หน้าแรก ข่าวในประเทศ ข่าวชายแดนใต้

สามนักสิทธิฯ ปฏิเสธทุกข้อหา เผยแพร่รายงานซ้อมทรมานภาคใต้

นักสิทธิมนุษยชน 3 คนคือ นายสมชาย หอมลออ น.ส.พรเพ็ญ จงขจรเกียรติ และ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ 3 นักสิทธิมนุษยชน เข้ารายงานตัวและรับทราบข้อกล่าวหาต่อ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี จากคดีที่ กอ.รมน.ภาค 4 ฟ้องหมิ่นประมาท การเผยแพร่สถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2557-2558 โดยทั้งสามปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ขอให้การเป็นเอกสารและไม่ต้องประกันตัว โดยมีนักกิจกรรม ประชาชนในพื้นที่มามอบดอกไม้ให้กำลังใจ มีเจ้าหน้าที่จาก UNHR (United Nation Human Right) และ ICJ มาสังเกตการณ์ ขณะที่สมาคมนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน HRLA และ Amnesty ออกแถลงการณ์ขอให้ยุติการดำเนินคดีกับ 3 นักปกป้องสิทธิมนุษยชน

นายอับดุลกอฮาร์อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งทำหน้าที่ให้นักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คนวันนี้ระบุว่า ทั้งสามคนให้การปฏิเสธในทุกข้อกล่าวหา และจะขออนุญาตจัดทำคำให้การเป็นเอกสารเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนอีกครั้ง โดยหลังรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ทั้งสามคนสามารถเดินทางกลับได้โดยไม่ต้องมีการประกันตัว

“เบื้องต้นทั้ง 3 คนมารับทราบข้อกล่าวหา และให้การปฏิเสธทั้งหมด พนักงานสอบสวนปล่อยโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว และผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 จะส่งรายละเอียดปฏิเสธข้อกล่าวหาเป็นเอกสารในภายหลัง ภายในกำหนดระยะเวลา 60 วัน และยังไม่มีการนัดครั้งต่อไป”

นายสมชาย หอมลออ กล่าวว่า ยืนยันถึงความบริสุทธิ์ด้วยการมาตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เชื่อมั่นว่าจะได้รับความเป็นธรรม ตระหนักว่าทำในฐานะนักสิทธิมนุษยชนขอบคุณกำลังใจจากทุกองค์กร

ด้าน พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและประธานกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า การติดตามและการจับกุมและฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อการกระทำในการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนควรเป็นเรื่องที่ถูกทบทวน การทรมานเป็นอาชญากรรมและการรายงานและการร้องเรียนของญาติไม่ใช่อาชญากรรม

อัญชนา หีมมิหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า การละเมิดสิทธิ์ในพื้นที่ชายแดนใต้มีหลากหลายรูปแบบทั้งพุทธและมุสลิม การปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในกระบวนการสันติภาพ อยากให้รัฐตระหนักถึงการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนมากกว่ามากล่าวหากับผู้ที่ทำงานด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่

FullSizeRender(1)แถลงการณ์

คำชี้แจงกรณีการจัดทำและเผยแพร่

รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี

ในจังหวัดชายแดนใต้ 2557-2558

จากกรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า อ้างว่าเป็นผู้เสียหาย ได้แจ้งความร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ปัตตานี ให้ดำเนินคดี นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ในข้อหา “ร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กล่าวคือ ผู้เสียหายตรวจพบว่า มีการนำเอาเอกสารรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี พ.ศ. 2557-2558 ซึ่งเป็นความเท็จ ไปเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในเวปไซต์http://voice fromthais.wordpress.com” โดยผู้ต้องหาทั้งสามได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 เวลา 13.00 น. ณ สภ.ปัตตานีนั้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรที่ร่วมกันจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ. 2557-2558 ขอแถลงว่า

การกระทำทรมาน เป็นอาชญากรรมร้ายแรง ทั้งตามกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ และประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกของ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี รัฐมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าว

