นายสุเดช หลีเหร็ม กำนันตำบลคู นำชาวบ้านในพื้นที่ตำบลคู อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ประมาณ 200 คน รวมตัวกันไปยังที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลคู (อบต.คู) เพื่อรับฟังคำตอบจากนายสามารถ สะเงะยุนุ่ย นายกอบต.คู เรื่องให้อบต.ยกเลิกการอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 25 เมกกะวัตต์ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลคู ซึ่งชาวบ้านได้รวมตัวกันมายื่นหนังสือคัดค้านเมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมาและนัดมารับฟังคำตอบเมื่อวันที่ 19 กันยายน
โดยเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 ชาวบ้านกลุ่มรักษ์ถิ่นเกิด กว่า 300 คน นำโดยนายสุเดช ได้ยื่นหนังสือคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลจะนะ ต่อนายสามารถ สะเงะยูนุ่ย นายก อบต. คู โดยก่อนที่นายกอบต.จะออกมารับหนังสือ ทางอบต.ได้ขอตัวแทน 10 คนไปประชุม และนายสามารถกล่าวกับชาวบ้านว่า จะรับไปพิจารณาและจะส่งหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลจะก่อสร้างขึ้นในพื้นที่ หมู่ 3 ของตำบลคู ซึ่งชาวบ้านกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชนในรัศมี 5 กิโลเมตร ประกอบด้วยหมู่บ้าน 34 หมู่บ้าน มัสยิด 12 แห่ง โรงเรียน 8 โรง วัด 3 แห่ง ในหนังสือที่ยื่นคัดค้านระบุว่า โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะมีผลกระทบทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีข้อกังวลดังนี้
1.ปัญหาความแตกแยกของชุมชนและสังคม ที่แม้จะอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่กำลังทำให้เกิดความแตกแยกของชาวบ้าน จนทำให้ชุมชนอ่อนแอและกลายเป็นเครื่องมือของโรงไฟฟ้า
2.การสร้างโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็น เนื่องจากโรงไฟฟ้าจะนะมีกำลังผลิตไฟฟ้าถึง 1,460 เมกกะวัตต์ โดยจังหวัดสงขลามีความต้องการไฟฟ้าเพียง 450 เมกกะวัตต์
ในหนังสือระบุว่า ถ้าหากโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้น คาดว่าจะก่อให้เกิดปัญหาน้ำเสียจากกระบวนการผลิตถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำสะกอม และไหลออกไปสู่ทะเลอ่าวไทย ซึ่งจะกระทบต่อวงจรชีวิตสัตว์และอาชีพประมงของชาวบ้าน รวมไปถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำและน้ำท่วมที่เกิดจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ที่ต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตจำนวนมาก และต้องมีการถมผิวดินสูงถึง 3 เมตร จนเป็นการกีดขวางทางน้ำหลากจากอำเภอนาทวี ในช่วงฤดูฝน รวมถึงเสียงดังจากการก่อสร้างและกระบวนการผลิตไฟฟ้า จะกระทบต่อโรงเรียนในพื้นที่จำนวน 8 แห่ง
และปัญหาฝุ่นละอองขี้เถ้าที่เป็นกากของเสียขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ถูกปล่อยออกมาส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อาจทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจตามมา และเป็นสารก่อมะเร็งในร่างกาย และปัญหาเศรษฐกิจชุมชน ที่ส่วนใหญ่ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมต้องอาศัยน้ำฝนและแหล่งน้ำธรรมชาติ และน้ำจากชลประทาน ที่ต่อไปน้ำใต้ดินจะแห้งกระทบต่อเกษตรกร รวมไปถึงปัญหาความร้อนในอากาศที่เกิดจากกระบวนการผลิต ส่งผลต่อสุขภาพประชาชนและต้นยางพารา ทำให้น้ำยางปริมาณลดลง กระทบต่อรายได้ครัวเรือน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กลุ่มรักษ์ถิ่นเกิด ตำบลคู อำเภอจะนะ จึงคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลจะนะและขอเรียกร้องให้ทาง อบต.คู ยกเลิกการอนุญาตให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวใช้พื้นที่ เพื่อหยุดโครงการดังกล่าวอย่างถาวร โดยแกนนำผู้ประท้วงให้เหตุผลเช่นในหนังสือคัดค้านครั้งก่อน หากประเด็นสำคัญคือที่ตั้งโครงการอยู่ห่างจากโรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอที่มีนักเรียนและบุคลากรเกือบ 1,000 คน เพียง 100 เมตรเท่านั้น หากโครงการเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อบุตรหลานชาวจะนะแน่นอนทั้งเสียงดังรบกวน ควันและมลพิษที่เกิดขึ้นตามมา รวมถึงการเข้ามาของรถบรรทุกขนาดใหญ่ในการขนส่งเศษไม้เพื่อมาป้อนโรงไฟฟ้า ทั้งที่อ.จะนะมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 1,500 เมกกะวัตต์ของ กฟผ.อยู่ในพื้นที่แล้ว และยังมีการเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขนาด 2,200 เมกกะวัตต์อีก แล้วทำไมต้องให้มีโรงไฟฟ้าเอกชนมารบกวนชาวบ้านอีก
นายสามารถ สะเงะยุนุ่ย นายกอบต.คู ได้กล่าวกับกลุ่มชาวบ้านที่มาฟังคำตอบว่า ขออยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชน “การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ ม.3 เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ โดยในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ จะมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นที่บ้านทุ่ง ม.5 ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและรวมพลังการแสดงความเห็นว่าคนส่วนใหญ่ไม่ เอา โรงไฟฟ้าก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ประชาชนในพื้นที่จึงต้องร่วมกันแสดงพลังว่าจะเห็นด้วยหรือไม่กับโครงการดังกล่าว และผมจะไปร่วมด้วยในวันนั้น”
หลังจากรับฟังคำชี้แจงจากนายกอบต. ชาวบ้านแสดงความพอใจและมีการนัดหมายเพื่อรวมตัวกันแสดงพลังคัดค้านในเวทีรับ ฟังความเห็นในวันที่ 5 ตุลาคม 2559 ต่อไป
มะโสม ชาวบ้านม.5 บอกว่า ถ้าจะสร้างจริงมันใกล้กับโรงเรียนเหลือเกิน หลานๆ ยังเรียนอยู่หลายคน เพราะเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน ถ้าสร้างแล้วจะทำอย่างไร จึงขอค้านไม่ให้สร้าง ซึ่งมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ด้วยมองเห็นว่ามีแต่ความเสียหายมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ ต้องรอดูและติดตามกันว่า วันที่ 5 ตุลาคมนี้ ชาวตำบลคูจะรวมพลังคัดค้านกันได้ผลหรือไม่ ชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป