เยาวชนชายแดนใต้เรียนรู้เกมการ์ดพลังสิทธิเพื่อสิทธิของตัวเองและไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น นำร่องในโรงเรียนจ.ปัตตานีและสงขลา พร้อมขยายครอบคลุมพื้นที่เพื่อเยาวชนรับทราบสิทธิขั้นพื้นฐานโดยทั่วกัน
มูลนิธิฟรีดริช เนามัน องค์กรไม่แสวงหากำไรจากเยอรมนี ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สร้างสรรค์“การ์ดพลังสิทธิ” หรือ Rights card เป็นเกมสำหรับเด็กๆ และเยาวชน ซึ่งมีสโลแกนของเกมว่า “เล่น เรียน แล้วเปลี่ยนแปลง เพื่อสิทธิและเสรีภาพไปกับเกมการ์ดพลังสิทธิ” เพื่อให้ผู้เล่นได้เรียนรู้และคิดแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ผ่านแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชน และนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตจริง
เกมการ์ดพลังสิทธิ มีภาพบนการ์ดเป็นสถานการณ์จำลองเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบต่างๆ เรียกว่า “การ์ดสถานการณ์” และมี “การ์ดพลัง” ที่ภาพบนการ์ดเป็นแนวทางแก้ไขสถานการณ์การละเมิดสิทธิ
“การ์ดสถานการณ์” จะเป็นการ์ดสีแดง จำนวน 30 ใบ ส่วน “การ์ดพลังสิทธิ” เป็นการ์ดสีเขียว มี 36 ใบ นอกจากนั้นยังมี “การ์ดเป้าหมาย” หรือ “การ์ดภารกิจ” อีก 20 ใบ เป็นสีน้ำเงิน และ “การ์ดพิเศษ” สีเหลืองอีก 15 ใบ เพื่อเสริมความสนุกและดึงไหวพริบปฏิภาณในการเล่นวิธีเล่นมีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่หลักๆ คือ จะเล่นเดี่ยวๆ หรือเป็นทีมก็ได้ แต่ควรมี 4-5 คนหรือ 4-5 ทีมจะลงตัวที่สุด เมื่อเริ่มเล่นให้แบ่งการ์ดเป็น 2 กลุ่ม คือ การ์ดสถานการณ์ หรือการ์ดสีแดง เป็นกองกลาง ส่วนการ์ดพลังสิทธิ สีเขียว แจกให้ผู้เล่นทุกทีม ทีมละ 4 ใบ ยกเว้นทีมสุดท้ายแจก 5 ใบ
จากนั้นให้เปิดการ์ดสถานการณ์ สีแดง จำนวน 5 ใบ วางไว้กลางวง แล้วให้ผู้เล่นช่วยกันอ่านการ์ดทีละใบให้ทุกคนได้ยิน จากนั้นจึงให้ผู้เล่นเปิดการ์ดพลังสิทธิ สีเขียว เพื่อแก้ไขสถานการณ์การละเมิดสิทธิตามการ์ดที่เปิดขึ้นมา
จุดเด่นของเกมคือการฝึกให้ผู้เล่นได้อภิปราย เสนอแนวคิด เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากผู้เล่นคนอื่นๆ เพราะเมื่อผู้เล่นเปิดการ์ดพลังสิทธิ จะต้องอธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกการ์ดใบดังกล่าวมาแก้สถานการณ์การละเมิดสิทธินั้นๆ เพื่อให้ผู้เล่นที่เหลือได้ร่วมกันตัดสินใจว่า สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้จริงหรือไม่ หากแก้ไขได้ ก็ถือว่าจบตาของผู้เล่นคนนั้น แล้วก็วนไปยังผู้เล่นคนอื่นๆ ตามเข็มนาฬิกา ถือเป็นการฝึกให้ได้พูด ได้แสดงความเห็น และรับฟังความคิดของคนอื่นด้วย ผู้เล่นคนใดเอาชนะสถานการณ์ได้มากที่สุด หมายถึงการรวมคะแนนของกลุ่มการ์ดพลังสิทธิได้มากกว่าหรือเท่ากับคะแนนหรือ “เลขพลัง” ของการ์ดสถานการณ์ ก็จะสามารถเก็บการ์ดสถานการณ์เพื่อนับรวมเป็นคะแนนของตนได้ เมื่อสถานการณ์ถูกแก้ไขได้ทั้งหมด ผู้เล่นที่สะสมคะแนนได้มากที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะ
เนื้อหาหรือสถานการณ์จำลองบนการ์ดสถานการณ์ และการ์ดพลังสิทธิ นำมาจากสาระสำคัญในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นข้อตกลงขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ที่ได้กำหนดขึ้นเพื่อให้ประเทศสมาชิกได้ใช้เป็นแนวทางในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองในประเทศของตนสิทธิพื้นฐานที่ได้รับการรับรอง แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ สิทธิมนุษยชนเบื้องต้น, สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง,สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และหน้าที่ความรับผิดชอบของทุกคนต่อระเบียบสังคม และการรับรองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานระหว่างประเทศ
เนื้อหาที่ถูกนำมาแปลงเป็นการ์ดสถานการณ์และการ์ดพลังสิทธิในเกม เช่น มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล,บุคคลจะถูกกระทำการทรมาน หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้,ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับทุกแห่งหนว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย,ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ, ทุกคนมีสิทธิในการเปลี่ยนศาสนาหรือความเชื่อ และมีอิสรภาพในการแสดงออกทางศาสนาหรือความเชื่อของตนในชุมชนหรือในพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น
ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ มูลนิธิฟริดริช เนามัน ประเทศไทย และ กลุ่มบ้านอาสาเพื่อเด็กและเยาวชน นำ “เกมการ์ดพลังสิทธิ”มาใช้ในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างแพร่หลาย ได้มีกิจกรรมทดลองเล่มเกม โดยมีเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้นในจังหวัดปัตตานีและสงขลา ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลกับพื้นที่ซึ่งมีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่แห่งนี้
ในวันเด็กแห่งชาติที่ผ่านมา ทางมูลนิธิฯ และกลุ่มอาสาเพื่อเด็กและเยาวชน ก็ได้จัดกิจกรรมเล่มเกมการ์ดพลังสิทธิที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) เด็กๆ และเยาวชนได้รับความรู้ทั้งเรื่องการรักษาสิทธิของตนและการเคารพสิทธิของผู้อื่นบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ครึกครื้นกับการเล่นการ์ดแบบใหม่ที่ได้สาระความรู้
มัณศูรอฮฺ แท่นบำรุงจากบ้านอาสาเด็กและเยาวชน แกนนำในโครงการนี้กล่าวว่า การ์ดพลังสิทธิมีประโยชน์อย่างมากต่อเยาวชนในชายแดนใต้ เป็นการรณรงค์ต่อสาธารณะโดยการเล่นผ่านเกม และสร้างความยุติธรรมในพื้นที่ความรุนแรงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เด็กเข้าใจถึงสิทธิของตนเองและของผู้อื่นและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงทั้งปวงที่สำคัญเกมยังสร้างระบวนการคิดวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆได้โดยใช้เหตุผลที่เด็กเข้าใจทำให้เด็กได้รู้หน้าที่ของรัฐและหน้าที่ของประชาชนได้ชัดเจนมากขึ้น
สำหรับโรงเรียนที่ทำกิจกรรมไปแล้วใน จ.ปัตตานี คือ โรงเรียนแหลมทอง โรงเรียนเมืองปัตตานี โรงเรียนเตรียมศึกษาวิทยา โรงเรียนสตรีพัฒนศึกษา โรงเรียนจงรักษ์สัตย์วิทยา และในจ.สงขลา คือ โรงเรียนแสงธรรมวิทยามูลนิธิ พร้อมขยายพื้นที่ไปทั้ง 4จังหวัดชายแดนใต้
มัณฑนาบอกว่า ครูในแต่ละโรงเรียนให้ความร่วมมือดี เข้ามาร่วมทำกิจกรรมด้วยเพื่อจะนำไปใช้ในห้องเรียนอื่นๆ. ครูมีความเข้าใจในเรื่องสิทธิของเด็กมากขึ้นว่าเด็กควรที่จะมีพื้นที่แสดงความคิดเห็นและแสดงออกให้เรื่องต่างๆ
“เด็กแต่ละโรงเรียนสนุกมาก เพราะเป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กกล้าพูด กล้าแสดงออกในเรื่องของสิทธิได้เต็มที่ เด็กเข้าใจในเรื่องของการเป็นผู้ละเมิดสิทธิต่างๆ และสามารถวิเคราะห์แก้ไขปัญหาที่ต่างๆกัน แต่คำตอบคือรูปแบบเดียวกันเข้าใจสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมมากขึ้น และทำให้เด็กรู้จักหน่วยงานที่เรียกร้องสิทธิและคุ้มครองเขาได้มากขึ้นนอกจากโรงพักและศาล”
เด็กหญิงพรทิพา สวัสดี จากโรงเรียนเมืองปัตตานี ที่ร่วมเล่นเกมการ์ดพลังสิทธิบอกว่า ทำให้มีจิตอาสา แก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง กล้าพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น มีความสามัคคีและมีระเบียบวินัย ได้ความรู้เรื่องสิทธิของตัวเองและไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น อยากเล่นเกมอีกเพราะได้ฝึกสมอง
ส่วน เด็กหญิงฟิรดาว กะรีสามา บอกว่า การเรียนและอยู่ร่วมกันของเพื่อนไทยพุทธ จีน และคริสต์ ต่างเป็นมิตรกัน มีความเท่าเทียมกันเพราะทุกคนเป็นคนไทยเหมือนกัน
“ชอบการ์ดไอเดียมาก การ์ดเด็กดื้อ เด็กซนถูกล่ามโว่ ทำให้เห็นใจเขา รู้สึกเจ็บแทน ถ้าเห็นผู้ปกครองใครทำแบบนี้ต้องแจ้งตำรวจในข้อหาละเมิดสิทธิเด็ก”
สำหรับคำตอบที่เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่บอกกล่าวถึงข้อดีของเกมการ์ดนี้คือ มีความรู้เรื่องการละเมิดสิทธิเด็กและผู้อื่น การอยู่ร่วมกัน การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายของวัฒนธรรม เช่น เด็กมุสลิมไม่มีอาหารฮาลาลทานที่โรงเรียน ทางแก้คือบอกให้ผู้อำนวยการทราบหรือนำข้าวกล่องจากบ้านมาทาน หรือหากเพื่อนต่างด้าวป่วย ไม่สามารถรักษาพยาบาลได้ก็จะไปซื้อยาให้เพื่อน มีช่องทางช่วยเหลือได้หลายอย่าง
แม้จะมีเวลาเล่นไม่นาน หากเกมการ์ดพลังสิทธิได้กระตุกต่อมคิดของเยาวชนในการรับรู้ แก้ไข ป้องกัน ในสิทธิของตนเองและผู้อื่น เป็นพื้นฐานที่ดีและต่อยอดไปในหนทางที่สร้างสรรค์ ควรแก่การขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมไปทั่วชายแดนใต้ผ่านการเล่นเกมสรรค์สร้างเช่นนี้