เนื่องด้วยการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 มุสลิมซึ่งเป็นพสกนิกรชาวไทยอาลัยและรู้สึกดังเช่นพสกนิกรส่วนมากของประเทศ ดังเช่น สุกรี สะแปอิง “เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์วิทยุสื่อสาร ที่ทำการปกครองจังหวัดปัตตานี” ชาวปัตตานี ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อครอบครัวและตัวเองอย่างมิมีวันลืม
“ด้วย สิ่งที่พระองค์ได้ทรงสร้างทิ้งไว้ให้แก่ประเทศชาติและราษฎรของพระองค์อย่าง มากมาย หากนำเรื่องราวของพระองค์มานั่งพูด 3 วัน 3 คืน ผมคิดว่าก็คงพูดไม่หมด ซึ่งเรื่องนี้ “คนไทยทราบดี” ครอบครัวของผม มีความผูกพันกับการเป็นข้าราชการรับใช้ประชาชน พ่อของผมรับราชการตำรวจอยู่ สภ.บาเจาะ จ.นราธิวาส (เสียชีวิต ปี 2544) เมื่อสมัยท่านยังมีชีวิตได้มีโอกาสรับเสด็จพระองค์ท่านและพระบรมวงศานุวงศ์ มาตลอด ผมมีภาพติดตาตอนตามพ่อไปอารักขาริมทางอยู่บ้าง เมื่อโตมาก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่านและพระบรมวงศานุวงศ์มาโดย ตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสมัยที่เรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวรคามินอนุสรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนในจังหวัดปัตตานีที่ขึ้นชื่อมากในสมัยนั้น สมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จมาที่โรงเรียนทุกๆ 2 ปี เด็ก วอ. รุ่นๆ ผมน่าจะจำได้ ผมเคยมีโอกาสบรรเลงดนตรีอังกะลุง ถวายต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระเทพฯ เมื่อศึกษาจบปริญญาตรี ที่ม.ราชภัฏยะลาก็ได้รับพระราชทานปริญญาจากพระหัตถ์ของเจ้าฟ้าชายฯ (รัชกาลที่ 10)
หลังจากบิดาผมถูกโจรลอบยิง มารดาผมซึ่งเป็นแม่บ้านมาตลอด ไม่เคยทำงานนอกบ้าน ต้องออกมาทำงานหาเงินเอง โดยที่ลูกๆ ทั้ง 5 คน ยังเรียนหนังสือทุกคน ตอนนั้นผมเพิ่งจบ ม.6 จากโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล (ช.ป.น.) ยังไม่รับใบ รบ. เลยด้วยซ้ำ ผมไม่อยากเรียนต่อ อยากแก้แค้นคนที่ทำพ่อ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเรียนต่อ เพราะพ่อเคยพูดกับผมเสมอว่า “ความฝันของพ่อคือ ลูกๆ ทุกคนต้องเรียนจบปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ” ตอนนั้นในตระกูลผมยังไม่เคยมีใครเรียนจบปริญญา เพราะตระกูลผมเป็นตระกูลค้าขาย แม่ออกมาขายของตามตลาดนัด ผมตัดสินใจไปศึกษาต่อในระดับอนุปริญญา ที่ ร.ร.หาดใหญ่บริหารธุรกิจนานาชาติ (H.I.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ผมจะกลับบ้านทุกเสาร์-อาทิตย์ มาช่วยแม่ขับรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง (โชเลย์) ไปตลาดนัด ตอนนั้นเห็นแม่ทำงาน ผมแอบร้องไห้ตลอด อยากเรียนจบเร็วๆ แม่จะได้ไม่ต้องทำงานเหนื่อยแบบนี้ ที่บ้านจะส่งเงินมาให้ใช้สัปดาห์ละครั้ง บางสัปดาห์เงินหมดเกลี้ยง ผมไม่เคยโทรไปขอเพิ่ม ไม่ยืมเงินเพื่อน (ถ้าไม่เข้าตาจนจริงๆ) อาหารที่ประทังชีวิตผมได้ดีที่สุดตอนนั้น คือ ข้าวเหนียว 1 ห่อ กับหนังไก่ทอด 1 ห่อ รวมกัน 10 บาท มีครั้งหนึ่งผมไม่มีเงินเลย ติดสุดสัปดาห์ ศุกร์ – อาทิตย์ ผมกินแต่น้ำก๊อกประปา จนถึงวันจันทร์ ที่บ้านก็โอนเงินมาให้ปกติ ผมเล่าเรื่องนี้ให้บางคนฟัง บางคนไม่เชื่อว่ามนุษย์จะทำได้ แต่ถ้าคนที่เคยถือศีลอด สามารถทำได้ครับ มนุษย์ขาดอาหารได้หลายวัน แต่จะขาดน้ำได้ไม่เกิน 3 วัน”
เรื่องราวความรันทดในครอบครัวที่ต้องอดทนและต่อสู้ด้วยความรับผิดชอบของแม่เพียงคนเดียว ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนเมื่อน้องสาวคนสุดท้องได้เขียนจดหมายถึงพระองค์ท่าน
“หลังจากที่แม่ทำงานหนักในตอนนั้น น้องสาวผมคนเล็ก ตอนนั้นเรียนอยู่ระดับชั้นประถมที่โรงเรียนอามานะศักดิ์ ด้วยความเป็นเด็กของน้อง สงสารแม่ เห็นแม่เหนื่อย ไม่รู้จะช่วยยังไง น้องสาวเลยเขียนจดหมายถึงในหลวงภูมิพล บอกเล่าเรื่องราวความลำบากของแม่ หลังจากที่พ่อเสียชีวิต โดยระบุผู้รับหลังจดหมาย “ถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” แค่นี้เองครับ แล้วไปหยอดตู้ไปรษณีย์ โดยที่ไม่มีใครรู้เรื่องนี้เลย…
จนมาวันหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่จากศาลากลางจังหวัดปัตตานี มาพบแม่ที่บ้าน (มาตามที่อยู่ของจดหมาย) บอกว่าให้ไปพบนิติกรจังหวัดที่ศาลากลาง และให้นำตัวลูกสาวคนเล็ก (แจ้งชื่อน้องที่เขียนจดหมาย) ไปพบด้วย แม่จึงโทรศัพท์หาผม ชวนผมไปเป็นเพื่อนด้วย พอไปถึงศาลากลาง เจ้าหน้าที่หยิบจดหมายออกมา ผมกับแม่ก็งงว่าคือจดหมายอะไร จากนั้นเจ้าหน้าที่หันไปถามน้องสาวผมว่า “นี่ใช่จดหมายที่หนูเขียนถึงในหลวงไหม” น้องสาวผมผงกหัว แล้วตอบ “ค่ะ” เจ้าหน้าที่ตอบว่า “ในหลวงทรงทราบ และทางสำนักราชเลขาได้แจ้งเรื่องนี้กลับมายังจังหวัด” แม่ผมหันไปมองหน้าน้องสาว แล้วร้องไห้ตรงนั้นทันที หลังจากนั้นผมถามแม่ แม่บอกว่า ได้รับเงินจำนวนหนึ่งจาก พมจ. และ เหล่ากาชาด หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ของ พมจ. มาติดต่ออีกแล้วก็เงียบไป”
สุกรีบอกว่า พระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับส่วนตัวและไม่อาจลืมได้เลย ในวันที่ชีวิตเขาถูกบททดสอบที่ยากลำบากที่สุด หากได้รับโอกาสจากในหลวงภูมิพลอีกครั้ง
“พระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับส่วนตัวไม่อาจลืมได้เลย ไม่คิดไม่ฝันเลยว่าจะมีโอกาสมาทำงานรับใช้ประเทศชาติเหมือนพ่อของผม ถึงผมจะไม่ได้รับราชการเป็นตำรวจเหมือนพ่อ แต่เครื่องแบบของผม เป็นเครื่องแบบพระราชทานจากในหลวงภูมิพล ในเรื่องอุดมการณ์ในการทำงาน ถึงผมจะทำงานคนละสายอาชีพกับพ่อ แต่ผมมั่นใจว่าผมมีอุดมการณ์ไม่น้อยไปกว่าพ่อแน่นอน”
