สกว.ผนึกกำลัง 7 องค์กรลงนามในบันทึกความร่วมมือสนับสนุนการวิจัยพัฒนา“ระบบบูรณาการข้อมูลสารสนเทศเพื่อการเยียวยาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดสงขลา”
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา ศูนย์เยียวยาจังหวัดสงขลา สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา สำนักงานยุติธรรมจังหวัดสงขลา สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 12 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือในการสนับสนุนการวิจัยพัฒนา“ระบบบูรณาการข้อมูลสารสนเทศเพื่อการเยียวยาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดสงขลา” เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 ณ โรงแรมบีพี สมิหลาบีช สงขลา อ.เมือง จ.สงขลา
ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สกว. กล่าวถึงโครงการวิจัยระบบบูรณาการการเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ย้ายถิ่นอันเนื่องมาจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทางสกว.ให้การสนับสนุนว่า มีเป้าหมายในการสร้างองค์ความรู้และระบบข้อมูลสารสนเทศที่สำคัญต่อการศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบบูรณาการการเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ย้ายถิ่นอันเนื่องมาจากปัญหาความไม่สงบ เน้นการเชื่อมโยงโครงข่ายข้อมูลและการทำงานของหน่วยงานที่มีอยู่แล้วให้สามารถบูรณาการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดเวลาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องใช้ในการเข้าถึงตัวผู้ประสบเหตุเพื่อเริ่มดำเนินการเยียวยา ลดช่องว่างทางด้านข้อมูลและสารสนเทศที่จำเป็นต่อการเยียวยาระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนผู้ประสบเหตุ
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) หัวหน้าโครงการวิจัยอธิบายว่า “โครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างองค์ความรู้เชิงระบบ และฐานข้อมูลที่จำเป็นในการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบูรณาการการเยียวยาและการติดตามประเมินผลการเยียวยากับประชาชนของทุกหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ลดเวลาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องใช้ในการเข้าถึงตัวผู้ประสบเหตุเพื่อเริ่มดำเนินการเยียวยา ลดช่องว่างทางด้านข้อมูลและสารสนเทศที่จำเป็นต่อการเยียวยาระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนผู้ประสบเหตุ”
นายจรัส ชุมปาน สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อมีการเปิดใช้ระบบแล้ว จะช่วยย่นเวลาใน 2 ส่วนสำคัญคือ
1.เวลาในการติดต่อประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจเยียวยาประชาชนร่วมกัน การส่งต่อข้อมูลจากที่เคยเป็นระบบกระดาษและระบบการโทรประสานงานเป็นครั้งๆ ไป จะเปลี่ยนเป็นระบบการส่งต่อข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศแบบ Real-time ซึ่งจะทำให้ข้อมูลของประชาชนผู้ขอรับการเยียวยาในมือของเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกหน่วยงานเป็นปัจจุบันตลอดเวลา ไม่ต้องมีการรอการส่งต่อข้อมูลเหมือนแต่ก่อน ในส่วนนี้เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐสามารถร่นเวลาลงได้ประมาณร้อยละ 50 ถึง 70
2.เวลาในการรอรับการเยียวยาของประชาชนจะลดลง เนื่องจากประชาชนไม่ต้องไปดำเนินการติดต่อประสานงานหรือหาข้อมูลสิทธิการเยียวยาด้วยตนเองอีกต่อไป เพราะระบบจะแสดงสิทธิและขั้นตอนการเยียวยาทั้งหมด รวมทั้งเอกสารที่ต้องเตรียมให้แก่ประชาชนได้รับทราบทั้งหมดในครั้งเดียว ทำให้ประชาชนเข้าใจและสามารถดำเนินการตามขั้นตอนทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนนี้ประชาชนสามารถร่นเวลาลงได้ถึงร้อยละ 70 ถึง 80 โดยประมาณ
ด้วยเหตุนี้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลาจึงได้ระดมความร่วมมือระหว่าง 8 องค์กรที่มีภารกิจการเยียวยาประชาชนในจังหวัดสงขลาร่วมลงนามความร่วมมือในบันทึกความร่วมมือในการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาระบบบูรณาการข้อมูลสารสนเทศเพื่อการเยียวยาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในจังหวัดสงขลา และปูทางไปสู่การขยายผลสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อื่นๆ ต่อไปในอนาคต
นอกจากประโยชน์ในการสร้างเสริมประสิทธิภาพในการบูรณาการข้อมูลการทำงานของหน่วยงานเยียวยาในพื้นที่แล้ว การพัฒนาข้อมูลสารสนเทศ ยังช่วยให้เกิดการจัดการงบประมาณหลายพันล้านที่ใช้ในการเยียวยาได้อย่างประสิทธิภาพ จากข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการเยียวยาจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา โดยตัวเลขงบประมาณที่ใช้จ่ายไปกับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งหลักเกณฑ์เก่าและใหม่ รวมถึงการจ่ายย้อนหลัง และการจ่ายกรณีพิเศษทั้งชีวิตร่างกายและทรัพย์สินเสียหาย ตั้งแต่ปี 2547 จนถึง ปี 2556 รวมทั้งสิ้น 4,890,008,483 บาท (ประมาณ 5 พันล้านบาท) นำไปสู่ผลของงานที่มีประสิทธิผล โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ใช้งบประมาณเพื่อการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 1,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจ่ายเงินประเภท เงินรายเดือนสำหรับผู้พิการ บุตรผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ การฟื้นฟูด้านจิตใจ ทำศพ บาดเจ็บ และเสียชีวิต ขึ้นอยู่กับความเสียหาย และมีหลายหน่วยงานที่มีภารกิจเยียวยา ระบบสารสนเทศนี้จะช่วยสนับสนุนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจเยียวยา ให้ได้ดำเนินการเยียวยาได้อย่างครบถ้วนทุกกรณีและทุกสิทธิที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบพึงได้ สร้างหลักประกันการเยียวยาไม่มีใครตกหล่นอีกต่อไป ต่างจากการใช้ระบบกระดาษและระบบการประสานงานระหว่างหน่วยงานและประชาชนเป็นรายกรณี ซึ่งล่าช้าและมีความเสี่ยงรายชื่อตกหล่น บางกรณีตกหล่นมาเกือบ 10 ปี