หน้าแรก รายงาน

ชีวิตที่เปลี่ยนไป… ผลกระทบร้ายแรงจาก “ระเบิดกลางเมืองปัตตานี”

โดย เล ลิกอร์

จากเหตุระเบิดกลางเมืองปัตตานี เมื่อคืนวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวน 63 ราย และเสียชีวิต 3 ราย มีทั้งประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ และเด็ก ที่ได้รับผลกระทบฯ และตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในเหตุการณ์ดังกล่าว

ครบรอบปีของความรุนแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้น อาจเป็นเรื่องไกลตัวและเลือนรางไปของใครหลายคน หากยังเป็นเรื่องฝังใจในจิตใต้สำนึกของผู้สูญเสียและได้รับผลกระทบอีกจำนวนหนึ่งอย่างไม่มีวันลืมเลือน พร้อมกับที่เหตุระเบิดยังคงเกิดขึ้นและสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

“เพราะระเบิด… ชีวิตฉันเปลี่ยน” เล่มนี้จึงเกิดขึ้นจากโครงการ“การสร้างความเข้มแข็งให้กับเหยื่อระเบิดเพื่อผลักดันให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน” ของกลุ่มด้วยใจ สนับสนุนโดยมูลนิธิเอเชีย เพื่อต้องการให้สังคมได้รับทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงของเหตุลอบวางระเบิดเมื่อคืนวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 โดยนำเสนอเรื่องราวชีวิตรวม 27 ราย ทั้งครอบครัวผู้สูญเสียและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ โดยเปิดตัวไปเมื่อ วันที่ 6 มิถุนายน 2558 ณ โรงแรมปาร์ควิวรีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

11407131_10204230802881561_8474690391980090871_n

“แม่ เมื่อไหร่ขาหนูจะงอกใหม่ค่ะ” คำพูดของเด็กน้อยผู้เป็นลูกสาวที่ถามผู้เป็นแม่ และคำพูดของคุณหมอ “ตอนนี้ลูกของคุณพ้นขีดอันตรายแล้ว แต่คุณแม่พร้อมที่จะรับสภาพของลูกได้หรือยัง” …จากคำบอกเล่าของผู้เป็นแม่ “นะดา สาวิชัย” ในคืนประสบเหตุจากเหตุการณ์ระเบิดป่วนปัตตานีกว่า 20 จุด ในเขตชุมชนเมือง เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 24 พ.ค. 2557 ที่ผ่านการร้อยเรียงเป็นตัวอักษรในหนังสือ “เพราะระเบิด… ชีวิตฉันเปลี่ยน”

ในงานมีการเสวนา “เพราะระเบิด ชีวิตจึงเปลี่ยน : เหตุเกิด ณ ชายแดนใต้ – บทเรียนรู้จากเหตุการณ์ เพื่อข้ามผ่านความรุนแรงสู่สันติภาพ โดย ครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากระเบิดในวันที่ 24 พฤษภาคม อาทิ ว่าที่ ร.ต.ศตวรรษ ลาเฮศักดิ์สิทธิ์ (แม่เสียชีวิต) นางรอฮีหม๊ะ สิเดะ (ลูกชายเสียชีวิต) และน.ส.สิทธิณี นุ่นประดิษฐ์ ( ลูกชายเสียชีวิต) และเล่าเรื่องจากเรื่องเล่า: เพราะระเบิด ชีวิตจึงเปลี่ยน: เหตุเกิด ณ ชายแดนใต้ โดย นางอารีด้า อาแวกะจิ นักเขียน” เพราะระเบิด… ชีวิตฉันเปลี่ยน” นายชูศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ นักเขียนสารคดี และนายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ดำเนินรายการโดย นายมนตรี อุดมพงษ์ ผู้สื่อข่าวรายการข่าว 3 มิติ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย โดยทุกคนต้องร่วมมือกัน และเหตุการณ์วันที่ 24 เป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกคนต้องร่วมกันเป็นหูเป็นตาสร้างพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน เรื่องเล่าในเหตุการณ์เป็นแค่หนึ่งความทรงจำ ที่สามารถสร้างบทเรียนให้ทุกฝ่ายมาร่วมมือกัน
“คุณค่าและประโยชน์ของหนังสือเล่านี้ คือ ต้องการให้ผู้อ่านได้รับทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง โดยทีมงานได้เข้าไปพูดคุยติดตามกรณีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รวมทั้งครอบครัวของผู้สูญเสียด้วย รวม 27 คน โดยเรียบเรียงจากคำบอกเล่าเขียนออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้”

