โดย เลขา เกลี้ยงเกลา
“ถ้าไม่มีความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกัน อาคารหลังนี้ก็ไม่เกิดขึ้น”
ชาวบ้านบ้านบูเก๊ะลาโม๊ะบอกเล่าถึงความรู้สึกเมื่อถามถึงเรื่องราวของอาคารเอนกประสงค์หลังใหญ่ ชั้นเดียวโปร่งโล่งที่อยู่ตรงหน้าหลังนี้ว่า มาจากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านในชุมชนที่อยากให้มีสถานที่พบปะและทำกิจกรรมที่เป็นส่วนรวม
บูเก๊ะลาโมะ คือชื่อหมู่บ้านที่ 6 ใน ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา ที่นี่เป็นชุมชนมุสลิม 100 เปอร์เซ็นต์ พี่น้องในชุมชนใช้ชีวิตทำมาหากินตามปกติสุข หากที่นี่ยังขาดสถานที่ในการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เมื่อโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้(ช.ช.ต.) ได้เข้าไปทำความรู้จักผู้คนและชุมชน โดยใช้กระบวนการการวิเคราะห์ข้อมูลชุมชนอย่างรอบด้าน จนได้ทราบถึงความต้องการส่วนใหญ่ของพี่น้องในชุมชนว่า ต้องการ “อาคารเอนกประสงค์”
เมื่อชุมชนบูเก๊ะลาโมะต้องการอาคารเอนกประสงค์และนำเสนอต่อโครงการช.ช.ต. จนได้รับการพิจารณา ชาวบ้านจึงตั้งใจให้อาคารหลังนี้ได้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุด ขยับขยายอาคารให้รองรับกิจกรรมได้มากขึ้น งบประมาณในการก่อสร้างจึงเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากที่โครงการช.ช.ต.อนุมัติจำนวน 3 แสนบาท โดยชุมชนได้จัดงานหางบประมาณได้จำนวน 1 ล้านกว่าบาท นำมาจัดซื้อที่ดินเปล่าจำนวน 4 ไร่กว่า จำนวน 600,000 บาท ชาวบ้านสมทบจำนวน 450,000 บาท ค่าแรงที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างอาคารจำนวน 186,400 บาท วัสดุสมทบจำนวน 42,264 บาท นายกอบต.อาซ่องสมทบปรับพื้นที่จำนวน 12,000 บาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 990,664 บาท พร้อมพิธีเปิดอาคารไปเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยมี พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ นายอำเภอรามัน เป็นประธานในงาน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านร่วมงานจำนวนมาก
นายมะดามิง สิมะยอ ผู้ใหญ่บ้านบ้านบูเก๊ะลาโมะ กล่าวถึงความเป็นมาของอาคารหลังนี้ว่า “เมื่อโครงการช.ช.ต.เข้ามาแนะนำให้ชาวบ้านได้รับความรู้ ทำให้ได้รู้ว่าสิ่งไหนที่จำเป็น สามารถทำได้ ทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นของทุกคนที่มาประชุมและตัดสินใจ ส่วนผู้นำคอยหนุนเสริมในสิ่งที่เป็นไปได้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านดีขึ้น ได้แตกกรอบความคิด ทุกคนได้ออกความเห็นอย่างเต็มที่ สิ่งที่ชาวบ้านต้องการได้ออกมาเป็นรูปธรรมคือ อาคารเอนกประสงค์หลังนี้ อาคารที่มาจากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านและงบประมาณจากช.ช.ต.
งบประมาณที่ช.ช.ต.ให้มาถือเป็นการตั้งต้นที่ดีและมีมาอย่างต่อเนื่องในโครงการต่อไป ซึ่งโครงการที่คิดต่อคือ การทำฝาย ซึ่งต้องใช้งบประมาณเยอะ ต้องมีการวิเคราะห์กันอีกเพราะต้องทำให้ต่อเนื่องจนเสร็จในช่วงที่ฝนไม่ตก”
ความร่วมมือร่วมใจของทุกคนในชุมชนคือ ความสำเร็จที่ทุกคนตั้งใจ อาคารเอนกประสงค์หลังนี้คือผลแห่งความตั้งใจและความต้องการที่ตรงกัน กิจกรรมและการใช้ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ เป็นที่วาดหวังว่า ทุกคนในชุมชนจะได้รับประโยชน์นั้นกันอย่างทั่วถึง