สุกรีบอกว่า มีบางคนบอกว่า คุณเป็นมุสลิม ทำไมต้องรักกษัตริย์ที่ไม่ใช่มุสลิมมากมายขนาดนี้ แล้วคุณรักกษัตริย์มุสลิมไหม เขาตอบว่า
“ประเด็นการที่ผมรักและอาลัยต่อการจากไปของท่าน ไม่เกี่ยวว่าผมนับถือศาสนาอะไร ไม่เกี่ยวว่าท่านนับถือศาสนาอะไร ผมเคารพรักท่านในฐานะที่ท่านเป็นกษัตริย์ที่ทำคุณประโยชน์ให้บ้านเมืองและราษฎรมากมาย ท่านรักราษฎรทุกคน ท่านช่วยราษฎรทุกคนที่เดือดร้อนที่เข้าหาท่าน แม้แต่นักโทษในเรือนจำท่านก็พระราชทานอภัยโทษให้โดยไม่แบ่งแยก ถ้าไปจำคุกในต่างประเทศจะได้โอกาสได้สิทธิแบบนี้ไหม”
“ในหลวงท่านไม่เคยแบ่งแยกราษฎรว่าใครนับถือศาสนาอะไร ชาติพันธุ์อะไร ท่านช่วยหมดทุกคน เพราะทุกคนคือราษฎรของท่าน ในส่วนความศรัทธาของท่าน อันนี้คนละเรื่องกันต้องแยกให้ออก ผมเกิดมาในแผ่นดินนี้ เกิดมาก็มีแต่ รัชกาลที่ 9 ที่ทำอะไรให้ตั้งมากมาย จะให้ผมไปรักกษัตริย์ประเทศอื่น ให้ผมเอาความรักความผูกพันตรงไหนไปรักเขา ในเมื่อเขาไม่เคยทำอะไรให้ผมเลย มองแบบในฐานะมนุษย์ด้วยกัน อย่าเอาเรื่องความเชื่อเข้ามาเป็นข้ออ้าง เพราะเวลาในหลวงช่วยราษฎร ท่านก็ไม่ได้มองเรื่องใครนับถืออะไร ตอนผมเดือดร้อน ไม่มีกษัตริย์องค์ไหนมายื่นมือช่วยเหลือ ทุนต่าง ๆ สวัสดิการต่าง ๆ ตอนน้ำท่วมก็มีแค่ถุงพระราชทานจากในหลวงเท่านั้น ไม่มีจากกษัตริย์องค์ไหนเช่นกัน แล้วจะให้ผมไปรักกษัตริย์ประเทศอื่นได้อย่างไร”
“ในหลวงให้ความยุติธรรมกับทุกศาสนา ให้ทำตามศรัทธาและความเชื่อ ประกอบศาสนกิจได้เต็มที่ ตราบใดที่ไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติบ้านเมือง จะสร้างมัสยิดที่ไหนก็ได้ท่านไม่เคยว่าไม่เคยห้าม จะละหมาดกี่เวลาท่านก็ไม่ว่า จะถือศีลอดท่านก็ไม่ห้าม จะจัดงานเมาลิดท่านก็สนับสนุน จะไปทำฮัจญ์ท่านก็ให้รัฐบาลอำนวยความสะดวกให้ จะออกดะวะห์ทั่วทั้ง 77 จังหวัดของประเทศ ท่านก็ไม่ได้ห้ามเลย ในบางประเทศที่เป็นประเทศมุสลิมเองแท้ๆ ยังไม่ได้สิทธิมากมายขนาดนี้เลย แต่บางคนไม่รู้อะไรเลย อยู่แค่ในรั้ว ฟังคนไม่กี่คนพูดแล้วก็เชื่ออะไรเป็นตุเป็นตะ ชอบฟังข่าวลือ ตัดสินคนอื่นจากข่าวลือ ติดอยู่กับวังวนในอดีต ถูกปลูกฝังให้มีแต่ความเกลียดชัง ความอคติ แยกแยะไม่ได้กับเรื่องในปัจจุบัน มองปัญหาแบบยกเข่งและเหมารวม”
เขาบอกว่า ความคิดแบบนี้ไม่เกี่ยวกับการทำงานในหน่วยงานราชการ เพราะศาสนาอิสลามมีเหตุและผล แต่ที่ไม่มีเหตุและผลคือตัวศาสนิก ถ้ามีความยุติธรรม ดำเนินตามคำสอนศาสนา โดยปราศจากเรื่องการเมือง ประวัติศาสตร์ ก็ไม่มีปัญหา
“เรามีแบบอย่างจากท่านนบีที่ปฏิบัติต่อผู้ไม่ใช่มุสลิมก็มีให้เห็น บางคนมีความเชื่อที่ว่า มุสลิมสามารถเอาเปรียบคนต่างศาสนิกได้ ถือว่าไม่เป็นไร ฆ่าคนต่างศาสนิกได้ ถือว่าไม่บาป คำสอนแบบนี้เอามาจากไหน ศาสนาอิสลามไม่ได้สอนแบบนี้ ศาสนาอิสลามสอนให้มีความยุติธรรม ความเมตตา การให้อภัย ความสามัคคี การให้ความช่วยเหลือต่อเพื่อนมนุษย์ เพราะมนุษย์ทุกคนก็มาจากต้นกำเนิดเดียวกัน เป็นลูกหลานนบีอาดัมกันทั้งนั้น คำสอนและความเชื่อที่ให้จงเกลียดจงชังคนต่างศาสนา คิดว่ามันยุติธรรมไหม เขาเลือกไม่ได้ว่าจะเกิดมาเป็นคนต่างศาสนา แล้วใครเลือกได้มั้ยว่าจะเกิดมาเป็นมุสลิม ทั้งเราและเขาไม่มีใครเลือกได้ อัลลอฮฺทรงเป็นผู้เลือก อัลลอฮฺเป็นผู้กำหนด ทุกอย่างคือบททดสอบ ถ้าอัลลอฮฺกำหนดให้เกิดมาเป็นคนต่างศาสนา แล้วมุสลิมบอกว่ามีความชอบธรรมที่จะเอาเปรียบคได้ และฆ่าได้โดยตัวเขาไม่บาป จะรู้สึกอย่างไร จะมองศาสนาอิสลามอย่างไร”
สำหรับคนอีกประเภทที่ไม่ภูมิใจในความเป็นราษฎรไทย ประเภทปากว่าตาขยิบ คนแบบนี้นิสัยไม่น่ารัก นิสัยไม่ดี ถ้าเอามาเป็นเพื่อนสนิท ถือว่าคบไม่ได้ เพราะมีจิตใจคด บูดเบี้ยว ต่อหน้าอย่าง ลับหลังอย่าง ถ้าเป็นผมแล้วมีความรู้สึกแบบคนประเภทนี้ ผมไม่ถือสัญชาติไทยแล้ว ผมเอาบัตรประชาชนของผมไปคืนที่ว่าการอำเภอที่ออกบัตรให้ผมและไปขอสัญชาติประเทศที่ผมพอใจจะเป็นประชากรของเขา อยากจะถามว่า เมื่อด่าสัญชาติไทย แต่ถือบัตรประชาชนไทย ถือพาสปอร์ตไทย แล้วไม่ละอายใจตัวเองเลยหรือ เข้าสุภาษิตที่ว่า “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง ” แต่ถ้าคนที่ด่าแล้วถือสัญชาติอื่นไปแล้ว อันนี้เต็มที่ไปเลย”
สุกรีกล่าวถึงสิ่งที่พระองค์ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาของพสกนิกรชาวไทยว่า ” ประเทศไทยได้ถือเป็นนโยบายเสมอมาในการให้ประชาชนพลเมืองมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ชาวไทยทุกคนมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการเลือกนับถือศาสนาใด ๆ ตลอดทั้งการปฏิบัติ บูชา ตามความเชื่อของตน โดยเหตุนี้ผู้นับถือศาสนาต่าง ๆ กันในประเทศไทย จึงมีชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก”
(พระราชดำรัสในโอกาสที่เอกอัครราชทูตแห่งวาติกัน เข้าเฝ้าฯ ถวายพระราชสาสน์ตราตั้ง
ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท 16 ตุลาคม 2512)
*****************************************************************
ท่านอาจารย์วันมุฮัมมัดนอร์ มะทา สมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา เมื่อครั้งเหตุการณ์ที่ได้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์ท่านทรงตรัสกับท่านวันนอร์ อย่างนี้ครับ
“อะไรที่ทำได้ก็ทำ อะไรที่ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ”
หมายความว่าพระองค์ทรงทราบว่า มุสลิมนั้นกราบผู้ใดไม่ได้เลย จะทำให้ตกศาสนา(มุรตัด) จึงทรงตรัสเพื่อให้ท่านวันนอร์ ไม่ต้องเกร็ง ทำตามหลักศรัทธาที่ตัวเองยึดถือ คือสิ่งที่ผมบอกว่าพระองค์เข้าใจมุสลิมมากที่สุด แล้วมีเหตุผลอะไรที่ผมไม่รัก “ในหลวง” “