“ผู้ที่บอกเล่าให้เราฟังเขาสะท้อนว่าต้องการให้ผู้ที่ก่อเหตุความรุนแรงหยุดการใช้ความรุนแรง เพราะไม่ว่าสาเหตุแรงจูงใจของการกระทำนั้นจะเป็นเรื่องใด การใช้ความรุนแรงโดย การวางระเบิดในพื้นที่สาธารณะได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน เด็กเยาวชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งทุกกลุ่มได้รับผลกระทบโดยเฉพาะเด็กตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงบางเคสชีวิตของเขาเปลี่ยนไปทั้งชีวิตและครอบครัวที่ดูแลก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ถ้าจะเรียกร้องให้กลุ่ม/ฝ่ายที่ยังคงใช้ความรุนแรงให้คิดว่าพวกเขาคือประชาชนของคุณต่อไปด้วยเช่นกัน และที่สำคัญคือเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีบทบาทหน้าที่โดยตรงในการปกป้องประชาชนให้ปลอดภัย หนังสือเล่านี้ยังได้สะท้อนด้วยว่ารัฐต้องมีกลไกการปกป้องคุ้มครองชีวิตของประชาชนอย่างไร ซึ่งพวกเขายังรู้สึกไม่ปลอดภัย ยังคงต้องได้รับการติดตามช่วยเหลือเยียวยาทั้งด้านร่างกายจิตใจคุณภาพชีวิตที่ดีจากรัฐและการติดตามเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งข้อเสนอแนะต่างๆที่เสนอให้ภาคประชาชนเองควรต้องตระหนักและเข้ามามีร่วมส่วนในการสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในพื้นที่”

นางรอฮีหม๊ะ สิเดะ แม่ผู้สูญเสียลูกชาย “มูฮำหมัดอิลฟาน สิเดะ” กล่าวว่า ทุกวันนี้จะหลีกเลี่ยงผ่านจุดที่เกิดเหตุ รู้สึกกังวลอยู่บ้างถ้าผ่านจุดนั้น แต่ไม่โกรธไม่แค้น เพราะเป็นสิ่งที่อัลลอฮทรงทดสอบ

“ได้กำลังใจจากเพื่อน ๆ จากครอบครัวและคนรอบข้างมาปลอบใจ ถ้าเรามัวแต่จมปลักกับความเศร้าก็จะยิ่งเศร้า เราต้องปรับมาดูแลคนที่มีชีวิต เพราะคนที่เสียชีวิตคือ คนที่อัลลอฮรักเขามากกว่า เรายังมีชีวิตอยู่ก็ต้องดำเนินชีวิตให้ดี คือวิธีก้าวผ่านความปวดร้าวของเรา”

รอฮีหม๊ะบอกต่อว่า พยายามไม่ให้มีเวลาว่างที่จะคิดถึงลูกชายและเหตุที่เกิด เธอไปรับเสื้อผ้าจากในตลาดมาขายต่อเป็นรายได้อีกทาง นอกจากรายได้จากการขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างของสามีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดนี้เช่นกัน

สิทธิณี นุ่นประดิษฐ์
สิทธิณี นุ่นประดิษฐ์

น.ส.สิทธิณี นุ่นประดิษฐ์ แม่ของน้องออม “นายอภิสิทธ์ มุ่งหมายธนารักษ์” กล่าวว่า ชีวิตในวันนี้หลังจากสูญเสียน้องออม มีความระแวงไปหมด ได้ยินเสียงอะไรก็หวาดระแวง ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากเข้าเมือง อยู่ในชนบทดีกว่า ตอนนี้ยังมีลูกอีกคนที่ต้องดูแลและ เป็นกำลังใจที่ดีในวันนี้ ชีวิตประจำวันจะไม่ทำตัวให้ว่าง จะหางานและทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้คิดถึงลูกเพื่อนบ้านก็ให้กำลังใจ ให้เข้มแข็งและเดินหน้าต่อไป