FullSizeRender

  1. นับตั้งแต่ก่อนและหลังเหตุการณ์ความไม่สงบกล่าวคือกรณีปล้นปืนค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) ในปี 2547เป็นต้นมาปรากฎว่ามีการกระทำทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี รวมทั้งการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ และการประหัตประหารนอกกระบวนการยุติธรรม เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้เสมอมา โดยที่ทางการไทยไม่มีมาตรการในการป้องกัน ปราบปรามและเยียวยาอย่างได้ผลแต่อย่างใด
  2. แม้ผู้ตกเป็นเหยื่อจากการกระทำดังกล่าว จะได้ร้องเรียน ร้องทุกข์หรือดำเนินมาตรการต่างๆด้วยตนเอง หรือโดยการช่วยเหลือสนับสนุนขององค์กรสิทธิมนุษยชน เพื่อแสวงหาความเป็นธรรมและการชดใช้เยียวยา แต่มักไม่ได้ผล เนื่องจากวัฒนธรรมผู้กระทำผิดลอยนวลในหมู่เจ้าหน้าที่ยังเข้มแข็ง กระบวนการยุติธรรมอ่อนแอ ผู้ที่ร้องทุกข์ร้องเรียนและเรียกร้องความเป็นธรรมถูกข่มขู่ คุกคามจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้เสียหายจากการทรมานจำเป็นต้องแสวงหาการช่วยเหลือเยียวยาจากองค์การและกลไกระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกสหประชาชาติ
  3. การจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ. 2557-2558 ผู้จัดทำได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อเหยื่อจากการทรมานแห่งสหประชาชาติ (United Nations for Victims of Torture) โดยรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงจากคำบอกเล่าของผู้ตกเป็นเหยื่อของการทรมาน ระหว่างปี 2547-2558 เพื่อหาหนทางในการแสวงหาความเป็นธรรมและเยียวยาต่อไป โดยใช้แบบประเมินผลกระทบจากการทรมานเพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งออกแบบโดย Physicians for Human Rights (PHR) และ American Bar Association Rule of Law Initiative (ABAROLI) ทั้งผู้เก็บรวบรวมข้อมูลก็ได้ผ่านการฝึกอบรมในการใช้แบบสอบถามดังกล่าวหลายครั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นรายงานดังกล่าวจึงมีความถูกต้องแม่นยำในทางวิชาการ
  4. ในการเขียนรายงาน ผู้จัดทำรายงานมิได้ประสงค์ที่จะระบุชื่อของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทรมาน เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรม วิธีการ สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมของการกระทำทรมาน ความรู้สึกและผลกระทบที่เกิดกับผู้เสียหายจากการทรมานเป็นสำคัญ โดยพบว่า เจ้าหน้าที่ได้ใช้วิธีการทรมานอย่างเป็นระบบ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ กล่าวคือเป็นการกระทำทรมานเป็นประจำ โดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี เป็นการกระทำที่แพร่หลาย กว้างขวางในจังหวัดชายแดนใต้ เช่น การข่มขู่ให้กลัว การจำลองวิธีการประหารชีวิต การซักถามที่ใช้เวลานานโดยไม่ให้พักผ่อน การขังเดี่ยว การทำให้สูญเสียประสาทสัมผัส การทุบตีทำร้ายร่างกาย การทำให้สำลักหรือบีบคอ การทำให้จมน้ำหรือจุ่มน้ำ และการให้อยู่ในห้องร้อน ห้องเย็น เป็นต้น
  5. ร่างรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ. 2557-2558 ผู้จัดทำได้ส่งให้แก่เจ้าหน้าที่เป็นเวลานานกว่า 1 เดือน ก่อนที่จะเผยแพร่ต่อประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ไม่เคยติดต่ออย่างเป็นทางการกับหน่วยงานที่จัดทำรายงานแต่อย่างใด มีเฉพาะเจ้าหน้าที่บางคน ได้โทรศัพท์สอบถามผู้เขียนรายงานบางคน เพื่อขอทราบรายชื่อผู้ให้สัมภาษณ์เท่านั้น ซึ่งผู้จัดทำรายงานไม่สามารถให้ได้ โดยปราศจากความยินยอมของผู้ให้สัมภาษณ์ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา นอกจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐ ไม่สามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดมาลงโทษและชดใช้เยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานแล้ว ยังไม่สามารถคุ้มครองความมั่นคง ปลอดภัยของผู้เสียหายด้วย ทำให้เกิดเป็นบรรยากาศของความหวาดกลัว ไม่เชื่อมั่นหน่วยงานของรัฐและกระบวนการยุติธรรม หลายคนมีอาการคับแค้นด้านจิตใจและวิตกกังวล ซึ่งในภาวะดังกล่าวอาจทำไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้
  6. การที่กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อนายสมชาย หอมลออ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และนางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และนโยบายของทางราชการในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนท่าทีที่ไม่เปลี่ยนแปลงต่อการแก้ปัญหาการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีที่ยังคงเกิดขึ้นเสมอ การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องละเลยไม่นำพาต่อข้อเสนอแนะของรายงานแต่กลับดำเนินคดีต่อบุคคลทั้งสาม ไม่อาจเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ นอกเสียจากว่าทางการไทยและผู้บังคับบัญชาระดับสูง ได้รู้เห็นเป็นใจ หรือยินยอมให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางคน ใช้วิธีการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีต่อผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบต่อไป โดยยังไม่ได้ตระหนักว่า การทรมานอย่างอย่างกว้างขวางและอย่างเป็นระบบที่ยังดำเนินต่อไปในจังหวัดชายแดนใต้เช่นนี้ อาจนำไปสู่การกล่าวหาโดยนานาชาติว่าเป็น “การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime Against Humanity)” ได้

วันที่ 26 กรกฎาคม 2559

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี