คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAW) ประชุมเตรียมเดินขบวนรณรงค์สนับสนุนการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพระหว่างรัฐกับมาราปาตานี (MARA PATANI) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 กันยายน 2559 ณ ประเทศมาเลเซีย ขอพื้นที่ปลอดภัยแก่ประชาชน
โดยคณะทำงานวาระผู้หญิงฯ กำหนดร่วมเดินรณรงค์ตั้งแต่เวลา 08.30 – 10.00 น.ในวันที่ 1 กันยายน 2559 โดยจะมีผู้ร่วมขบวนประมาณ 100 คน พร้อมข้อความเรียกร้องต่อฝ่าย Party A (ฝ่ายรัฐบาล) ว่า “รักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน” และข้อความเรียกร้องต่อฝ่าย Party B (มาราปาตานี)ว่า “ไม่ทำให้พื้นที่สาธารณะมีความเสี่ยงต่อผู้บริสุทธิ์”
การเดินรณรงค์จะเริ่มตั้งขบวนที่สวนสาธารณะสะพานศักดิ์เสนีย์ ริมแม่น้ำปัตตานี จากนั้นจะเดินผ่านตลาดเทศบาลเมืองปัตตานี และไปสิ้นสุดพร้อมอ่านแถลงการณ์ที่มัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี โดยขอให้ผู้ร่วมเดินรณรงค์เน้นแต่งกายสีขาวเป็นหลักเพื่อแสดงพลังเรียกร้องสันติภาพ
ทั้งนี้ ในขบวนจะมีการถือป้ายข้อความต่างๆ ได้แก่
1.สันติภาพจะไม่มีความหมายอะไร ถ้าไร้ประชาชน
2.สันติภาพไม่ต้องการความรุนแรง
3.ขอถนนหนทางปลอดภัย
4.ขอตลาดปลอดภัย
5.ขอสันติสุขกลับคืนมา
6.หยุดกระทำความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
7.ขอให้มัสยิดปลอดภัย
8.ขอให้วัดปลอดภัย
9.ขอให้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ปลอดภัย
10.การหันหน้ามาพูดคุยกัน คือจุดเริ่มต้นของสันติภาพ
11.ขอให้โรงเรียนปลอดภัย
12.พื้นที่สาธารณะต้องปลอดภัย
13.ขอให้พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับเด็กและสตรี
นางสาวลม้าย มานะการ สมาชิกเครือข่ายคณะทำงานวาระผู้หญิงฯ กล่าวว่า การเดินรณรงค์ครั้งนี้เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะว่า คณะทำงานวาระผู้หญิงฯ สนับสนุนการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพดังกล่าว พร้อมเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้คณะทำงานวาระผู้หญิงฯ ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่อง“ พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงชายแดนใต้” ต่อฝ่าย Party A ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ผ่านทีมเทคนิคของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ คิดว่า พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ได้รับข้อเสนอนี้แล้ว
“สำหรับฝ่าย Party B คณะทำงานวาระผู้หญิงฯ ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายชุดเดียวกันผ่านตัวแทนของมาราปาตานีแล้วเช่นกัน และได้รับคำยืนยันแล้วว่าจะนำข้อข้อเสนอนี้ไปยื่นให้นายอาวัง ยาบะ ประธานมาราปาตานีต่อไป”
ขณะเดียวกันคณะทำงานวาระผู้หญิงฯ ยังได้ทำแบนเนอร์ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ เชิญชวนเดินรณรงค์เพื่อสันติภาพ โดยใช้ข้อความความว่า “เดินรณรงค์สาธารณะ “พื้นที่สาธารณะปลอดภัยต้องอยู่บนโต๊ะพูดคุย” พร้อมกับเผยแพร่กำหนดการข้อเสนอเชิงนโยบาย“พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงชายแดนใต้”
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้ชายแดนใต้” มีข้อเสนอที่สำคัญคือ
1.ยุติการก่อเหตุความรุนแรงและปฏิบัติการทางทหารของทุกฝ่ายในพื้นที่สาธารณะ พร้อมกับประกาศพื้นที่เหล่านี้ เป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย
2.ตลาด ร้านค้า ถนน โรงเรียน มัสยิด วัดพื้นที่จัดงานประเพณี ทุ่งนา สวนยาง ร้านน้ำชา โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และรวมถึงบ้านพักหรือที่พักอาศัย
3.แสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยวิธีการทางการเมืองและให้นำประเด็นพื้นที่สาธารณะของผู้หญิงเป็นวาระสำคัญในการพูดคุย
4.เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงภาคประชาสังคมได้ทำงานอย่างปลอดภัยและอิสระ คือนักกิจกรรมภาคประชาสังคมที่ลงพื้น ทำให้มีที่เสี่ยง ต้องพบกับความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจ ถูกติดตาม จับตา ถูกมองอย่างมีอคติ หรือบางกรณีถูกข่มขู่คุกคามจากคู่ขัดแย้งทั้งหน่วยงานของรัฐกับผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ จึงสร้างความกลัว ความกังวนใจ ความไม่มั่นคงและความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการทำงาน นอกจากนี้ยังมีการแซรกแซงการทำงาน ทำให้ขาดความเป็นอิสระ ทั้งๆที่บทบาทการทำงานของภาคประชาสังคมเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยผลักดันสันติภาพหรือสันติสุขให้มีความก้าวหน้า การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและเยียวยาโดยไม่เลือกฝ่าย การเชื่อมประสานและคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆ โดยแนวทางสันติวิธี การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น การตรวจสอบการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่รัฐ ที่นำไปสู่การลดเงื่อนไขให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น รวมถึงการช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่เป็นความเดือดร้อนของคนในชุมชน จากปัญหาปากท้องของคนใน ครอบครัว/ชุมชน
ซึ่งการ จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ได้มีการศึกษาและรวบรวมความเห็นคิดเห็นของผู้เห็นจากภาคประชาชนและภาคชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ประมาณ 500 คน ระหว่างเดือนตุลาคม 2558 จนถึง เดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมา
รายชื่อองค์กรสมาชิกคณะทำงานผู้หญิงชายแดนใต้ 23 องค์กร ได้แก่
1.กลุ่มเซากูน่า
2.กลุ่มด้วยใจ
3.กลุ่มเครือข่ายสตรีเสื้อเขียวชายแดนใต้
4.กลุ่มออมทรัพย์สัจจะสตรี
5.เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (Civic Women)
6.เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้
7.เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ
8.เครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้
9. เครือข่ายชุมชนศรัทธา
10. เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี
11. เครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรมทางเลือก
12. เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ
13. เครือข่ายผู้หญิงธรรมาภิบาลชายแดนใต้
14. ชมรมข้าราชการมุสลีมะห์นราธิวาส
15. ชมรมผู้นำมุสลิมะห์นราธิวาส
16 มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า
17. สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace)
18. สมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์จังหวัดยะลา
19. สภาประชาสังคมชายแดนใต้
20. สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้
21. ศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา
22. ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กกำพร้า
23. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)