ด้าน ว่าที่ร้อยตรีศตวรรษ ลาเฮศักดิ์สิทธิ์ ลูกชายที่แม่เสียชีวิตและต้องดูแลน้องสองคนที่อยู่ในวัยเรียนขั้นอุดมศึกษากล่าวว่า ต้องรับภาระเป็นหัวหน้าครอบครัว หารายได้ส่งเสียน้องเรียนและใช้หนี้ของพ่อแม่ ไม่ต้องการให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก เพราะไม่ได้เป็นผู้เกี่ยวข้อง ไม่ได้อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นคนที่ได้รับผลกระทบ ยังหวาดระแวงเรื่องความปลอดภัยกับสถานที่ที่มีคนเยอะ แม้สถานที่นั้นจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมากแค่ไหน เขาอยากให้เจ้าหน้าที่ตรวจที่ด่านทุกวันอย่างเข้มงวด ไม่ใช่ตรวจเข้มเพียงวันที่นายมา

“อยากให้ปัตตานีกลับมาเหมือนเดิม”

พลโท ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 และผอ.กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวว่า ความรุนแรงไม่ได้สร้างความเสียหายแค่วันเดียว แต่สร้างความสูญเสียต่อการพัฒนา เจ้าหน้าที่ได้ร่วมแรงร่วมใจที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน แต่ยังขาดการร่วมแรงร่วมใจจากหลายๆ ฝ่าย และหนังสือเล่มนี้ บ่งบอกถึง ประชาชนเป็นหน่วยสำคัญที่จะช่วยกันแก้ปัญหา

“คำที่ก้องอยู่ในหัวของเรา “แม่ดูขาหนูสิ เมื่อไรขาหนูจะงอก” เราจะเปลี่ยนแปลงไม่ให้คำพูดนี้เกิดขึ้น เพียงแค่สังเกตบริเวณบ้านของท่านว่ามีอะไรผิดปกติและแจ้งให้เจ้าหน้าที่รับทราบ การเป็นหูเป็นตาจะเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะมอบให้กับลูกหลานของเรา สร้างพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่มักจะสับเปลี่ยน 1-2 ปี แต่ตอนนี้เจ้าหน้าที่จะอยู่เป็นประจำ บางคนมีพี่น้องอยู่ที่นี่ ที่ผ่านมาเราอาจมีจุดยืนที่ต่างกัน แต่ตอนนี้เรามีจุดยืนร่วมกันแล้วที่จะต้องมาร่วมกันดูแล จุดที่ยืนอยู่ ณ ที่นี่คือการดูแลพี่น้องประชาชน นโยบายของกอ.รมน.ภาค 4 สน. วันนี้คือ ลดระดับ(DOWN SIZE) ลดขนาดความขัดแย้งและความรุนแรงลงมา การใช้กำลังทหาร ใช้กฎหมายพิเศษลดลง การปิดล้อมตรวจค้นแทบไม่มี เหลือแต่การติดตามของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับการใช้เครื่องมือทางนิติวิทยาศาสตร์ที่แม่นยำ ให้กฎหมายด้วยความรอบคอบผ่านผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้นำชุมชนด้วยสันติวิธี”

“คาดว่าระดับความรุนแรงจะลดลง เจ้าหน้าที่เข้าไปพัฒนาทุกชุมชน ร่วมทุกข์สุข กิน นอน เพื่อลดความหวาดระแวง สร้างความเข้าใจกับชาวบ้านนำงบประมาณตามความต้องการของประชาชนจริง 3 พันกว่าล้านบาท และ 37 อำเภอ มาใช้งานการเมืองนำการทหาร และร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนที่เรารักไปด้วยกัน”

IMG_3984อารีด้า อาแวกะจิ นักเขียนหนังสือ “เพราะระเบิด ชีวิตฉันเปลี่ยน” บอกว่า การเก็บข้อมูลทั้ง 27 เรื่อง มีทีมที่ลงพื้นที่ทั้งหมด 6 คน ทั้งสัมภาษณ์และตั้งคำถาม ตัวเองจะเป็นคนเรียบเรียงซึ่งพบว่า มีพล็อตเรื่องที่คล้ายกัน เช่น ก่อนเกิดเหตุการณ์ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ จะทำอย่างไรได้ในเมื่อพระเจ้ากำหนดไว้แล้ว หรือคนที่กำลังอยู่ในเซเว่น มีชุดประสบการณ์เดียวกัน วิถีชีวิตในร้านสี่เหลี่ยมที่คิดว่าไม่มีอะไรแต่มี

