สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้ชายทุกวัยจำนวนมาก งานวิจัย “การประเมินสถานการณ์ของผู้ชายและเยาวชนชายในพื้นที่เปราะบางชายแดนใต้ของประเทศไทย” จากสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่รวบรวมหลากหลายปัญหาของผู้ชายและเยาวชนชายที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี 2547-2557 พร้อมอย่างเป็นระบบ อันจะเป็นการลดเงื่อนไขความขัดแย้งและความรุนแรงที่สามารถนำสู่การสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนในพื้นที่
งานนี้นำโดย กองทุนเสริมสร้างสันติภาพ โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ (ช .ช .ต.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โดยการสนับสนุนของธนาคารโลก สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่(ม.อ.หาดใหญ่) และสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายวัฒนธรรมภาคใต้ จัดงานนำเสนองานวิจัยและเสวนาวิชาการเรื่อง “การประเมินสถานการณ์ของผู้ชายและเยาวชนชายในพื้นที่เปราะบางชายแดนใต้ของประเทศไทย ” เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 ณ ตึกอธิการบดี ม.อ. หาดใหญ่ ในการประชุมวิชาการระดับชาติ: การวิจัยทางสังคมศาสตร์กับการสร้างสันติภาพ เนื่องในวันสันติภาพสากล โดยมีผู้นำเสนอผลงานวิจัยคือ ผศ. ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี ผู้ร่วมอภิปราย อาทิ นายกิตติ สุระกำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศอ.บต. ผศ.ดร.เมตตา กูนิง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ. ปัตตานี นางสาวซาร่า บินเยาะ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและสนับสนุนทางวิชาการที่ 12 สงขลา(สสว.12) นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจะนะ นายอับดุลรอซะ ฆาเด ผู้ชายที่รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ นำอภิปรายโดย ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 70 คน
งานวิจัยชิ้นนี้ ได้ทำการศึกษาโดยทีมงาน ผศ.ดร.ศรีสมภพและคณะสหวิชาชีพ ได้รับการสนันสนุนงานวิจัยภายใต้กองทุน Umbrella Facilities for Gender Equality – UFGE และกองทุน Korean Trust Fund – KTF และกระทรวงการคลัง กลุ่มเป้าหมายในการทำวิจัยมาจากผู้รับผลกระทบ 24 กลุ่ม จำนวน 118 คน สัมภาษณ์เจาะลึก 17 คน หน่วยบริการและสนับสนุนทั้งรัฐ เอกชน 21 หน่วย/องค์กร จำนวน 34 คน แบ่งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ชายและเยาวชนชายที่รับผลกระทบใน จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส เป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ถูกจับดำเนินคดีความมั่นคง และผู้รับผลกระทบทางอ้อม โดยแยกเป็น 4 กลุ่มคือ ผู้ชายที่ถูกจับกุมดำเนินคดีความมั่นคง ผู้ชายและเยาวชนชายที่อยู่ในการเฝ้าระวังของรัฐ เยาวชนชายที่สูญเสียบุคคลในครอบครัวและเยาวชนที่ว่างงาน
ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวในการนำเสนอผลการวิจัยว่า จากข้อมูลของศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 สถานการณ์ความไม่สงบส่งผลให้ผู้ชายได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิต ประมาณ 63 % ผู้หญิง 37% ผู้ชายที่ถูกจับกุมดำเนินคดีความมั่นคงตั้งแต่ปี 2547- กันยายน 2557 มีจำนวน 4,082 คน ที่ยังหลบหนีหมายจับ 1,023 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 61 ได้รับการประกันตัวและร้อยละ 39 ถูกคุมขังระหว่างสู้คดี ผลกระทบหลักของคนกลุ่มนี้คือ เรื่องความปลอดภัยในชีวิต การสูญเสียสถานภาพและเกิดความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติรรม
“ผู้ชายและเยาวชนชายที่อยู่ในการเฝ้าระวังของรัฐ ผู้ที่ถูกออกหมาย พรก.ฉุกเฉินฯ ทั้งสิ้น 5,469 คน ยังคงหลบหนีหมาย 891 คน ซึ่งคนเหล่านี้จะรู้สึกขาดอิสระในการดำเนินชีวิตและต้องอยู่ในความหวาดระแวงตลอดเวลา เยาวชนชายที่สูญเสียบุคคลในครอบครัวจากสถานการณ์ความไม่สงบ จำแนกตามการช่วยเหลือของรัฐได้เป็น 2 กลุ่มคือ ครอบครัวที่รัฐให้การช่วยเหลือเยียวยา และครอบครัวที่รัฐไม่ได้ให้การช่วยเหลือเยียวยา อันเนื่องมาจากกรณีที่รัฐเชื่อว่าเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยเยาวชนเหล่านี้จะมีผลกระทบด้านจิตใจเป็นหลัก เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจของครอบครัวและส่งผลต่อการศึกษา
นอกจากนี้พบว่า ภาวะการว่างงานของเยาวชนชายในสามจังหวัดชายแดนใต้ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นในประเทศ ซึ่งมีปัจจัยสำคัญคือ ระดับการศึกษาของเยาวชนชายที่ค่อนข้างต่ำ และขาดแหล่งงานในพื้นที่รองรับ รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ ขาดทักษะฝีมือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผู้ประกอบการไม่เชื่อมั่นต่อแรงงานเยาวชนในพื้นที่ โอกาสการรับรู้และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในเรื่องการพัฒนาศักยภาพและแหล่งงานมีน้อย”
ผลจากการศึกษาและการเสวนาในครั้งนี้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ คือ รัฐต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบและกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายและมีเป้าหมายไปสู่ยุติธรรมสมานฉันท์ สร้างทัศนคติเชิงบวกระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพงานเยียวยาโดยใช้แนวทางการมีส่วนร่วม และให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความรู้สึกและศักดิ์ศรีของผู้ได้รับผลกระทบและฟื้นคืนความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ โดยสนับสนุนให้กลไกทางสังคมที่มีอยู่ในพื้นที่แสดงบทบาทอันได้แก่ ชุมชน สถาบันทางศาสนา ภาคประชาสังคม ตลอดจนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบด้วยกันเอง
รวมทั้งควรกำหนดให้ผู้ชาย เยาวชนชายเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา เสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะชีวิต ส่งเสริมการรวมตัวเป็นเครือข่ายของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ฟื้นฟูและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อสร้างพื้นที่ความไว้วางใจและมีบทบาทในการดูแลช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ สร้างบรรยากาศทางสังคมของการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม กระบวนการสื่อสารที่มีความสมดุล มีข่าวสารด้านบวกเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเสริมสร้างสันติภาพ ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดผลอย่างจริงจัง
นายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารงานยุติธรรม ศอ.บต. กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐได้ผลักดันมาตรการแก้ไขปัญหานี้หลายอย่างเช่น ด้านประสิทธิภาพคดีที่กำหนดให้กระบวนการยุติธรรมจากเดิมที่ใช้เวลาเป็นปีหรือหลายปีเหลือเพียง 6-7 เดือนหรือช้าสุดคือ 1 ปี 2 เดือน การใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่หลากหลาย มีการปรับกระบวนการทำงานของอัยการที่จากเดิมมีกรณีส่งฟ้องแล้วศาลยกฟ้องถึง 97% มาเป็นการคัดกรองสำนวนอย่างละเอียดก่อนที่จะส่งฟ้องหรือการปลดหมายหรือถอนหมาย พรก. รวมทั้งมีการสื่อสารทำความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับทหารและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงที่มาปฏิบัติงานในพื้นที่กว่า 8,000 คน
ด้านตัวแทนชายที่ได้รับผลกระทบที่ต้องใช้ชีวิตอย่างขาดอิสรภาพมาเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน กล่าวถึงการใช้ชีวิตหลังจากออกจากเรือนจำว่า ต้องอยู่ในความหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในการเดินทางที่ต้องผ่านด่านตรวจที่มักจะถูกตรวจค้นเป็นประจำ
“เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมักใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม ซึ่งกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบมีความเปราะบางอยู่แล้วยิ่งทำให้สร้างผลกระทบทางจิตใจมากขึ้น จากโครงการพาคนกลับบ้านว่า ในช่วงปี 2547-2551 มีการตรวจค้นจับกุมแบบเหวี่ยงแหจำนวนมาก ทำให้มีผู้ชายในพื้นที่ไม่สามารถอยู่บ้านตนเองได้ ต้องหลบซ่อนและยังมีหมายติดตัว โดยในทางคดีศาลไม่ได้บอกว่าคนเหล่านี้ไม่ได้ทำความผิด แต่บอกว่าหลักฐานไม่เพียงพอ โครงการนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาที่รัฐสร้างขึ้นมาเอง สิ่งที่มีปัญหาที่มีอยู่ทุกวันนี้เป็นปัญหาของคน สำนักงาน และองค์กร ต้องเอื้อให้มีช่องทางและที่ยืนแก่ผู้ได้รับผลกระทบ”
นางบุษยมาศ อิศดุลย์ จากบ้านบุญเต็ม จ.ยะลา บอกกล่าวถึงสถานการณ์เยาวชนในตัวเมืองยะลาว่า เยาวชนชายตกอยู่ในปัญหาอาชญากรราม บ่อนการพนัน น้ำมันเถื่อน ซึ่งอันตรายและน่ากลัวมาก
“หลายชีวิตหลายครอบครัวทำงานและอยู่ในวังวนเหล่านี้ เขามองว่าเป็นรายได้ของปากท้อง ไม่มองเป็นเรื่องที่ผิดกฏหมาย ส่วนโครงการพาคนกลับบ้าน เจ้าหน้าที่จะไปวนหาจนคนอยู่ในบ้านไม่ได้เพื่อให้ช่วยเข้าโครงการ เพื่อจะได้เป็นผลงาน คือเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานรอบนอกเมือง มียุทธการเหวี่ยงแห ในพื้นที่เมืองยะลาก็มีการสร้างผลงาน จับไว้ก่อน เขาบอกว่าเป็นวิธีการในการสอบสวน มีตัวตน มีใบเสร็จคือเด็กที่โดนกระทำจริง เราไม่ได้เหมารวม บาดแผลที่เกิดกับเด็กไม่หายไปจากใจเขา เขามีอคติกับเจ้าหน้าที่ที่ซึมลึกไปแล้ว ทำอย่างไรจึงจะประสานรอยร้าวนี้ได้”
ศ.สุริชัย กล่าวในตอนท้ายว่า ต้องไม่ไปสร้างบาปกรรมที่ต่อเนื่องต่อคนที่ได้รับผลกระทบมากมายในพื้นที่ ต้องปรับกระบวนหลายอย่าง และมองแยกส่วนไม่ได้ เชื่อว่าความมั่นคงของมนุษย์มีคุณค่า ความหมายร่วมกัน ต้องแบ่งปันหัวใจเข้าหากัน ต้องมีนวัตกรรมทางสังคมที่สำคัญมาก และงานวิจัยที่มีการสร้างความรู้ร่วมกันในการขับเคลื่อนโจทย์นี้
เสียงที่สื่อสารของลูกผู้ชายผ่านงานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นมิติใหม่ ที่นำเอา”เสียงในใจ”ที่เป็นความทุกข์ของลูกผู้ชายออกมาเผยแพร่สู่สาธารณชน
เสียงเหล่านี้จะได้ยินไปถึงใครบ้าง …ปัญหาที่ทับถมซ้ำซ้อนจะคลี่คลายได้เมื่อใด