ แล้วคัดเลือกความคิดเห็นที่สมควรโรงเรียนละ 5 คน รวม 30 คนมาเข้าค่ายปลูกจิตสำนึก และให้เงินไปทำกิจกรรมที่เสนอมาจริงเพื่อต่อยอดให้สำเร็จ”

ชัชวาลบอกว่าช่วงตอนไปนำเสนอโครงการ ซึ่งน้องๆ ในทีมได้ไปนำเสนอ ทางบริดสโตนถามว่าจะมีความปลอดภัยในการทำกิจกรรมในพื้นที่อย่างไร เมื่ออธิบายงานอนุรักษ์ธรรมชาติและศาสนาต้องควบคู่กัน ซึ่งในแง่มุมอิสลามยังไม่มีโครงการใดที่จะเข้าไปในงานอนุรักษ์ บริดสโตนยอมรับในเหตุผลของการใช้ศาสนาเพื่อนการนุรักษ์

“บางทีชาวบ้านคิดว่าหากไม่ใช่เรื่องศาสนาก็ไม่ใช่เรื่องของเขา แต่ถ้าเป็นเรื่องเดียวกันก็จะทำ อิสลามสอนว่า ในฐานะที่เราเป็นตัวแทนของพระเจ้าในหน้าแผ่นดินต้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่อัลลอฮฺทรงสร้างไว้และผดุงความยุติธรรมเป็นความดี เราต้องทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ค่ายอนุรักษ์ถูกมองว่าเป็นค่ายที่ต้องมีหญิงชายปะปนในการทำกิจกรรม มีสันทนาการ ดนตรี แต่เมื่อทำในแนวทางอิสลาม ต้องเป็นค่ายจริยธรรมที่กลมกลืนกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ มองต้นไม้เป็นปรัชญาอิสลาม”

อ.ซัมซู สาอุ อาจารย์ที่ปรึกษาของกลุ่มฯ กล่าวว่า นักศึกษากลุ่มนี้เป็นนักกิจกรรมและมีผลการเรียนค่อนข้างดีเยี่ยม
“ในฐานะที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้เสนอแนะแนวคิด Islam for All คือ กิจกรรมควรจะให้ทุกคนสามารถที่จะรับประโยชน์ได้ โดยใช้วิถีอิสลาม เช่น ธนาคารอิสลาม เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรม คือเป็นธนาคารที่ทุกศาสนาเข้ามาใช้บริการได้ แต่ในขณะเดียวกัน วิธีการและการดำเนินธุรกิจเป็นในลักษณะที่อยู่ในกรอบของอิสลามที่เน้นธุรกิจที่ถูกศีลธรรม ซึ่งเป็นหลักการที่จะช่วยสังคมได้อย่างยั่งยืน การทำงานเราเน้นการนำหลัก ‘วาสาฏิยะห์’ คือ ดุลยภาพ ตามนโยบายของ วอศ.”

“กลุ่มนี้จะเป็นนักกิจกรรม เป็นสมาชิกสโมสรนักศึกษา เป็นนายกองค์การของวิทยาลัยและของมหาวิทยาลัย เป็นตังตั้งตัวตีในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งของวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย สิ่งที่เห็นคือ กลุ่มจะกล้าคิดสิ่งใหม่ ๆ คิดแล้วลงมือทำ มุ่งมั่น และทำงานเป็นทีม เป็นเครือข่าย มักจะสร้างและปั้นสมาชิกใหม่เพื่อขยายกิจกรรม ซึ่งทำให้กลุ่มสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของการเรียน นักศึกษาในกลุ่มมีผลการเรียนที่ค่อนข้างดีเยี่ยม รับผิดชอบงาน แบ่งเวลาการเรียนและการทำกิจกรรมได้เป็นอย่างดี” อ.ซัมซู สาอุ กล่าว

1 2 3 4 5