ซุกกรียะห์ บาเหะ หนึ่งในผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เห็นว่า เรื่องราวในพื้นที่ต้องการการสื่อสารอีกมาก โจทย์หลักในการบันทึกเรื่องเล่าคือการทำให้งานเขียนทุกชิ้นสื่อถึงพลังของผู้ผ่านเหตุการณ์นาทีชีวิตที่ประคับประคองชีวิตและครอบครัวเพื่อให้ดำเนินต่อไป นี่คือความท้าทายในฐานะผู้รวบรวมเรื่องเล่าที่ต้องดึงความฝันและความหวังของผู้ประสบเหตุการณ์ระเบิดเรียบเรียงเป็นภาษาที่แฝงการดำเนินต่อไปของชีวิตที่เหลืออยู่

มัทนี จือนารา ผู้เขียนอีกคนบอกว่า การสูญเสียอันส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินมากมายนี้ ดูเหมือนยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการดูแลความปลอดภัยหรือการป้องกันเหตุระเบิด ดังนั้นการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้ประสบเหตุการณ์โดยตรงได้สะท้อนเสียงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น หวังให้กลุ่มติดอาวุธทุกฝ่ายได้ยินเสียงนี้ เพื่อให้พวกเขาตระหนักถึงความสูญเสียจากการกระทำที่ไม่ชอบธรรมต่อผู้บริสุทธิ์ทั้งพุทธและมุสลิมว่าสิ่งที่เกิดขึ้น มันคือทางออกหรือไม่ และทุกฝ่ายได้ตระหนักร่วมกันว่าเราจะก้าวพ้นวงจรแห่งความรุนแรงเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร

11407009_10204230802761558_9191562388318230952_n

นายชูศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ นักเขียนสารคดี กล่าวว่า หนังสือคือวรรณกรรมที่มีพลัง ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาที่หรูหรา แต่เขียนแล้วสามารถทิ่มแทงความรู้สึกคนอื่นได้ เช่น “ถ้ามีเสียงฟ้าผ่า ก็จะกรีดร้องทุกครั้ง” อันนี้คือพลังของถ้อยคำ หรือตัวหนังสือทุกคำ จะทำให้เราลุกขึ้นมา ทำอะไรบางอย่าง

“หนังสืออาจไม่ใช่ช่วยเหลือโดยตรง แต่ช่วยเหลือคนอื่น ทำให้หนังสือมีชีวิต และมีลมหายใจ ทุกคนเริ่มต้นที่ เริ่มเติบโต ความหวัง ความฝัน การที่น้องออมบอกว่า “..ออมจะตั้งใจเรียนจบ และจะออกจากที่นี่ ที่นี่อันตรายมาก” …เราต้องย้อนคิดว่า เราอยู่ในพื้นที่แบบไหนกัน”

หรือ “แม่ ดูขาหนูสิ ตกใจ เมื่อขาของลูกขาดต่อหน้า ….เราสามารถสะท้อนภาพถึงความสูญเสีย ดังนั้นเห็นด้วยที่จะแปลหนังสือเล่มนี้อีกหลายๆ ภาษาที่จะให้คนทั่วไปรู้ว่าที่บ้านเราเกิดอะไรขึ้น หรือ “ตอนนี้ลูกพ้นสภาพจากความอันตรายแล้ว แต่ไม่รู้ว่าแม่จะรับได้หรือเปล่า” เป็นภาพรวมของหนังสือเล่มนี้ที่เห็นได้ 2 มิติ คือมิติความเจ็บปวด ความสูญเสีย ความทุกข์ และมิติที่ 2 คือความคาดหวัง”

“ดีใจที่คนในพื้นที่สามารถเขียนหนังสือออกมาได้อย่างนี้ ที่ผ่านมาเราเห็นผู้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับภาคใต้มากมาย หากแต่เป็นคนนอก เขาเขียนแล้ว เขาก็ออกไป เชื่อว่าพลังในการแก้ปัญหาอยู่กับคนในพื้นที่”

มูฮำหมัดอายุป ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า เรื่องเล่าเป็นพลังที่น่าสนใจและทรงพลังคือ เรื่องเล่าที่สามารถเห็นอกเห็นใจความเป็นมนุษย์ เป็นหนังสือที่เปลี่ยนผ่านจริง ที่สำคัญเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนในเขียน คนนอกเป็นคนสนับสนุน อยากเห็นคนไทยพุทธเขียนเรื่องเล่าของตัวเองด้วย และควรมีหลายภาษา เพื่อให้คนต่างประเทศเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่นี่ ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยกันมากกว่านี้เพราะความรุนแรงกลัวพื้นที่เปิด และอยู่กับความเป็นจริงให้ได้และให้มากที่สุด